xs
xsm
sm
md
lg

ตอลิบานยันไม่ล้างแค้นใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกของกลุ่มตอลิบาน
หลังจากเผด็จศึกในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากการรุกหนักในเดือนพฤษภาคมจนยึดกรุงคาบูลได้อย่างง่ายดาย กลุ่มตอลิบานได้ประกาศแนวทางหลายประการซึ่งน่าจะทำให้ประชาคมนานาชาติโล่งอกว่าสถานการณ์โดยรวมในอัฟกานิสถานน่าจะดีขึ้น

อย่างแรก กลุ่มตอลิบานชี้ให้เห็นว่าแนวทางการบริหารบ้านเมืองจากนี้ไปจะต่างจากช่วงปี 1996-2001 และเริ่มด้วยการประกาศนิรโทษกรรมให้บรรดาทหารรัฐบาลทุกนาย รวมทั้งกลุ่มผู้ที่เคยต่อสู้กับตอลิบานในรัฐบาลที่ผ่านมา

โฆษกของตอลิบาน ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด ได้จัดแถลงข่าวค่ำวันอังคารที่ผ่านมา โดยรับรองว่ากลุ่มคนที่พยายามเดินทางออกจากประเทศผ่านสนามบินนานาชาติคาบูลจะไม่ได้รับอันตราย แม้แต่ชาวต่างประเทศ รวมทั้งทหารอเมริกัน หรือชาติอื่นๆ

ทั้งประกาศว่าจะไม่มีทหารของตอลิบานเข้าไปในเคหสถานของใครโดยถืออาวุธเข้าไปด้วย เท่ากับเป็นการรับประกันว่าจะไม่มีการตรวจค้นบ้านใคร เพราะจากนี้ไปทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูประเทศ ด้วยความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อสันติภาพ

ท่าทีของกลุ่มตอลิบานแสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งจะเป็นวันที่ 11 เดือนหน้า และเป็นวันครบรอบของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่ม จะเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ จะไม่มีบรรยากาศของความเป็นปฏิปักษ์อีกต่อไป

นั่นเป็นเพียงคำพูดของโฆษก ยังต้องใช้เวลาเพื่อดูว่าหลังจากตั้งรัฐบาลแล้วจะมีท่าทีอย่างไรต่อผู้ที่เคยทำงานกับกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะพวกล่ามและพนักงานแปล

มูจาฮิดยังชี้แจงว่าสิทธิของสตรีในยุคใหม่ของตอลิบานยังอยู่ภายใต้กฎหมาย “ชาเรีย” ซึ่งยังต้องรอรายละเอียดในขั้นปฏิบัติ แต่สตรีอัฟกานิสถานมีสิทธิจะออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีผู้ชายไปด้วย และมีสิทธิแสวงหาการศึกษาตามที่ต้องการ

สถานการณ์ในกรุงคาบูลสงบปราศจากการสู้รบ ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตตามปกติ ร้านค้าทั่วไปเปิดตามปกติ ไม่มีความตื่นตระหนกหรือความโกลาหลเหมือนช่วงวันก่อนที่กลุ่มตอลิบานเดินทางเข้าคาบูล แม้แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็เดินทำข่าวได้อย่างอิสระ

ก่อนหน้านี้สนามบินกรุงคาบูลเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ชาวอัฟกันหลายพันคนพยายามแย่งหาเที่ยวบินเพื่อหนีออกจากประเทศ เที่ยวบินพาณิชย์ไม่มีบริการอีกต่อไป มีแต่เครื่องบินของทหารสหรัฐฯ ขนคนออก โดยมีทหาร 6 พันนายให้การอารักขา

ภาพที่น่าตระหนกก่อนหน้านี้คือเครื่องบิน ซี-17 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ขนชาวอัฟกัน 640 คนในเที่ยวเดียวนั่งเบียดเสียดกันเต็มพื้นที่ เครื่องบินไปลงจอดที่กาตาร์ โดยไม่รู้แน่ชัดว่ากลุ่มชาวอัฟกันจะถูกส่งต่อไปยังสหรัฐฯ หรือรอการคัดเลือกอีกรอบ

ทหารตอลิบานไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอพยพที่สนามบินแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเปิดทางให้ชาวต่างชาติเดินทางออกไปได้อย่างปลอดภัย ไม่มีความจำเป็นต้องให้อยู่ในประเทศ โดยตอลิบานประกาศว่าอัฟกานิสถานเป็นแผ่นดินสำหรับชาวอัฟกัน

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่าหัวหน้าคณะนายทหารที่ยังอยู่ในกรุงคาบูลเพื่อควบคุมดูแลการอพยพที่สนามบิน ได้ติดต่อกับฝ่ายนายทหารตอลิบานหลายครั้งในแต่ละวันเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในท่าทีของแต่ละฝ่าย ไม่ให้เกิดการปะทะ

โฆษกของตอลิบานย้ำหลายครั้งว่าจะไม่มีการล้างแค้นใคร แต่ประชาคมโลกต้องยอมรับหลักการของตอลิบานซึ่งยึดมั่นกับหลักของศาสนาอิสลามในการบริหารประเทศ

เมื่อมีท่าทีว่าจะไม่เคืองแค้นหรือต้องการล้างแค้นใคร กลุ่มตอลิบานยังต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีการไล่ล่าผู้ที่เคยถูกมองว่าเป็นตัวอันตรายเช่นสื่อมวลชน คนที่เคยทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ ข้าราชการ และบรรดานายทหารที่เคยสู้รบกับตอลิบาน

โฆษกตอลิบานยอมรับว่ายังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มไอซิส อัลกออิดะห์ แต่ไม่ระบุว่าความสัมพันธ์นั้นหมายถึงการจะให้ที่พักพิงในอัฟกานิสถานในอนาคตหรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีชาวอัฟกันอพยพไปอยู่ในอิหร่านมากกว่า 7 แสนคน และในปากีสถานมากถึง 1.4 ล้านคน ซึ่งต้องรอดูว่าจะเดินทางกลับเข้าแผ่นดินเกิดหรือไม่หลังจากตอลิบานได้จัดตั้งรัฐบาล และกำหนดทิศทางการบริหาร รวมทั้งความปลอดภัย

ภายในอัฟกานิสถานเอง ประชาชนกว่า 3 ล้านคนได้พลัดจากถิ่นที่อยู่เพื่อหนีภัยสงครามในช่วงที่ตอลิบานเริ่มเปิดฉากรุกหนักก่อนยึดประเทศได้ในเวลาไม่กี่เดือน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยอมรับว่าการยึดกรุงคาบูลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย นั่นเป็นเพราะว่ากองทัพอัฟกันไม่เต็มใจสู้รบ และผู้นำอัฟกันคือประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้เผ่นหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดก่อนกรุงคาบูลถูกยึด

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองอเมริกันยังมองว่านี่เป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯ ที่เคยอยู่ในอัฟกานิสถานนานถึง 20 ปี ได้ลงทุนไปอย่างมหาศาลในการสู้รบ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ส่งทหารมากกว่า 1 แสนนายเข้าไปในประเทศ และมีทหารเสียชีวิตมากถึง 2 พันราย

ความโกลาหลที่สถานทูตสหรัฐฯ ในวันสุดท้ายดูจะเลวร้ายกว่าสถานการณ์ที่สถานทูตสหรัฐฯ เมื่อกรุงไซ่ง่อนแตกในปี 1975 การที่กรุงคาบูลถูกยึดเท่ากับเป็นการสิ้นสุดการประจำการของทหาร นักการทูตสหรัฐฯ รวมถึงนักการทูตตะวันตกหลายประเทศ

หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นความอัปยศในการสู้รบนอกประเทศของสหรัฐฯ อีกครั้ง และอัฟกานิสถานเป็นสมรภูมิที่ทหารสหรัฐฯ ได้ต่อสู้นานที่สุดถึง 20 ปี และไม่สามารถเอาชนะศัตรูได้ทั้งๆ ที่มีอาวุธเหนือกว่า และมีทหารจากชาติพันธมิตรอื่นๆ เข้ามาร่วมรบด้วย

อนาคตของอัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลตอลิบานจึงยังต้องรอดูทิศทางในไม่ช้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น