สหรัฐฯ และเยอรมนีในวันเสาร์ (21 ส.ค.) เตือนพลเมืองของตนเองในอัฟกานิสถาน หลีกเลี่ยงเดินทางไปยังสนามบินคาบูล อ้างถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ในขณะที่ประชาชนผู้สิ้นหวังหลายพันคนรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ในความพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ เกือบ 1 สัปดาห์หลังพวกนักรบตอลิบานเข้าควบคุมอำนาจ
มุลเลาะห์ บาราดาร์ ผู้ก่อตั้งร่วมของตอลิบานเดินทางไปยังเมืองหลวงของอัฟกัน เพื่อพูดคุยกับผู้นำคนอื่นๆ ในวันเสาร์ (21 ส.ค.) ทางกลุ่มพยายามเคาะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากกองกำลังของพวกเขาจู่โจมยึดครองพื้นที่อันกว้างขวางเกือบทั่วประเทศ ท่ามกลางการถอนตัวของกองกำลังสหรรัฐฯ ซึ่งทำให้รัฐบาลและกองทัพที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกล่มสลาย
ฝูงชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สนามบินท่ามกลางอากาศร้อนระอุและเต็มไปด้วยฝุ่นในทุกๆ วันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อความล่าช้าแก่ปฏิบัติการของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในความพยายามอพยพนักการทูตและพลเมืองของตนเองหลายพันคน เช่นเดียวกับชาวอัฟกานิสถานจำนวนมาก พ่อ แม่ และลูกๆ ผลักดันเบียดเสียดแย่งชิงกันบริเวณแนวรั้วกำแพงของท่าอากาศยาน ในความหวังขึ้นเครื่องบินหลบหนีออกนอกประเทศ
ตอลิบานเรียกร้องให้พวกคนที่ไม่มีเอกสารเดินทางให้กลับบ้าน หลังมีผู้เสียชีวิตทั้งในและรอบๆ สนามบินรันเวย์เดียวแล้วอย่างน้อย 12 รายนับตั้งแต่วันเสาร์ (21 ส.ค.) ครั้งที่ตอลิบานเข้าควบคุมอัฟกานิสถาน จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่นาโต้และตอลิบาน
"สืบเนื่องจากความเป็นไปได้ของภัยคุกคามด้านความปลอดภัยภายนอกประตูของสนามบินคาบูล เราแนะนำให้พลเมือสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงเดินทางไปยังสนามบินและหลีกเลี่ยงประตูสนามบินในเวลานี้ จนกว่าคุณจะได้รับคำสั่งส่วนบุคคลจากผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ทำเช่นนั้น" คำแนะนำของสถานทูตสหรัฐฯ ระบุ
สถานทูตเยอรมนีก็ออกคำแนะนำถึงพลเมืองไม่ให้เดินทางไปสนามบินเช่นกัน โดยเตือนผ่านอีเมลว่ากองกำลังตอลิบานกำลังควบคุมเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียงสนามบิน
คำแนะนำเป็นเครื่องตอกย้ำว่าสถานการณ์ความปลอดภัยในเมืองหลวงของอัฟกานิสถานยังไม่คลี่คลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามระบุว่ากองกำลังอเมริกากำลังหาเส้นทางอื่นๆ สำหรับให้ประชาชนไปถึงสนามบิน สืบเนื่องจากภัยคุกคามจากกลุ่มนักรบอัลกออิดะห์และรัฐอิสลาม (ไอเอส)
พลเอกวิลเลียม เทย์เลอร์ เสนาธิการทหารแห่งกองทัพสหรัฐฯ แถลงสรุปต่อเพนตากอน ว่าทหารสหรัฐฯ 5,800 นาย ยังคงอยู่ที่สนามบินและสนามบินยังคงปลอดภัย พร้อมเผยว่ามีการปิดประตูชั่วคราวแล้วกลับมาเปิดใหม่ประตูบางแห่งที่เข้าสู่สนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อพยพที่ไหลบ่ากันมา
เจ้าหน้าที่ตอลิบานบอกกับรอยเตอร์ว ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่ทางกลุ่มกำลังมีเป้าหมายแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ เพื่อเปิดทางให้ผู้คนที่พยายามหลบหนีในช่วงสุดสัปดาห์ สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้การยึดครองประเทศของตอลิบาน ก่อความหวาดผวาว่าจะมีการแก้แค้นและหวนคืนสู่กฎหมายอิสลามเวอร์ชันเข้มงวด ที่ตอลิบานเคยใช้ในครั้งก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน
เทย์เลอร์ระบุว่า สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อพยพผู้คนออกมาแล้ว 17,000 ราย ในนั้นรวมถึงชาวอเมริกา 2,500 คนที่มาจากคาบูล และเฉพาะในวันศุกร์ (20 ส.ค.) มีผู้คนมากกว่า 3,800 รายที่ได้รับการอพยพผ่านเครื่องบินทหารสหรัฐฯ และเครื่องบินเช่าเหมาลำ
หนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้สัญญาว่าจะอพยพอเมริกันชนทุกคนที่ต้องการกลับบ้าน ทาง จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า เขาไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีพลเมืออเมริกามากน้อยแค่ไหนที่ยังอยู่ในกรุงคาบูลและทั่วทั้งอัฟกานิสถาน แม้เจ้าหน้าที่บ่งชี้ว่ามีอีกหลายพันคน
เคอร์บี ปฏิเสธให้คำจำกัดความภัยคุกคามอย่างเจาะจงในกรุงคาบูล แต่ระบุว่าสถานการณ์ความมั่นคงในเมืองหลวงของอัฟกานิสถานนั้นอ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา "เรากำลังตอสู้กับทั้งเวลาและที่ว่าง" เคอร์บี กล่าว
สวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจเลื่อนเที่ยวบินเช่าเหมาลำลำหนึ่งจากกรุงคาบูล สืบเนื่องจากสถานการณ์ความยุ่งเหยิงที่สนามบิน "สถานการณ์ความปลอดภัยรอบๆ สนามบินคาบูลเลวร้ายอย่างมากในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา คนจำนวนมากอยู่หน้าสนามบิน และบางครั้งมีการเผชิญหน้ากันรุนแรงขัดขวางทางเข้าสู่สนามบิน" กระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุในถ้อยแถลงเมื่อวันเสาร์ (21 ส.ค.)
เจ้าหน้าที่ตอลิบานระบุว่า แผนของทางกลุ่มคือ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พวกเขาจะพร้อมสำหรับโมเดลใหม่ในการปกครองอัฟกานิสถาน โดยแยกคณะทำงานจัดการกับประเด็นความมั่นภายในประเทศและประเด็นการเงินออกจากกัน "พวกผู้เชี่ยวชาญจากอดีตรัฐบาลจะถูกดึงเข้ามาเพื่อบริหารจัดการวิกฤต" เจ้าหน้าที่บอกกับรอยเตอร์
โครงสร้างของรัฐบาลใหม่จะไม่ใช่รูปแบบประชาธิปไตยตามคำนิยามของตะวันตก แต่เจ้าหน้าที่ตอลิบานเน้นย้ำว่าพวกเขาจะปกป้องสิทธิของทุกคน
บาราดาร์ จะพบปะกับพวกผู้บัญชาการนักรบ แกนนำของอดีตรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภา เช่นเดียวกับนักวิชาการทางศาสนาและอื่นๆ เจ้าหน้าที่เผย
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นไปอย่างล่าช้า หรือแม้กระทั่งความล่าช้าในการประกาศว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ของตอลิบาน ตอกย้ำว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า ท่ามกลางการล่มสลายอย่างฉับพลันของกองกำลังอดีตรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ซึ่งต่อสู้กับพวกนักรบมานานหลายปี
มุลเลาะห์ ไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนซาดา ผู้นำในภาพวมของตอลิบาน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงปิดปากเงียบต่อสาธารณะ คงต้องดิ้นรนสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแก่กลุ่มต่างๆ ภายในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มอาจไม่สอดคล้องต้องกันเสมอไป หลังจากพวกเขาบรรลุเป้าหมายแห่งชัยชนะแล้ว
พวกตอลิบานพยายามกลบความกังวล มีท่าทีสายกลางมากขึ้นนับตั้งแต่คืนสู่อำนาจ โดยบอกว่าพวกเขาต้องการสันติภาพและจะเคารพสิทธิผู้หญิงภายในกรอบกฎหมายอิสลาม
ก่อนหน้านี้ครั้งที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1996-2001 ภายในกรอบกฎหมายอิสลาม ตอลิบานห้ามไม่ให้ผู้หญิงไปทำงานหรือออกไปนอกบ้านหากไม่สวมชุดคลุมแบบปกปิดทั้งตัวหรือ "บูร์กา" และห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านอัฟกานิสถานบางคน กลุ่มบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสนับสนุนต่างๆ รายงานเกี่ยวกับการแก้แค้นหนักหน่วงต่อผู้ประท้วง ตามจับพวกที่เคยมีตำแหน่งในอดีตรัฐบาล พวกที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ตอลิบานหรือทำงานให้กองกำลังสหรัฐฯ
"เราได้ยินเคสกระทำโหดร้ายมาบ้างและการก่ออาชญากรรมกับพลเมือง" เจ้าหน้าที่ตอลิบานกล่าวโดยไม่ประสงค์เอ่ยนาม "ถ้าสมาชิกตอลิบานก่อปัญหาต่อความสงบเรียบร้อย พวกเขาจะถูกสืบสวน"
(ที่มา : รอยเตอร์)