xs
xsm
sm
md
lg

"ผอ.ซีไอเอ" ดอดคุย "ผู้นำตอลิบาน" หลังถูกขีดเส้นตายต่างชาติต้องไปให้หมด 31 ส.ค. ด้านประเทศยุโรปกดดัน "ไบเดน" ต่อเวลาอพยพคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวอัฟกันที่เดินทางจากอัฟกานิสถาน ลงจากเครื่องบินทหารที่ฐานทัพในกรุงมาดริด เมื่อวันจันทร์ (23 ส.ค.)  ตามกระบวนการในการรับผู้อพยพจากอัฟกานิสถานของสเปน
สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ เร่งรัดการอพยพผู้คนออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร็วด่วนยิ่งขึ้น หลังตอลิบานขีดเส้นตายให้นานาชาติถอนกำลังทหารออกไปตามกำหนดเดิมสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยที่พวกประเทศยุโรปซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีความพยายามกดดันให้วอชิงตันยืดเวลาออกไปอีก เวลานี้หันมาเชื่อว่าไบเดนไม่ขยายเวลาทหารอเมริกันอยู่ในคาบูล ขณะเดียวกันมีรายงานจากสื่อดังว่า ผู้อำนวยการซีไอเอแอบไปหารือลับกับผู้นำตอลิบาน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ก่อนหน้านี้แสดงความหวังว่า จะถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานตามเส้นตายวันที่ 31 เดือนนี้ที่ประกาศไว้นั้น ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากำลังถูกกดดันอย่างหนักจากพันธมิตรยุโรปและอังกฤษให้ขยายเส้นตายออกไป

ในวันอังคาร (24 ส.ค.) ฝรั่งเศสประกาศว่า ตนจะต้องยุติการอพยพจากสนามบินคาบูลในวันพฤหัสฯ (26) ถ้าอเมริกาไม่ขยายกรอบเวลา และสเปนสำทับว่า คงไม่สามารถช่วยชาวอัฟกันทั้งหมดที่ช่วยเหลือภารกิจของสเปนได้

มาร์การิตา โรเบิลส์ รัฐมนตรีกลาโหมสเปน ระบุว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถานขณะนี้สับสนอย่างมากสำหรับทุกคน เพราะแม้แต่ผู้ที่อยู่ในคาบูลยังเข้าถึงสนามบินยากมาก และสำทับว่า ตอลิบานก้าวร้าวขึ้น มีการยิงและการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สถานการณ์โดยรวมจึงเลวร้ายลงขณะที่เวลาในการอพยพคนนั้นเหลือน้อยลงทุกที

ด้านอังกฤษบอกว่า จะล็อบบี้ในที่ประชุมสุดยอดกลุ่มจี 7 ซึ่งจัดแบบเสมือนจริงในวันอังคาร (24) เพื่อให้กองกำลังนานาชาติอยู่ทำภารกิจอพยพคนต่อหลังสิ้นเดือนนี้

รัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่า นับตั้งแต่ตอลิบานยึดอำนาจอย่างง่ายดายเมื่อ 10 วันที่แล้ว มีชาวต่างชาติและชาวอัฟกันราว 50,000 คนขึ้นเครื่องจากคาบูลออกจากอัฟกานิสถานสำเร็จ

ชาวอัฟกันจำนวนมากหวาดกลัวว่า ตอลิบานจะฟื้นระบอบการปกครองโหดร้ายทารุณภายใต้กฎหมายอิสลามที่ตีความอย่างเข้มงวด เหมือนเมื่อครั้งครองอำนาจระหว่างปี 1996-2001 หรือล้างแค้นผู้คนที่ทำงานให้อเมริกาและพันธมิตรตะวันตก

ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุว่า ได้รับข้อมูลข่าวกรองซึ่งชี้ว่า ตอลิบานที่เวลานี้พยายามชูภาพลักษณ์ปรองดองมากขึ้น กลับส่งนักรบเคาะประตูบ้านทุกหลังเพื่อตามล่าอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลและคนที่เคยทำงานให้กองกำลังอเมริกันและนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ)

มิเชลล์ บาเชเล ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น บอกว่า ได้รับรายงานที่เชื่อถือได้ว่า ตอลิบานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการประหารชีวิตพลเรือน จำกัดสิทธิผู้หญิง และขัดขวางการประท้วงต่อต้าน

ทั้งนี้ ตอลิบานโค่นรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างง่ายดาย หลังจากไบเดนเริ่มถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานตามข้อตกลงที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำไว้กับตอลิบาน

กระนั้น ไบเดนจำเป็นต้องส่งทหารอเมริกันกลับไปที่สนามบินคาบูลจำนวนหลายพันคน หลังจากเมืองหลวงอัฟกานิสถานแห่งนี้ถูกตอลิบานยึดได้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว (15) เพื่อจัดการอพยพพลเมืองของตนและชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้

ด้านตอลิบานซึ่งยอมปล่อยให้ทหารอเมริกันและฝ่ายตะวันตกเข้าควบคุมสนามบินคาบูล เพื่อดำเนินการอพยพผู้คนออกไป รวมทั้งมีรายงานว่า ยินยอมให้ชาวอเมริกันและคนต่างชาติอื่นๆ เดินทางผ่านด่านตรวจต่างๆ เข้าสนามบินคาบูลได้ และบางครั้งยังมีการประสานงานและอำนวยความสะดวกด้วยนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีรายงานเช่นกันว่ามีการขัดขวางและทำร้ายคนอัฟกันที่พยายามไปที่สนามบิน

ในวันจันทร์ (23) ซูฮาอิล ชาฮีน โฆษกตอลิบานได้กล่าวถึงกำหนดเส้นตายสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ว่า เป็น “เส้นแดง” ที่ละเมิดไม่ได้

“ถ้าสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรพาทางที่จะขยายเวลาสำหรับดำเนินการอพยพต่อไปแล้ว คำตอบก็คือ ไม่ ... มันจะต้องมีผลพวงต่อเนื่องตามมา” โฆษกผู้นี้บอกกับโทรทัศน์สกายนิวส์ของสหราชอาณาจักร

ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้จัดการประชุมลับขึ้นในกรุงคาบูลเมื่อวันจันทร์ (23) กับมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตอลิบาน ถึงแม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ขณะที่ซีไอเอไม่ยืนยันข่าวนี้

วอชิงตันโพสต์ซึ่งรายงานข่าวการพบปะหารือลับคราวนี้ โดยอ้างแหล่งข่าวสหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามหลายราย บอกด้วยว่า สิ่งที่พูดจากันคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการเลื่อนเส้นตายที่สหรัฐฯ จะต้องดำเนินการอพยพให้เสร็จสิ้น

ที่กรุงวอชิงตัน อดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวหลังจากฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในอัฟกานิสถานจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองว่า ไม่เชื่อว่าภารกิจอพยพจะเสร็จสิ้นภายใน 8 วันที่เหลืออยู่

ขณะที่ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ ให้สัมภาษณ์สกายนิวส์ว่า ไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายเส้นตาย ซึ่งไม่ใช่เพราะการประกาศของตอลิบานเท่านั้น แต่ยังสืบเนื่องจากคำแถลงของไบเดนด้วย

อย่างไรก็ดี ในการประชุมจี 7 ช่วงเย็นวันอังคาร เหล่าผู้นำชาติมั่งคั่งกลุ่มนี้ยังมีกำหนดหารือเกี่ยวกับจุดยืนร่วมกันต่อคำถามที่ว่า จะให้การยอมรับรัฐบาลตอลิบานหรือฟื้นมาตรการแซงก์ชันเพื่อกดดันกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ให้ปฏิบัติตามคำสัญญาในการเคารพสิทธิสตรีและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การยอมรับรัฐบาลตอลิบานของประเทศต่างๆ จะมีผลอย่างมาก เช่น เปิดทางให้ตอลิบานเข้าถึงความช่วยเหลือจากต่างชาติที่รัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อนหน้านี้เคยพึ่งพิง

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)

เครื่องบินทหารอเมริกันเที่ยวบินแรกที่นำผู้อพยพชาวอัฟกันเดินทางมาถึงคูเวต ในวันอังคาร (24 ส.ค.) (ภาพเผยแพร่โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำคูเวต)


กำลังโหลดความคิดเห็น