ชาวอัฟกันเสียชีวิต 5 คนจากเหตุวุ่นวายในสนามบินคาบูลเมื่อวันจันทร์ (16) ขณะที่กองทหารอเมริกันเฝ้ารักษาความปลอดภัยการอพยพเจ้าหน้าที่หลังตอลิบานเข้ายึดเมืองหลวงสำเร็จ ด้านจีนและรัสเซียเตรียมสานต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานทันที
ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งที่รอขึ้นเครื่องมานานกว่า 20 ชั่วโมง บอกว่า ไม่รู้ชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตทั้งห้าถูกยิงหรือถูกเหยียบตาย ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันยืนยันว่า ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อปรามไม่ให้ชาวอัฟกันพยายามแย่งชิงขึ้นเครื่องบินทหารที่เตรียมไว้อพยพนักการทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันออกจากคาบูล
เหตุการณ์วุ่นวายในสนามบินคาบูลเกิดขึ้นหลังจากที่ตอลิบานประกาศว่า สงครามสิ้นสุดแล้วและออกแถลงการณ์เพื่อให้ประชาชนอยู่ในความสงบ โดยซูฮาอิล ชาฮีน โฆษกของกลุ่ม ทวิตว่า นักรบตอลิบานได้รับคำสั่งเคร่งครัดห้ามทำร้ายประชาชน
ก่อนหน้านั้น โมฮัมหมัด นาอีม โฆษกสำนักงานการเมืองตอลิบาน เปิดเผยกับสถานีทีวีอัล จาซีเราะห์ว่า จะประกาศรูปแบบระบอบใหม่ในอัฟกานิสถานเร็วๆ นี้ และย้ำว่า ตอลิบานไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว พร้อมเรียกร้องความสัมพันธ์อย่างสันติกับนานาชาติ รวมทั้งยังให้สัญญาปกป้องสิทธิสตรี และคุ้มครองทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองอัฟกานิสถาน
กระนั้น ชาวอัฟกันจำนวนมากกลัวว่า ตอลิบานจะฟื้นแนวทางโหดเหี้ยมภายใต้กฎหมายชารีอะห์ โดยในยุคที่ตอลิบานปกครองอัฟกานิสถาน ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และวิธีการลงโทษมีตั้งแต่ใช้ก้อนหินขว้าง โบย และแขวนคอ
ถนนหลายสายกลางกรุงคาบูลในช่วงเช้าวันจันทร์เกือบว่างเปล่า ประชาชนต่างกังวลกับอนาคต คนมากมายพุ่งตรงไปสนามบินตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (15) บนรันเวย์เต็มไปด้วยผู้คนพร้อมกระเป๋าเดินทางเฝ้ารอด้วยความหวังว่า จะได้ขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ออกนอกประเทศก่อนที่กองกำลังอเมริกันจะเข้าควบคุมสนามบิน
ผู้ชายนับสิบพยายามปีนป่ายบันไดขึ้นเครื่อง อีกหลายร้อยคนระบายความไม่พอใจที่อเมริกายึดสนามบินเพื่อใช้ขนคนของตัวเอง
ทั้งนี้ กองกำลังอเมริกันถอนจากฐานทัพอากาศบากรัมที่อยู่ห่างจากคาบูล 60 กิโลเมตรตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อน ทำให้เหลือเพียงสนามบินคาบูลที่ใช้อพยพเจ้าหน้าที่ได้
วันอาทิตย์ เพนตากอนส่งทหารอีก 1,000 นายไปช่วยอพยพพลเมืองอเมริกันและชาวอัฟกันที่ทำงานให้ ทำให้มีกำลังพลที่รักษาความปลอดภัยในสนามบินเกือบ 6,000 นายภายใน 48 ชั่วโมง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อเช้าวันจันทร์ว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตทั้งหมดรวมถึงเอกอัครราชทูตไปถึงสนามบินคาบูลแล้ว ส่วนใหญ่โดยเฮลิคอปเตอร์ และกำลังรอการอพยพออกจากอัฟกานิสถาน
ชาติตะวันตกที่รวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี และนิวซีแลนด์ ต่างเร่งรีบอพยพพลเมืองและชาวอัฟกันที่ทำงานให้เช่นเดียวกัน
ส่วนที่ปักกิ่ง หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ตอลิบานแสดงความหวังว่า จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และต้องการให้จีนเข้าร่วมการฟื้นฟูและพัฒนาอัฟกานิสถาน ซึ่งจีนยินดีอย่างยิ่งและพร้อมกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือกับอัฟกานิสถานที่มีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางถึง 76 กิโลเมตร
หัวเรียกร้องให้ตอลิบานผ่องถ่ายอำนาจอย่างราบรื่น และรักษาสัญญาในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอิสลามที่เปิดกว้างและยอมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมถึงรับประกันความปลอดภัยของชาวอัฟกันและคนต่างชาติ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเสริมว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงคาบูลยังเปิดดำเนินการตามปกติ อย่างไรก็ดี ปักกิ่งเริ่มอพยพพลเมืองออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนเนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัยไม่น่าไว้ใจ
ในคำแถลงเมื่อวันอาทิตย์ สถานเอกอัครราชทูตจีนกำชับให้พลเมืองที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและงดออกจากที่พัก
ทางด้าน ดมิทรี ซีร์นอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำคาบูล มีกำหนดหารือกับตอลิบานในวันอังคาร (17)
ซีร์นอฟให้สัมภาษณ์สื่อรัสเซียว่า ตอลิบานได้เข้าควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น อนุญาตให้โรงเรียนสตรีเปิดสอนตามปกติ และส่งกำลังรักษาความปลอดภัยสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ ซามีร์ คาบูลอฟ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยืนยันว่า รัสเซียไม่มีแผนอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูต กระนั้น ในวันจันทร์เขายอมรับว่า จะอพยพเจ้าหน้าที่บางส่วน
คาบูลอฟยังบอกว่า มอสโกจะตัดสินใจว่า จะยอมรับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานหรือไม่ โดยพิจารณาจากการกระทำของตอลิบาน
ซีร์นอฟขานรับว่า รัสเซียต้องการให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีอารยธรรม ไม่มีการก่อการร้าย ไม่มียาเสพติด และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งตอลิบานให้คำมั่นว่าจะดำเนินการทั้งหมดนี้
รัสเซียมีความเกี่ยวพันยาวนานกับประเทศนี้ ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1980 มอสโกทำสงครามที่ยืดเยื้อถึงสิบปีในอัฟกานิสถาน ทำให้ชาวอัฟกันล้มตายถึง 2 ล้านคน ประชาชน 7 ล้านคนต้องทิ้งบ้าน และทหารโซเวียตเสียชีวิต 14,000 นาย
นักรบมูจาฮีดีนที่ต่อต้านรัสเซียได้ร่วมกันก่อตั้งตอลิบานขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษ 1990
ช่วงหลายปีมานี้ เครมลินติดต่อกับตอลิบานและให้การต้อนรับตัวแทนตอลิบานที่ไปเยือนมอสโกหลายครั้ง ล่าสุดคือเดือนที่แล้ว
นอกจากนั้นมอสโกยังจับตาสถานการณ์ในอัฟกานิสถานอย่างใกล้ชิดเนื่องจากกังวลว่า อาจลุกลามทำให้เกิดความไม่สงบในประเทศอดีตสมาชิกโซเวียตในเอเชียกลางที่รัสเซียมีฐานทัพอยู่
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)