เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องเริ่มด้วยการแวะไปที่ประเทศคุณพี่ญี่ปุ่น ยุ่นปี่ เขาดูสักหน่อย เพราะโดยข่าวล่า-มาเรือ เห็นว่า ไม่อาวว์ว์ว์แล้วว์ว์ว์...ผมพอแล้วว์ว์ว์!!! สำหรับท่านนายกรัฐมนตรี “โยชิฮิเดะ ซูงะ” (Yoshihide Suga) คือไม่คิดสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ “LDP” ในช่วงเดือนกันยายนนี้อีกต่อไป ดังนั้น...เมื่ออายุของสภาฯ ญี่ปุ่นต้องสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมที่จะถึง ความเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน เลยมีอันต้องหมดสภาพตามไปด้วย ภายในอีกไม่กี่วันนับจากนี้...
อันนี้...ต้องเรียกว่า ต่างไปจากท่านนายกฯ “บิ๊กตู่” บ้านเราแบบคนละเรื่อง คนละม้วน ที่หนีไม่พ้นต้องออกแรง “ดิ้น” แบบโผงๆ ผางๆ ไม่งั้น...อาจมีโอกาส “เสร็จ” คุณพี่ “โทนี่-โทนาฟ” หรือ “รัฐมนตรีแป้งมัน” เอาง่ายๆ กว่าจะคว้าตำแหน่ง “รองบ๊วย” ในด้านคะแนนความไว้วางใจ และตำแหน่ง “แชมป์” ในด้านความไม่ไว้วางใจ ก็น่าจะเล่นเอา “หืดขึ้นพระศอ”อยู่พอสมควร แต่ก็นั่นแหละ...ผ่านพ้นสันดอนและสันดานเที่ยวนี้มาได้ ด้วยกรรมวิธีใดๆ ก็แล้วแต่ โอกาสที่จะ “ตีตั๋วยาวว์ว์ว์” อยู่ต่อไปอีก 2 ปี หรือ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ได้หรือไม่ อย่างไร ก็คงหนีไม่พ้นต้องหมั่นเช็กข่าวกันไปเป็นระยะๆ...
ส่วนท่านนายกฯ “ซูงะ”หรือ “ซูกะ” ของญี่ปุ่นนั้น...แทบไม่ต้องเสียเวลามาปากเปียก ปากแฉะ มาอภิปรายไม่ไว้วางใจกันในระดับ 4 วัน 4 คืนเหมือนบ้านเรา เพราะแค่เจอกับผลสำรวจ “คะแนนนิยม” ของรัฐบาล ที่ตกต่ำแบบชนิดรูดมหาราช เหลือเพียงแค่ 31.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการตัดสินใจ “เสี่ยง” เปิด “มหกรรมโตเกียว โอลิมปิก” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานนี้ หลังจากนั้น...เลยต้องหันมา “ฮาราคีรี”ตัวเอง อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ หรือต้องตัดสินใจไม่อาวว์ว์ว์แล้ว ผมพอแล้วว์ว์ว์!!! สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย...
ดังนั้น...ในช่วงระหว่างนี้ ใครต่อใครเลยต้องหันมา “ลุ้น”ว่า...ใครกันแน่??? ที่จะผงาดขึ้นมาเป็นประธานพรรค “LDP” และเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ ไม่ว่าไล่มาตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” (Fumio Kishida) ที่ถือเป็นนักการเมืองประเภทเขี้ยวงอก เกล็ดแตกลายงา มีปีกและพ่นไฟได้ด้วย คือโตมาจาก “ครอบครัวนักการเมือง” ที่ทั้งคุณพ่อและคุณปู่ ต่างเป็นอดีตนักการเมืองมาด้วยกันทั้งคู่ และดูจะถ่ายทอดสายเลือด สายโลหิต ส่งต่อ “ความเขี้ยว” ให้กับอดีตรัฐมนตรีรายนี้อยู่พอสมควรทีเดียว จนเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่รู้กี่กระทรวงต่อกี่กระทรวง ก่อนที่จะมารับหน้าที่เป็นประธานสภาวิจัยของพรรค “LDP”และตั้งจิตปรารถนาที่จะยกระดับตัวเองขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ ในการชิงแชมป์ ชิงชัย เที่ยวนี้...
ขณะที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม ในยุครัฐบาล “ชินโสะ อาเบะ” (Shinzo Abe) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงปฏิรูปการบริหารแห่งรัฐในยุครัฐบาล “ซูงะ” อย่าง “นายทาโร่ โคโนะ” (Taro Kono) ก็น่าจะมาแรงแซงโค้ง ไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะในแง่ “ความเขี้ยว” หรือความมาจาก “ครอบครัวนักการเมือง” เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังถือว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิด มีสายสัมพันธ์กับบรรดานักการเมืองในอเมริกาอย่างเป็นพิเศษ เพราะจบจากมหาวิทยาลัย “จอร์จทาวน์”ในสหรัฐฯ อีกทั้งเคยมีชื่อเสียง บารมี ระดับหาญกล้าลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาแล้ว เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2009 แถมยังได้ชื่อว่าเป็นนักการทูตที่ออกจะมีลีลา “นุ่ม”อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีตนายกฯ “ชินโสะ อาเบะ” ที่ไม่อาวว์ว์ว์แล้ว...ผมพอแล้ว ไปซะก่อนหน้านี้...
ส่วนอีกรายหนึ่ง...ที่ออกจะน่า “ขนหัวลุก” อยู่พอสมควร แต่ก็พร้อมที่จะลงชิงตำแหน่งทางการเมืองในเที่ยวนี้ นั่นก็คืออดีตรัฐมนตรีกลาโหมหลายยุค หลายสมัย อย่าง “นายชิเงรุ อิชิบะ” (Shigeru Ishiba) ที่ว่ากันว่า...เชี่ยวชาญในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าเรือรบ เครื่องบินรบ อย่างเป็นพิเศษ แถมเคยยุ เคยเชียร์ ให้ประเทศญี่ปุ่นหันไปให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการสร้าง ในการผลิตหัวรบนิวเคลียร์ เอาเลยถึงขั้นนั้น อีกทั้งยังเคยแสดงออกถึงความเหี้ยมเกรียมเอาไว้มิใช่น้อย เช่น ครั้งที่เกิดวิกฤตการเมืองกับเกาหลีเหนือ เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2013 เคยถึงขั้นออกมาขู่ คำราม ว่าญี่ปุ่นมีสิทธิ์ที่จะ “ชิงโจมตีก่อน” ต่อเกาหลีเหนือได้ทุกเมื่อ จนได้ชื่อ ฉายา จากบรรดาชาวญี่ปุ่นด้วยกันเองว่า “Gunji Otaku” หรือ “Military Geek” หรือพวกนิยมทหารที่ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยมากมายสักเท่าไหร่ เพราะบางครั้ง บางครา เคยนอตหลุด นอตหลวม ถึงขั้นออกมาแสดงความเชื่อในเรื่อง “มนุษย์ต่างดาว” หรือการบุกโลกของพวกเอเลี่ยน อะไรทำนองนั้น...
อย่างไรก็ตาม...สำหรับที่ออกไปทางนิ่มๆ-นวลๆ ก็พอมีให้ลุ้นอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น นักการเมืองหญิง อย่าง “นางซานาเอะ ทาคาอิชิ”(Sanae Takaichi) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ที่ไม่เพียงเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังใกล้ชิดกับบรรดานักการเมืองอเมริกันอยู่พอสมควรเหมือนกัน เคยทำงานด้านรัฐสภาอยู่ในประเทศอเมริกาและมีความเชี่ยวชาญด้านกิจการรัฐสภาอย่างเป็นพิเศษ แต่ภายใต้สภาพที่สุดจะอุตลุด ชุลมุน ของการเมืองญี่ปุ่นช่วงนี้ โอกาสที่จะอาศัยความเขี้ยว หรือความเหี้ยมผงาดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยังออกจะเลือนรางอยู่บ้างเพราะแม้แต่นักการเมืองประเภทสุดเขี้ยว ที่ถือเป็นคู่แข่ง อย่าง “นายฟูมิโอะ คิชิดะ” ยังเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นแค่ผู้บริหารบ้านเมืองในยามสงบ ไม่ใช่ยามสงคราม ไม่ได้ออกไปทางยอดเซียนซามูไรอย่าง “ชิมเมน มูซาชิ” อะไรทำนองนั้น...
แต่ก็นั่นแหละ...ไม่ว่าใครจะผงาดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยทิศทาง นโยบายของประเทศญี่ปุ่นนับจากนี้ ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมๆ มากมายสักเท่าไหร่ ไม่ว่าต่อมหาอำนาจพันธมิตรผู้ใกล้ชิดอย่างคุณพ่ออเมริกา ต่อมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซีย ไปจนกระทั่งต่อเกาะเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ประเทศญี่ปุ่น อย่างเกาะไต้หวันก็ตามที เพราะแต่ละคน แต่ละราย เท่าที่ใครต่อใครกำลังลุ้นอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ออกไปทาง “ขวา” แบบสุดๆ หรือแบบท้วมๆ ไปด้วยกันทั้งสิ้น หรือส่วนใหญ่ต่างเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์กรชาตินิยมญี่ปุ่น อย่างองค์กร “Nippon Kaigi”อีกทั้งต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิด และทัศนคติที่เรียกขานกันในนาม “ลัทธิโยชิดะ” (Yoshida Doctrine) หรือ “ยุทธศาสตร์โยชิดะ” (Yoshida Strategy) อันเป็นแนวคิด ทัศนคติที่มีมาตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โน่นเลย...
คือเป็นแนวคิด เป็นยุทธศาสตร์ ของอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้มีนามกรว่า “โยชิดะ ชิเกรุ” (Yoshida Shigeru) ที่เคยได้กล่าว หรือได้เขียน เอาไว้ตั้งแต่ปีมะโม้ ประมาณว่า... “ในฐานะที่เป็นประเทศเกาะ ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะประกอบกิจการค้ากับต่างประเทศเพื่อหาทางค้ำจุนวิถีชีวิตของประชากรจำนวน 90 ล้านคน (ขณะนั้น) เมื่อเป็นเช่นนี้...หุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น ควรจะเป็นสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งทั้งสองประเทศได้มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับญี่ปุ่นทั้งในด้านการค้าและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นี่...หาใช่เป็นแค่การยึดมั่น (dogma) หรือเป็นแค่ปรัชญาแต่อย่างใดไม่ และไม่จำเป็นว่าความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวจะนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบญี่ปุ่นต้องตกเป็นเบี้ยล่าง เพราะนี่เป็น...หนทางที่รวดเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด จนอาจถือเป็น...หนทางเดียวก็ว่าได้ ในการส่งเสริมให้ญี่ปุ่นมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป...”
และก็ด้วยเหตุเพราะคิดเช่นนี้ แบบนี้ นี่เอง...การ “เดินตามก้นอเมริกัน”ในแทบทุกเรื่อง ทุกกรณี จึงกลายเป็นวิถีทางของประเทศญี่ปุ่นและนักการเมืองญี่ปุ่น ชนิดไม่คิดจะเปลี่ยนแปร หันเหไปจากเดิมเอาเลยแม้แต่น้อย แม้ว่า “โลก” จะเปลี่ยนไปจากยุคหลัง “สงครามโลกครั้งที่ 2”แบบชนิดคนละเรื่อง คนละม้วน หรือแม้แต่ยุค “สงครามเย็น”ก็เถอะ จากโลกที่เคยมีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียว กลายเป็นโลกหลายขั้วอำนาจอย่างเห็นได้โดยชัดเจน ความอุตลุด ชุลมุน ของการเมืองญี่ปุ่นเที่ยวนี้จึงถือเป็นสิ่งท้าทายทั้งต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และต่อประเทศญี่ปุ่นยุคใหม่ อย่างน่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง...