xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง”: ‘ไบเดน’ประกาศ‘สหรัฐฯ’เลิกแล้ว ไม่ขอรับบทบาทเป็น‘ตำรวจโลก’อีกต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อเมริกากลับมาแล้ว” นี่เป็นวลีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการย้ำกับประเทศต่างๆ ในโลก ทว่าการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างไม่ได้รู้สึกว่าต้องเสียใจต้องขอโทษใครๆ ของเขา แสดงให้เห็นว่า อเมริกาจะไม่กลับไปประพฤติปฏิบัติตัวเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว

ไบเดนนั้นกำลังก้าวเลยออกไปจากความเจ็บปวดชอกช้ำของการอพยพอย่างโกลาหลอลหม่านจากกรุงคาบูล เขากำลังป่าวประกาศถึงการล่าถอยที่ใหญ่โตกว่านั้นมาก นั่นคือ การที่สหรัฐฯจะยุติการใช้ทรัพยากรทางทหารอันมหาศาลของตนเพื่อนำเอาระเบียบและค่านิยมแบบอเมริกันไปบังคับใช้ในตลอดทั่วพื้นพิภพนี้

“การตัดสินใจเกี่ยวกับอัฟกานิสถานครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถานเท่านั้น” ไบเดน กล่าวในระหว่างการปราศรัยเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) ซึ่งหลายๆ คนมองว่าเป็นคำปราศรัยสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ทีเดียว “มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการยุติยุคสมัยของการปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่เพื่อสร้างประเทศอื่นๆ ขึ้นมาใหม่”

“เรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งหลายจะยังคงเป็นศูนย์กลางของนโยบายการต่างประเทศของเรา แต่หนทางวิธีการในการทำเรื่องนี้จะไม่ใช่ด้วยการเคลื่อนกำลังทหารออกไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่า “ยุทธศาสตร์ของเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว”

เบนจามิน แฮดแดด ผู้อำนวยการของศูนย์ยุโรป แห่งกลุ่มคลังสมอง แอตแลนติก เคาน์ซิล อีกทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป เรียกคำปราศรัยของไบเดนครั้งนี้ว่า เป็น “หนึ่งในการประกาศยกเลิกไม่เอาแนวความคิดลัทธิระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม (liberal internationalism) ด้วยวาทศิลป์อย่างดีเยี่ยมที่สุด เท่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่ว่าคนไหนได้เคยกระทำในรอบระยะหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา”

สำหรับชาวอเมริกันที่ยังชมชอบนึกฝันจินตนาการว่า ประเทศของพวกเขาป็นอภิมหาอำนาจที่พิเศษสุดไม่มีใครเอาชนะได้ –แต่เป็นผู้กำชัยในสงครามเย็น แล้วจากนั้นก็เข้าแทรกแซงทางทหารไปทุกหนทุกแห่งตั้งแต่อิรักไปจนถึงแอฟริกา— นี่คือเรื่องที่ทำให้รู้สึกช็อก

ทว่าสำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่แล้ว ผลสำรวจความคิดเห็นระบุออกมาว่า สิ่งที่ ไบเดน ทำน่าจะเป็นที่นิยมเห็นชอบ

จุดที่ “ทรัมป์และไบเดน” เห็นพ้องต้องกัน

ปกติแล้ว สมัยการเป็นประธานาธิบดีของไบเดน มักถูกมองว่าคือการลบล้างยกเลิกสิ่งที่คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กระทำไป

เป็นความจริงที่ว่าสิ่งต่างๆ จำนวนมากมาย – ตั้งแต่เรื่องกิริยามารยาทในทำเนียบขาว ไปจนถึงการกลับเข้าเป็นภาคีของข้อตกลงภูมิอากาศปารีสอีกครั้ง— ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ตั้งแต่ขณะเวลาที่ ไบเดน ก้าวเดินเข้าไปในห้องทำงานรูปไข่ในวันที่ 20 มกราคม 2021

ทว่า การที่ไบเดนประกาศทอดทิ้งยกเลิกการผจญภัยทางทหารแบบปลายเปิดไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดเช่นนี้ของสหรัฐฯ –ซึ่งก็คือสิ่งที่พวกวิพากษ์โจมตีนิยมเรียกว่า การทำตัวเป็น “ตำรวจโลก” – จริงๆ แล้ว มันเป็นแนวความคิดในแบบของทรัมป์โดยแท้

ตอนที่ ไบเดน ประกาศว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะยุติสงครามตลอดกาลครั้งนี้” โดยหมายถึงอัฟกานิสถานนั้น “มันสามารถเปลี่ยนให้ ทรัมป์ เป็นคนพูดก็ได้ อย่างง่ายๆ เลย” นี่เป็นความเห็นของ ชาร์ลส์ แฟรงคลิน อาจารย์ของโรงเรียนกฎหมายมาร์เคว็ต และผู้อำนวยการของสำนักสำรวจความคิดเห็น มาร์เคว็ต

ทุกวันนี้ “สาธารณชนอเมริกันไม่ได้มีความผูกพันมุ่งมั่นกับการแสดงบทบาทใหญ่ๆ ในทางระหว่างประเทศ แน่นอนทีเดียว ไม่ใช่บทบาทประเภทที่สหรัฐฯเคยเล่นอยู่ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงทศวรรษ 1990 หรอก” แฟรงคลินแจกแจงให้เอเอฟพีฟัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอัฟกานิสถานด้วยแล้ว ผลโพลหลายสำนักแสดงให้เห็นว่ามีเสียงสนับสนุนแข็งแรงมากให้ถอนตัวออกมา –ระดับ 77% ทีเดียว ตามผลโพลครั้งใหม่ของ วอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์— ถึงแม้ว่า ไบเดน กำลังถูกเล่นงานหนักจากความโกลาหลวุ่นวายในการถอนทหารออกมาคราวนี้

พันธมิตรทั้งหลายของอเมริกากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ?

สิ่งที่ ไบเดน มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจาก ทรัมป์ ซึ่งเป็นพวกนิยมให้สหรัฐฯแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว ก็คือ การที่ ไบเดน ยังคงมีความกระตือรือร้นในเรื่องการสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมา สหรัฐฯอาจจะไม่วางตัวกร่างทำตนเป็นตำรวจโลกอีกต่อไปแล้ว ทว่าทฤษฎีของไบเดนยังบอกต่อไปด้วยว่า สหรัฐนยังคงสามารถที่จะทำตนเป็นผู้นำชุมชนซึ่งมีไมตรีจิตมิตรภาพ

คณะบริหารของเขาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อนำเอาวอชิงตัวกลับเข้าสู่ศูนย์กลางของการเจรจาต่อรองอันลำบากยืดเยื้อ ระหว่างมหาอำนาจรายสำคัญๆ ของโลก กับอิหร่าน เกี่ยวกับนโยบายนิวเคลียร์ของฝ่ายหลัง ตลอดจนในเรื่องข้อตกลงภูมิอากาศ, และการกลับเข้าไปแสดงบทบาทอันแข็งขันในกลุ่มพันธมิตรเก่าแก่อย่างเช่นองค์การนาโต้

ทริปเดินทางไปยุโรปเมื่อเดือนมิถุนยายน เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี-7 และของนาโต้ –โดยที่นับจนถึงเวลานี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเพียงเที่ยวเดียวที่ไบเดนกระทำตั้งแต่ขึ้นเป็นประธานาธิบดี— ในทางการทูตแล้ว เทียบได้กับวงดนตรีที่แตกกันไปแล้ว หวนกลับมารวมวงกันได้อีกคำรบหนึ่งทีเดียว

อย่างไรก็ดี มาถึงตอนนี้ ชาติพันธมิตรเหล่านี้บางรายอาจจะเกิดความรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมา นักวิเคราะห์หลายรายบอก

ทริเซีย เบคอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน บอกกับเอเอฟพีว่า พวกชาติพันธมิตรมีความรู้สึก “ผิดหวังในระดับที่สมเหตุสมผลทีเดียว” ในเรื่องการขาดความร่วมมือประสานงานกันในการที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน

เธอแนะว่า สหรัฐฯจะต้องส่งข้อความออกไปอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาดตอน หากคิดพยายามกอบกู้เครดิตความน่าเชื่อถือที่สูญเสียไปแล้วกลับคืนมา

ขณะที่ อิหมาด ฮาร์บ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ อาหรับ เซนเตอร์ ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า ไม่เฉพาะเหล่าหุ้นส่วนในยุโรปหรอก ที่ถูกทิ้งให้รู้สึกข้องใจสงสัย

“พวกระบอบปกครองของชาติอาหรับซึ่งคุ้นเคยกับการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็ควรต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน” เขาเขียนเอาไว้บนเว็บไซต์ของกลุ่มคลังสมองกลุ่มนี้

“ลงท้ายแล้ว ไบเดนอาจจะดึงม่านปิดฉากการเข้าแทรกแซงทางทหารของอเมริกันในตะวันออกกลางและพื้นที่ใกล้เคียงไปเลยก็ได้” ฮาร์บ บอก

เขาพูดถึงคำปราศรัยภายหลังการถอนตัวจากอัฟกานิสถานของไบเดนว่า “มีความเคร่งขรึมจริงจัง” และบอกว่า สิ่งที่ดูเหมือนเป็น “เค้าโครงรูปร่างของ ‘ลัทธิไบเดน’” เช่นนี้ น่าที่จะสร้าง “ความหวั่นผวา” ไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและอาณาบริเวณใกล้เคียง ซึ่งระยะเวลาราว 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้รู้จักความเป็นจริงอย่างอื่นใดเลยนอกจากการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯเท่านั้น

(เก็บความจากเรื่อง Biden wants Afghan exit to end US global cop role ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น