ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ตั้งแต่ปี 2475 ที่เรามีอะไรที่เรียกว่าประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันนี้ก็อายุราว ๆ 80 กว่าปีจะเข้า 90 ปีแล้ว แต่อะไรที่เรียกว่าประชาธิปไตยไทยก็ยังล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน ด้วยเหตุที่การเข้ามาสู่อำนาจรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญคือการเลือกตั้งนั้นมีปัญหามาก
ทำไมการเลือกตั้งของไทยจึงมีปัญหา?
ประการแรก ประชาชนยังไม่ได้เป็นไทอย่างแท้จริง หากไม่ตกอยู่ในอามิสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ตกอยู่ภายใต้การซื้อเสียง
อามิสที่ว่าได้แก่การสร้างบุญคุณและความผูกพัน ดังที่ผมได้เคยไปวิจัยในท้องที่ภาคอีสานแล้วพบว่าชาวบ้านถือว่าการเลือกตั้งไม่ใช่การใช้สิทธิ์ แต่เป็นการเลือกตัวแทนเพื่อเป็นการแสดงอำนาจเหนือรัฐ และเลือกผู้ที่จะมาใช้งานรับใช้ตนให้เข้าถึงอำนาจรัฐได้มากกว่าหรือดีกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม เช่น หาคนซึ่งมาเป็นตัวแทนในการวิ่งเส้นสายเอาลูกเข้าโรงเรียน หรือย้ายตำรวจได้ หรือฝากญาติพี่น้องเข้าโรงพยาบาลได้ เป็นต้น
ประการสอง นักการเมืองที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อให้ได้เข้าสู่อำนาจรัฐในการไปเป็นฝ่ายบริหารมากกว่าที่จะสนใจทำหน้าที่นิติบัญญัติ ทะเลาะกันแย่งชิงดีกันเพื่อจะให้ได้เป็นรัฐมนตรีหรืออย่างน้อยก็เป็นเลขานุการรัฐมนตรีเป็นอาทิ ตบตีกันไปมาจนกระทั่งกระเด็นถูกปลดออกไปก็มี
ประการที่สาม ส.ส. ไม่ได้สนใจทำหน้าที่นิติบัญญัติเท่าที่ควร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยอย่างที่ควรจะเป็น แต่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นในการหาถนนวิ่งเข้าไปตัดในหมู่บ้านหรือเอาสาธารณูปโภค เช่น สายไฟ หรืออินเทอร์เน็ต หรือน้ำประปาเข้าหมู่บ้าน และมีหน้าที่วิ่งไปหาเสียงในท้องที่ งานบวช งานศพ งานแต่ง งานวัด ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ไม่ได้ขาดเลย แต่ไม่สนใจหน้าที่ในสภา
ประการที่สี่ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็ยังตกอยู่ภายใต้อามิสสินจ้างที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จ่ายให้เป็นรายเดือน จะโหวตลงมติอะไรทีจะยกมืออะไรที ก็ต้องได้เงิน เกิดงูเห่ากันเป็นจำนวนมากมาย และถ้าไม่งูเห่าก็ต้องได้เงินถ้าจะยกมือ
ประการที่ห้า ถ้าหากไม่โหวตตามที่เห็นด้วยกับมติพรรคก็จำเป็นต้องเป็นงูเห่า แต่ก็เกิดการกักกันงูเห่าไม่ปล่อยให้ไปพรรคอื่น แล้วก็ทำให้งูเห่าต้องอยู่ในพรรค ย้ายไปอยู่พรรคไหนไม่ได้ ทำให้การแสดงความคิดเห็นในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีอย่างแท้จริงตามที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้น เท่ากับเป็นการเมืองในระบอบในทุนนิยม นักการเมืองต้องไปสังกัดพรรคอันเป็นการสร้างค่ายสร้างป้อมแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายไม่มีเจตจำนงเสรีทางการเมืองแต่ประการใด ทำให้การเมืองไม่เกิดการพัฒนาเรียกว่าเป็นการเมืองของนายทุนหัวหน้าพรรคตั้งและจ่ายเงินอุดหนุนข้อนี้เป็นข้อเสียอย่างรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ หากออกแบบกติกาก็คือรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาในการเข้าสู่อำนาจรัฐให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม เป็นตัวแทนของประชาชน และมีความยุติธรรม
ข้อแรก ผมขอเสนอ เลือกตั้งทั้งประเทศเขตเดียวบัตรใบเดียว ให้ยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปและให้มีเฉพาะส.ส. ของประเทศไทยจำนวน 300 คน
ข้อสอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ประชาชนสามารถเลือกผู้สมัคร ส.ส. คนใดก็ได้ พรรคใดก็ได้ หรือจะสมัครในนามอิสระก็ได้จำนวน 20 คน (เป็นตัวเลขสมมุติ)
ประชาชนจะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งได้มากขึ้นและสามารถเลือกคนที่เป็นตัวแทนในใจได้มากขึ้น การเลือกตั้งที่เป็นเขตใหญ่ขนาดนี้มีข้อดีคือ ทำให้ การซื้อเสียงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ผู้สมัครที่จะได้รับการเลือกตั้งต้องเป็นผู้สมัครที่มีผลงานที่ประชาชนรู้จักและการหาเสียงต้องเป็นการหาเสียงในระดับประเทศเพราะเราต้องการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย อย่างแท้จริงไม่ใช่ตัวแทนอำเภอนู้น อำเภอนี้ เขตเลือกตั้งที่ใหญ่จะทำให้การซื้อเสียงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
กติกานั้นกำหนดง่าย ๆ ว่าหากมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 ล้านคนแต่ละคนการได้เท่ากับ 20 เสียงจะมีเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 1,000 ล้านเสียง ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 300 อันดับแรกจาก 1000 ล้านเสียงจะได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส
การเลือกตั้งเช่นนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีผลงานที่ทำให้ประชาชนรู้จักอย่างแพร่หลายจึงจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเพราะฉะนั้น ส.ส. หรือว่าที่ต้องแข่งขันกันทำผลงานให้ประชาชนเป็นที่รู้จักและศรัทธาจึงจะได้รับการเลือกตั้ง
สำหรับพรรคการเมืองนั้นการเลือกตั้งเช่นนี้ นโยบายสาธารณะของแต่ละพรรคการเมืองจะมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอย่างมาก
ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจจะกาทั้ง 20 เบอร์เลือกพักเดียวพี่มีนโยบายโดนใจ
แต่ละพรรคการเมืองต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 300 คนซึ่งจะเป็นที่ศรัทธาและน่าเชื่อถือสำหรับประชาชนจึงจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง
ด้วยวิธีนี้จะทำให้พรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดีมีชื่อเสียง มีผลงาน และเรียงลำดับให้ดีแม้ว่าลำดับที่เสนอของแต่ละพรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้มีผลต่อผลการเลือกตั้ง แต่ประชาชนจะน่าจะมีโอกาสได้อ่านรายชื่อจากรายชื่อลำดับต้นๆที่พรรคการเมืองนำเสนอก่อน
พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องเสนอทั้ง 300 คนก็ได้อาจจะเสนอแค่อย่างต่ำคือ 100 คน
ตอนนี้อาจจะมีคนแย้งว่าเราไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อนแต่หลายประเทศในโลกเช่น อิสราเอลก็ทำเช่นนี้และย้อนกลับไปถึงต้นแบบประชาธิปไตยเช่น กรีซในยุคของเพลโตและอริสโตเติลก็เคยทำเช่นนี้มาก่อนเช่นเดียวกัน
ในยุคสมัยที่เกิดการระเบิดดิจิตอลการที่จะรู้จักผู้สมัครนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมากแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างยิ่งสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตครั้งเดียวก็รู้แล้วว่าต้องการจะเลือกใครและพรรคการเมืองใดการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครทำได้โดยง่ายมาก
นอกจากนี้ประชาชนยังมีเสรีที่จะเลือกคนที่ตนศรัทธาจากหลายพรรคหรือจะเลือกพรรคเดียวก็ได้เพื่อแสดงความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองว่าต้องการให้พรรคใดเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ข้อสาม ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะ สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ เพื่อให้มี เจตน์จำนงเสรีทางการเมืองไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติทุนของกลุ่มใดทั้งสิ้น
ข้อสี่ ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติแต่อย่างเดียวไม่ได้เป็นหน้าที่ของตัวแทนในพื้นที่
หากเราต้องการให้การเมืองท้องถิ่นพัฒนาเรามีทั้ง สก. สข. สจ. สท. อบต. ซึ่งเป็นการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากมายอยู่แล้ว ส.ส.จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวแทนของท้องถิ่นและการแก้ปัญหาของท้องถิ่นควรจะต้องดำเนินการภายใต้การเมืองท้องถิ่นไม่ใช่เอาการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือภายหลังการเลือกตั้งส.ส. จะไม่วิ่งไปเป็นรัฐมนตรี เพราะห้ามส.ส. ไปเป็นรัฐมนตรีโดยเด็ดขาด ให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติแต่อย่างเดียวปัญหาก็จะลดลงในแง่ของงูเห่าและการจ่ายเงินให้ยกมือโหวตต่างๆภายในสภาผู้แทนราษฎร
ข้อห้า ห้ามส.ส. ไปดำรงเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีโดยเด็ดขาด ให้เราแยกอำนาจนิติบัญญัติ ออกจากบริหาร โดยสิ้นเชิง
ข้อหก ส.ส. ที่ได้รับเลือกมานั้นทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ข้อเจ็ด พรรคการเมืองแต่ละพรรคให้นำเสนอบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศ ซึ่งจะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้จากบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง
ดังนั้นการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศเหล่านี้ของแต่ละพรรคก็จะต้องเลือกสรรให้ได้คนดีมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้บริหารประเทศ แต่ถ้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ได้เป็นรัฐบาลคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเหล่านี้ก็จะว่างงาน การเมืองต้องเป็นเรื่องของความเสียสละ
สำหรับผู้สมัคร ส.ส. ในนามอิสระไม่จำเป็นต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้บริหาร
ดังนั้นเมื่อไม่ต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศก็อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าผู้สมัครส.ส. ในนามอิสระนั้นไม่น่าสนใจเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับสมัครในนามพรรคการเมืองเพราะว่าพรรคการเมืองต้องคัดสรรบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศในอนาคตซึ่งจากบัญชีรายชื่อเหล่านี้อาจจะกำหนดให้พรรคการเมืองหนึ่งเสนอได้ไม่เกิน 40 คน จะเลือกใครใน 40 คนนี้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้
ในทางปฏิบัติพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.จำนวนมากที่สุดก็มีสิทธิ์ได้รับการสรรหาเพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศในอนาคตมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียก่อน และอาจจะเป็นผู้ที่รวบรวมคะแนนเสียง ส.ส. จำนวน 300 คนในสภาเพื่อโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต่อไป
สมมุติว่ามี 10 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล เราจะมีบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศเท่ากับสี่ร้อยคนเพียงพอที่จะเป็นรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย เลขานุการรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ทั้งหมด
และคนเหล่านี้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศสามารถมีตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นตำแหน่งบริหารได้ ดังนั้นพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ที่จะเสนอบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศให้เป็นที่น่าดึงดูดใจและเป็นที่น่าศรัทธาของประชาชนเท่ากับทุกพรรคการเมืองจะต้องจัดตั้งรัฐบาลเงาขึ้นมาเสียก่อนเพื่อให้ประชาชนได้เห็นหน้าเห็นตาว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารประเทศ
ด้วยวิธีการนี้จะทำให้พรรคการเมืองเกิดการพัฒนาและเกิดการสรรหาทั้งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 100 คนเป็นขั้นต่ำของแต่ละพรรคและบัญชีรายชื่อผู้บริหารประเทศขั้นต่ำ 40 คนของแต่ละพรรค ให้ออกมาหน้าตาดูดีที่สุดเป็นที่น่าศรัทธาของประชาชนพร้อมกับนำเสนอนโยบายสาธารณะที่ดึงดูดใจประชาชน
ส่วนการซื้อเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศนั้นออกจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมาก
ผมคิดว่าวิธีการที่ผมเสนอนี้จะเป็นวิธีการเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำให้การเมืองไทยเกิดการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน
ปัญหาคือจะไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากได้กติกาการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญเช่นนี้เลย เพราะแสวงหาผลประโยชน์ยาก ซื้อเสียงยาก คุมเสียงส.ส. ก็ยาก
แต่ผมก็ขอเสนอไว้ในวันที่เรากำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถอยหลังเข้าคลองไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบและจะทำให้เกิดการเมืองน้ำเน่าอย่างรุนแรงในการเลือกตั้งที่จะมาถึง หากเราจำเป็นต้องใช้กติกานี้และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงอยู่