xs
xsm
sm
md
lg

ศัตรูของศัตรู คือมิตรของเรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตอลิบาน
ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่สนามบินนานาชาติคาร์ไซ เมืองคาบูล ล่าสุดโฆษกของตอลิบานได้ออกมาแถลงที่เมืองคาบูลว่า ตอลิบานจะไม่ยอมขยายเวลาให้กองกำลัง (ต่างชาติ) ของสหรัฐฯ ในการถอนทหารออกให้หมดจากบริเวณสนามบิน ภายในกำหนดเส้นตายคือ วันอังคารที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตาย ที่ฝ่ายทำเนียบขาวได้ทำไว้กับฝ่ายนำของตอลิบาน ก่อนที่กองกำลังนักรบตอลิบานจะยาตราทัพเข้ายึดเมืองคาบูล เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

คำประกาศของโฆษกตอลิบานนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากมีการเปิดเผยผ่านนสพ.วอชิงตัน โพสต์ ว่า ได้มีการแอบประชุมลับระหว่าง ผอ.ซีไอเอและฝ่ายนำสูงสุดของตอลิบาน ในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคมนี้เอง

น่าจะมีการพบกันแบบตัวเป็นๆ เพราะเนื้อหาก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งคือ การพยายามต่อรองจากฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อขอเลื่อนกำหนดเส้นตายนี้ออกไป

เป็นการพบกันลับๆ ระหว่าง ผอ.ซีไอเอ บิล เบิร์นส (William Burns) อดีตนักการทูตมือฉกาจของสหรัฐฯ และผู้นำสูงสุดระดับ 2 ของตอลิบานคือ อับดุล กานี บาราดาร์ (Abdul Ghani Baradar) ซึ่งเป็นฝ่ายนำสำคัญหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งตอลิบาน และปัจจุบันเป็นผู้นำด้านกรมการเมือง (1 ใน 3 องค์กรสูงสุดของตอลิบานได้แก่-การเมือง, การทหาร, ฝ่ายฮักกานีที่ดูแลด้านจีฮาร์ดและผลประโยชน์ของตอลิบาน)

การพบกันอย่างลับครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจาก ปธน.โจ ไบเดน ถูกวิพากษ์อย่างหนักจากเหล่าพันธมิตรนาโต และ G7 ที่ไม่สามารถจัดการอพยพพลเมืองของประเทศในนาโต และ G7 ออกมาได้เพียงพอกับจำนวนมหาศาลที่รอการอพยพ-ตลอดจนเหล่าบรรดาชาวอัฟกันที่ได้เคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพของสหรัฐฯ, นาโต รวมทั้งกองกำลังสนับสนุนจากประเทศกลุ่ม G7 (เช่น ทหารช่าง) ตลอดจนเหล่าธุรกิจนานาชาติที่ไปดำเนินกิจการตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในอัฟกานิสถาน ที่ต้องมีลูกจ้างหรือพนักงานเป็นชาวอัฟกันที่ให้ความร่วมมือกับธุรกิจต่างชาติเหล่านี้เป็นอย่างดี

ผู้นำประเทศนาโตและ G7 มีการต่อว่า ปธน.ไบเดน ว่า ไม่ได้ปรึกษาหารือกับพวกเขาเลย และไม่ได้ทำอย่างที่ไบเดนได้เน้นว่า America is Back คือสหรัฐฯ กลับมาเข้าร่วมกับพันธมิตร G7 และนาโตแล้ว (ต่างกับทรัมป์ที่พยายามแยกตัวออกไป หรือทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่ผู้เดียว-คือ America First) แล้วทำไมสหรัฐฯ จึงละทิ้งพันธมิตรเหล่า G7 และนาโตได้ลงคอ

หลังตอลิบานบุกเข้ายึดคาบูลในเย็นวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคมแล้ว ปรากฏว่า ปธน.ไบเดน ไม่ได้ยกหูโทรศัพท์ไปพูดกับผู้นำอื่นๆ ใน G7 และนาโตเลย จนถึงวันอังคารที่ 17 สิงหาคม ปธน.ไบเดน จึงยกหูโทรศัพท์สายแรกที่โทร.ไปคือ นายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ

ผู้นำ G7 และนาโตต่างกดดันปธน.ไบเดนหนัก เพราะมองเห็นแล้วว่า การอพยพลำเลียงพลเมืองของสหรัฐฯ และของชาติของตนกำลังมีปัญหา เพราะไม่ได้รับความสะดวกที่พวกพลเมืองเหล่านี้จะฝ่าด่านตรวจของตอลิบาน เพื่อมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวกรองว่า หน่วย ISIS-K ได้ขู่ว่าจะขัดขวางการอพยพที่สนามบิน และจะก่อการร้ายรุนแรง (เช่น ระเบิดฆ่าตัวตาย)

เมื่อปธน.ไบเดน ถูกกดดันหนักจาก G7 และนาโต ก็เลยส่งผอ.ซีไอเอไปเจรจากับฝ่ายนำของตอลิบาน แต่ก็ไม่ได้ผล...จน ปธน.ไบเดน ต้องออกมาแถลงกับประชาชนอเมริกันว่า เขาจะยังคงรักษาเส้นตายการอพยพถอนทหารไว้ที่ 31 สิงหาคม ทั้งๆ ที่ฝ่ายตอลิบานได้เปรียบในฐานะเจ้าของพื้นที่ภาคพื้นดิน ที่เป็นฝ่ายไม่ยอมต่างหาก

ถึงกับนายกฯ บอริส จอห์นสัน ทนไม่ไหวต้องออกมาประกาศว่า หลัง 31 สิงหาคมแล้ว ขอให้ฝ่ายตอลิบานให้คำรับรองว่า จะจัดเส้นทางปลอดภัย Safe Passage ที่จะลำเลียงพลเมืองอังกฤษ (และประเทศอื่นๆ ใน G7 และนาโต) ที่ยังตกค้างอยู่ให้ออกมาให้ได้โดยปลอดภัย...แม้ว่าตอลิบานจะยึดสนามบินไปทั้งหมดแล้วก็ตาม

สิ่งต่อรองที่ฝ่าย G7 และนาโตยังมีอยู่กับฝ่ายตอลิบานก็คือ เงินมหาศาลของประเทศอัฟกานิสถานที่ถูกอายัดอยู่กับธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับตอลิบานจะต้องยอมในหลายเรื่องที่ตะวันตกต้องการ รวมทั้งเงินช่วยเหลือที่ทั้งไอเอ็มเอฟ, ธนาคารโลก รวมทั้งประเทศ G7 จะให้แก่ตอลิบาน ทั้งในเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด และเงินทองเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปด้วย

รวมทั้งการรับรองรัฐบาลตอลิบานจากประเทศตะวันตกด้วย จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของตอลิบาน 2.0 ที่จะบริหารบ้านเมืองในแง่ที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้มากน้อยแค่ไหน

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลใหม่แกะกล่องของ ปธน.ไรซี (Raisi) ของอิหร่าน กลับพร้อมรับรองรัฐบาลตอลิบานเป็นประเทศแรกทีเดียว และพร้อมส่งน้ำมันมาช่วยตอลิบานในยามที่ตอลิบานกำลังจะจัดตั้งรัฐบาล และอยู่ในสถานะที่ขาดแคลนสุดๆ จากการถอนความช่วยเหลือและถอนกองทัพอย่างฉับพลันของสหรัฐฯ, จากการระบาดโควิด และจากความแห้งแล้งครั้งใหญ่ทุกหัวระแหงของอัฟกานิสถาน

ทั้งๆ ที่อิหร่านนั้นเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับฝ่ายตอลิบานมาในอดีต (ส่วนหนึ่งถูกยุแยงโดยสหรัฐฯ ที่พยายามให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาติมุสลิมที่นับถือต่างนิกายกัน) เพราะอิหร่านนับถือนิกายชีอะห์ ขณะที่ตอลิบานนับถือนิกายสุหนี่...และอิหร่านก็ไม่ค่อยสบายใจว่า กลุ่มสุดโต่งก่อการร้ายทั้งอัลกออิดะห์ และไอซิส ที่อาศัยใต้ปีกตอลิบาน จะเข้ามาก่อกวนต่อความสงบและเสถียรภาพของอิหร่าน

แต่ศัตรูของศัตรูก็คือมิตรนั่นเอง ทำให้ตอลิบานอ้าแขนรับความช่วยเหลือและการรับรองจากอิหร่านอย่างเต็มที่ เพราะอิหร่านโดยเฉพาะรัฐบาลเหยี่ยวคณะใหม่-มองสหรัฐฯ เป็นศัตรูที่คอยจ้องทำลายอิหร่านหรือคอยเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา

อีกประการหนึ่งก็คือ รัสเซียที่เคยทำสงครามกับตอลิบานยาวนานถึง 10 ปี (ในขณะที่เป็นสหภาพโซเวียต) จนถึงกับพ่ายแพ้ต่อตอลิบาน และถอนกองทัพกลับอย่างย่อยยับ จนนำไปสู่การแตกล่มสลายของสหภาพโซเวียตจากการสูญเสียมหาศาลที่ถมทรัพยากรไปมากมายในสงครามกับตอลิบาน

วันนี้ รัสเซียพร้อมให้การยอมรับรัฐบาลตอลิบานอย่างน่าชื่นตาบาน และตอลิบานก็เช่นกัน ต้องเสียบุคลากรและประชาชนจำนวนมหาศาลในการต่อสู้กับโซเวียต แต่ทั้งคู่กลับลืมความสูญเสียครั้งนั้นไป (เช่นเดียวกับสหรัฐฯ กับเวียดนาม ที่ยอมจะลืมความขมขื่นที่ได้ประหัตประหารกัน เพราะทั้งคู่มีจีนเป็นเสมือนศัตรูร่วม ที่ทำให้มาจับมือกันได้ในครั้งนี้)

เพราะรัสเซียต้องการให้ตอลิบานลดการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งเป็นดินแดนมุสลิมที่เคยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มตอลิบานนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น