จีนฉุนขาด กล่าวหา 3 มหาอำนาจตะวันตกคุกคามเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างขาดความรับผิดชอบขั้นรุนแรง หลังสหรัฐฯ จับมือสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ประกาศจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่ เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในอินโด-แปซิฟิก นอกจากนั้นแคนเบอร์รายังจะได้รับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลจากวอชิงตัน
ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่คราวนี้ ปรากฏขึ้นระหว่างการประชุมแบบเสมือนจริงเมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร โดยผู้นำทั้ง 3 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เจตนาในการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่ในชื่อ “AUKUS” (ออคัส) นี้อยู่ที่ความกังวลด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก
ไบเดน กล่าวว่า แผนการริเริ่มนี้เกี่ยวข้องกับการทำให้แน่ใจว่า ทั้ง 3,ประเทศมีแสนยานุภาพทางทหารสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการวางแผนและการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว
ด้านมอร์ริสัน ย้ำว่า ทั้ง 3 ชาติเคารพใน “เสรีภาพ” และ “หลักนิติธรรม” และกลุ่มพันธมิตรนี้จะช่วยรับประกันความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ แม้ผู้นำทั้งสามไม่ได้เอ่ยถึงจีน แต่ไม่มีฝ่ายใดสงสัยเลยว่าพวกเขาพุ่งเป้าไปที่ไหน ทั้งนี้ พันธมิตรตะวันตกมักอ้างอิงเสรีภาพและหลักนิติธรรม ในเวลาต้องการป่าวร้องว่าต่อต้านการสะสมกำลังทหารของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
กระนั้น ก่อนการประกาศ เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารไบเดน พยายามกลบกระแสการวิจารณ์ว่า ออคัสมีเป้าหมายที่จีน ด้วยการยืนยันว่า การก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรนี้ไม่ได้มุ่งหมายประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นความพยายามในการคงการมีส่วนร่วมและการป้องปรามในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของทั้ง 3,ประเทศ
แผนการริเริ่มสำคัญอันดับแรกที่ประกาศภายใต้กลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่นี้คือ การส่งมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย 8 ลำให้ออสเตรเลีย ทั้งนี้แดนจิงโจ้จะต่อเรือดำน้ำเหล่านี้ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีจากอเมริกา
ถึงแม้มีการย้ำยืนยันว่าเรือดำน้ำเหล่านี้ไม่ได้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ แต่เห็นกันว่า ด้วยเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์ มันจะช่วยให้กองทัพออสซี่สามารถเคลื่อนที่เร็วขึ้น ศัตรูตรวจจับได้ยากขึ้น ขณะที่สามารถโจมตีเป้าหมายไกลขึ้นจากชายฝั่งของตนเอง
นอกจากกองเรือดำน้ำแล้ว เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารของไบเดน เผยว่า ออคัสจะผสมผสานกองกำลังด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยเฉพาะเอไอประยุกต์ เทคโนโลยีควอนตัม และความสามารถใต้ทะเลบางอย่าง
หลังจากนั้น มอร์ริสัน ยังประกาศว่า ออสเตรเลียยังจะซื้อขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล แบบ “โทมาฮอว์ก” จากอเมริกาอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของไบเดนย้ำว่า นี่เป็นการตัดสินใจ “พิเศษ” เนื่องจากขณะนี้มีเพียงอังกฤษที่อเมริกาเคยให้ความช่วยเหลือเรื่องการสร้างกองเรือนิวเคลียร์
เจ้าหน้าที่อีกคนของอเมริกากล่าวว่า ขณะที่จีนกำลังเสริมสร้างแสนยานุภาพกองทัพเรือและทดสอบท้าทายความเป็นผู้นำทางทหารของอเมริกาในเอเชียครั้งแล้วครั้งเล่า การก่อตั้งออคัสโดยมุ่งเน้นที่เรือดำน้ำ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึงการฟื้นความมั่นใจและการตัดสินใจเด็ดขาดในการคงจุดยืนการป้องปรามอย่างมั่นคง
ขณะเดียวกัน ไบเดนพยายามปลอบฝรั่งเศส โดยบอกว่า ปารีสเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรสำคัญในอินโด-แปซิฟิก
กระนั้น ออคัสเป็นตัวการทำให้ข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำของออสเตรเลียกับฝรั่งเศสล่มลงไป โดยมอร์ริสันยืนยันเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ (16) ว่า จะยุติการดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงนี้
ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำของอเมริกาขัดแย้งกับความร่วมมือตามตัวอักษรและความมุ่งหมายที่ออสเตรเลียตกลงไว้กับฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นใหม่ จำนวน 12 ลำ จากบริษัทดีซีเอ็นเอสของฝรั่งเศสมีมูลค่าราว 36,500 ล้านดอลลาร์ ณ ขณะที่ทำข้อตกลงในปี 2016 ทว่า ข้อตกลงนี้ล่าช้ากว่ากำหนดมาหลายปีเนื่องจากปัญหางบประมาณและการเมืองภายในออสเตรเลีย
ทางด้านจีนได้ออกมาตอบโต้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสามมหาอำนาจ โดยในระหว่างการแถลงข่าวปกติเมื่อวันพฤหัสฯ เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวการงต่างประเทศจีน โจมตีว่า แผนการพันธมิตรทางทหารดังกล่าวบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างร้ายแรง และยังกระตุ้นการแข่งขันสะสมอาวุธ
เจ้า สำทับว่า การส่งออกเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของอเมริกาและอังกฤษให้ออสเตรเลียตอกย้ำว่า ทั้ง 2,ประเทศใช้การส่งออกนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือในเกมภูมิรัฐศาสตร์ และยังใช้สองมาตรฐานที่ถือเป็นการขาดความรับผิดชอบอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกล้มเลิกแนวคิดสงครามเย็นที่ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ หรือเสี่ยงทำร้ายตัวเอง