รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหาร ‘AUKUS’ ระหว่างสหรัฐฯ, อังกฤษ และออสเตรเลีย โดยหวังว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยสร้างสมดุลอำนาจในอินโด-แปซิฟิก ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียนบางประเทศดูเหมือนจะไม่เห็นด้วย
การตั้งกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีครั้งนี้จะช่วยให้ออสเตรเลียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ AUKUS ที่ต้องการลดทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาค
“การเพิ่มศักยภาพให้แก่กลุ่มพันธมิตรในการสำแดงอำนาจ จะช่วยฟื้นฟูและธำรงไว้ซึ่งสมดุลอำนาจในภูมิภาค มากกว่าเป็นการบ่อนทำลาย” ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ระบุในคำแถลงซึ่งลงวันที่ 19 ก.ย. แต่ถูกนำออกเผยแพร่วันนี้ (21)
อย่างไรก็ตาม มุมมองของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ดูจะแตกต่างสิ้นเชิงกับ “อินโดนีเซีย” และ “มาเลเซีย” ซึ่งออกมาแสดงท่าทีกังวลที่ออสเตรเลียจะครอบครองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของชาติมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ล็อกซิน ชี้ว่า หากปราศจากการมีอยู่ที่แท้จริงของอาวุธนิวเคลียร์ การตั้งกลุ่ม AUKUS ก็ไม่ถือว่าละเมิดสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 1995 ที่กำหนดห้ามมิให้ประเทศภาคีพัฒนา, ผลิต, ได้มาซึ่ง, ครอบครอง หรือควบคุมเหนืออาวุธนิวเคลียร์
น่านน้ำทะเลจีนใต้ถือเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับอีกหลายประเทศ ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกลาโหมกับฟิลิปปินส์ รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ ก็มักจะเข้ามาปฏิบัติภารกิจ “สำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” อยู่เสมอ
จีนมองการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นการ “แทรกแซงจากภายนอก” ต่อกิจการในน่านน้ำที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายฝั่งในทะเลจีนใต้อย่างฟิลิปปินส์และเวียดนามก็ร้องเรียนว่าถูกจีนแสดงพฤติกรรมข่มขู่เรือประมงและกิจกรรมสำรวจพลังงานของพวกเขา
การสงบศึกเรื่องทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ก็ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงในปีนี้ โดยมะนิลาได้แสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวที่กองเรือจีนนับร้อยๆ ลำบุกรุกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์ “อย่างผิดกฎหมาย”
ที่มา: รอยเตอร์