หักปากกาเซียนและนักวิเคราะห์ไปตามๆ กัน เมื่อกองกำลังตอลิบานได้เข้ายึดกรุงคาบูลได้แล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยไร้แรงต่อต้านจากกองทัพรัฐบาล ขณะที่ ประธานาธิบดีอัชราฟ กานีและคนอื่นๆ ได้นั่งเครื่องเผ่นหนีตายเข้าไปทาจิกิสถาน
เพียงแค่วันเดียว ตอลิบานเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีได้อย่างง่ายดาย
เป็นชัยชนะอย่างรวดเร็ว ช็อกแม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ซึ่งเดิมคาดว่ากองทัพอัฟกันจะสามารถยันศึกได้อย่างน้อยระยะหนึ่ง เดิมคาดกันไว้ 6 เดือน จากนั้นเหลือ 3 เดือนเมืองตอลิบานรุกได้เร็ว สุดท้ายคาดว่าจะมีเวลาอย่างน้อย 30 วัน
ความเป็นจริงก็คือ ตอลิบานใช้เวลาเพียง 2-3 วันจากการยึดเมืองกันดาฮาร์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ก่อนรุกคืบเข้ากรุงคาบูลอย่างง่ายดาย ไม่ต้องเปลืองกระสุน เท่ากับว่าเป็นการดีที่บ้านเมืองไม่ต้องเสียหาย คนไม่บาดเจ็บล้มตาย สงครามกลางเมืองหยุดเด็ดขาด
กรุงคาบูลอยู่ในภาวะระส่ำระสาย คนหนีออกไปอยู่นอกเมือง ส่วนหนึ่งหนีจากนอกเมืองเข้ามาอยู่ โดยหวังว่าจะรอดได้สักระยะ แม้แต่สถานทูตสหรัฐฯ และหน่วยข่าวกรองก็ประเมินผิด หนีตายแทบไม่ทันต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนาดต่างๆ ขนคนหนี
ไม่ต่างจากการหนีออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไซ่ง่อนเมื่อเวียดนามใต้แตกในปี 1975 คราวนี้โจ ไบเดน ประเมินผิด นึกว่าจะมีเวลาพอ จึงส่งทหารเข้าไป 5 พันนายเพื่อการขนย้ายเจ้าหน้าที่สถานทูต ธงสหรัฐฯ โดยปลดออกจากเสาบนหลังคาอย่างอัปยศ
อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ก็ส่งเครื่องบินไปรับคนของตนเองซึ่งหนีออกจากประเทศ ขณะที่สนามบินกรุงคาบูลต่างเต็มไปด้วยผู้โดยสารชาวอัฟกันแย่งชิงเที่ยวบินออกไปจากแผ่นดินเกิดเพื่อหนีระบบของตอลิบาน ซึ่งจะทำให้อนาคตมืดมน
เป็นสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศและของตัวเองจะเป็นอย่างไร หลังจากตอลิบานตั้งรัฐบาลใหม่ และจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับสหประชาชาติและสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้กำกับบทบาท
ชะตากรรมของประชาชนอัฟกานิสถานเหมือนลูกไก่ตกอยู่ในกำมือของกองกำลังตอลิบาน จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและสาวๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อกามของนักรบตอลิบาน แม้จะมีคำรับรองว่าจะไม่มีความโหดร้ายล้างแค้น
ตอลิบานจะเดินตามรอยเดิมด้วยการใช้กฎเหล็กของศาสนาอิสลาม “ชาเรีย” ในการปกครองประเทศเหมือนกันการยึดประเทศยุคแรกก่อนปี 2001 หรือไม่ นั่นยังเป็นคำถามที่รอคำตอบ เพราะสภาวะเช่นนั้นทำให้ประเทศย้อนยุคไปหลายศตวรรษ
โจ ไบเดน ผู้นำทำเนียบขาวแสดงท่าทีแน่ชัดตั้งแต่แรกแล้วว่าจะปล่อยให้ประชาชนอัฟกันและกองทัพสู้ศึก เผชิญชะตากรรมตามลำพัง ช่วงนี้ให้รัฐมนตรีต่างประเทศ นายแอนโทนี บลิงเคนออกมาพูดแก้เกี้ยวเรื่องความพ่ายแพ้
คืนวันอาทิตย์ให้สัมภาษณ์สื่อซีเอ็นเอ็นอ้างว่าสหรัฐฯ ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว นั่นคือการขุดรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายคือ อัลกออิดะห์ของ บิน ลาเดน ซึ่งก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ต่อไป และได้จัดการให้อัฟกานิสถานอยู่ด้วยตัวเอง
ความเป็นจริงก็คืออัฟกานิสถานไม่มีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่มีน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติให้กอบโกยได้ ต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการทรัพยากร เช่นน้ำมันดิบ และแร่ธาตุมีค่าต่างๆ ดังเช่นในอิรัก
แต่สหรัฐฯ ก็ไม่จัดการอะไรให้เด็ดขาด หลังจากอยู่ในอิรักหลายปี ประเทศอิรักแทบไม่เหลือสภาพเดิม ถูกปล้นเอาทรัพย์สิน อุตสาหกรรมน้ำมัน แทบใช้การไม่ได้ จากการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้เป็นประเทศเกือบยากจนหลังสงครามที่สหรัฐฯ เริ่ม
สภาวะเช่นนั้นกำลังได้เกิดขึ้นกับอัฟกานิสถาน เพราะทหารอเมริกันได้ถอยออกจากฐานทัพอากาศบากรัมเดือนที่ผ่านมาโดยไม่แจ้งให้รัฐบาลอัฟกันล่วงหน้า ทิ้งยานพาหนะ รถรบ อาวุธไว้ให้ทหารอัฟกันรับหน้าที่ปกป้องประเทศเสี่ยงตายเอาเอง
ช่วงการสู้รบในระยะ 20 ปี มีชาวอัฟกันหลายหมื่นคนเป็นตัวช่วยทั้งเป็นล่าม พนักงานแปล งานธุรการและภาคสนาม คนเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าตอลิบานยึดประเทศได้ จะต้องถูกฆ่าทิ้งหรือจับกุมคุมขัง โอกาสรอดจากการล้างแค้นมีน้อย
ดังนั้น ทหารหน่วยรบของสหรัฐฯ 6 พันนายจะไม่ทำการสู้รบกับตอลิบาน ไปอยู่เพื่อรักษาความปลอดภัยในคนอเมริกันในช่วงการหนีออกจากประเทศ ไม่ต่างจากการหนีจากกรุงไซ่ง่อนในปี 1975 เมื่อเวียดนามใต้แตกหลังจากการรุกหนักของเวียดนามเหนือ
สหรัฐฯ ทิ้งให้ทหารเวียดนามประชาชนต่อสู้ตามลำพังหลังจากสู้รบในประเทศนั้นร่วม 20 ปี สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ยังดีที่หลังจากการรวมตัวของเวียดนาม ไม่มีสงครามกลางเมืองต่อจากนั้น เพราะคนเวียดนามยอมรับความเป็นชาติเดียวกัน
การทิ้งเวียดนาม เป็นความไม่รับผิดชอบ เป็นการรบแพ้อย่างน่าอนาถ เป็นตราบาปลึกในใจของคนอเมริกัน และหลังจากนั้นก็ประกาศว่าจะไม่ส่งกำลังไปรบนอกประเทศอีก แต่ก็เป็นเพียงลมปาก จากนั้นได้บุกอิรัก 2 รอบสร้างความเสียหายหนัก
สหรัฐฯ ไม่ได้รบชนะศึกที่อิรัก เพราะได้เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อทุกวันนี้ จากทหารหลายแสนนาย ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่พันนาย พร้อมที่จะถอนออกจากอิรักในสิ้นปีนี้ เป็นความไม่ชนะอีกรอบ ทำให้อิรักอยู่ในสภาวะบ้านแตก หายนะทั้งประเทศ
สหรัฐฯ ก็ทำตัวไม่ต่างจากในสงครามซีเรีย ไม่สามารถเอาชนะกองกำลังไอซิสได้ จนกระทั่งกองทัพอากาศรัสเซียเข้าร่วมกับรัฐบาลซีเรีย โจมตีกลุ่มไอซิสจนแตกสลาย พร้อมทั้งได้ความช่วยเหลือจากกองกำลังจากพันธมิตรของอิหร่านและกองกำลังท้องถิ่น
เมื่อยึดได้ประเทศแล้ว ต้องรอดูว่าตอลิบานจะเผชิญกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่จะต่อต้านไม่ยอมสยบให้หรือไม่ และจะยังคิดพยายามขยายอิทธิพลไปยังเพื่อนบ้านหรือไม่ เหยื่อที่อาจเป็นไปได้มากก็คือปากีสถาน ซึ่งมีกลุ่มหัวรุนแรงติออาวุธอยู่แล้ว