xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อไฟเซอร์20ล.โดส เคาะฉีดเข็ม3กลุ่มแพทย์ก่อน กทม.“เดลต้า”เกินครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5,420 ราย เสียชีวิต 57 ศพ กทม.สายพันธุ์เดลต้าลามเกินครึ่ง ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เป็นวัคซีนหลัก ฉีดปชช.ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และโมเดอร์นา เป็นวัคซีนตัวเลือก หลังถกนาน 45 นาที “วิษณุ” เตือนห้ามเปิดสัญญาซื้อ เหตุเป็นความลับ หวั่นโดนฟ้อง แย้มไตรมาส 4 ได้วัคซีนโมเดอร์นา เอกชนจ่ายเอง100 เปอร์เซ็นต์ ศบค.ไฟเขียวกลุ่มแพทย์ได้ฉีดเข็ม 3 กลุ่มแรก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ หนุนฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อกลายพันธุ์กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้า "ซิโนฟาร์ม" ก.ค.นี้ อีก 2-3 ล้านโดส

วานนี้ (6 ก.ค.) น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 5,420 ราย ยอดสะสม 294,653 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาตัว 65,297 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 2,350 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 643 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,333 ราย

ภาพรวมของประเทศ ข้อมูลจนถึงวันที่ 2 ก.ค. จะพบว่าขณะนี้สายอัลฟ่า มีการแพร่ไปถึง 65.1% สายพันธุ์เดลต้า 32.2% สายพันธุ์เบต้า 2.6% หากดูในพื้นที่ กทม. พบสายพันธุ์อัลฟ่า 47% พบสายพันธุ์เดลต้า 52% ถือว่า สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จึงขอให้ระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น

โดยพบคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 116 แห่ง

ส่วนที่ต่างจังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานผ้าอ้อม อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย จ.ชลบุรี ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.บางละมุง 12 ราย จ.นนทบุรี ที่ชุมชนหลังเมเจอร์ อ.ปากเกร็ด 44 ราย จ.ปทุมธานี ที่โรงงานอะลูมิเนียม อ.ธัญบุรี 19 ราย และที่โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อ.ลาดหลุมแก้ว 15 ราย และ จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด 61 ราย

ครม.อนุมัติซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 10.9 ล้านโดส ด้วยวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท นอกจากนี้ จะจัดซื้อวัคซีนอื่นๆ เพื่อควบคู่กันไปโดยกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้จัดซื้อ

ครม. ยังเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักที่จะฉีดให้กับประชาชนอีก 1 ยี่ห้อ และได้มอบให้อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามในสัญญา จำนวน 20 ล้านโดส โดยไม่สามารถเปิดเผยสัญญาได้ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา จะได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้กับรัฐบาลไทยเพื่อมอบให้เป็นความช่วยเหลือแก่ไทยด้วย

ครม.เห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือก โดย ครม.เห็นชอบให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ลงนามในสัญญา พร้อมกับให้รับข้อเสนอแนะจากอัยการสูงสุดไปพิจารณาด้วยเช่นกัน ซึ่ง วัคซีนโมเดอร์นา ถือเป็นวัคซีนทางเลือก ที่ประชาชนต้องชำระเงินกับภาคเอกชนในการฉีดวัคซีน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์จะเป็นวัคซีนหลัก ที่หมายความว่ารัฐบาลจะจัดหามาให้กับประชาชน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะฉีดให้กับประชาชน

"อนุทิน" ยันจัดส่งทันไตรมาส 4

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว. กล่าวเพิ่มเติมว่า สธ.ได้รับอนุมัติในหลักการการลงนามสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส กับสัญญาการรับวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐฯ อีกจำนวนหนึ่ง คู่สัญญากับกรมควบคุมโรค และวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกของภาคเอกชน คู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ รัฐมนตรีทั้งหลาย ร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการสั่งซื้อวัคซีนข้างต้น ที่ประชุม ครม. จึงมีมติในการลงนามสัญญาดังกล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า กรมควบคุมโรค และ อภ. ได้ขอให้ อสส.พิจารณาร่างทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งท่านมีความเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ทางกรมควบคุมโรค ก็รับไปเพื่อเจรจาเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ก่อนจะมีการลงนามในขั้นต่อไป โดยจะต้องเจรจาให้แล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์นี้ เป็นไปตามข้อตกลงที่เราจะต้องลงนามบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย ภายใน 1 เดือน หลังจากลงนามในเทอมชีท ขอย้ำว่าไม่กระทบกับการจัดส่งวัคซีน เพราะผู้ผลิตได้ล็อกคิวไว้ที่ไตรมาส 4

ครม.ถกซื้อ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’นาน 45 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมครม. ได้มีการหารือเรื่องการจัดซื้อวัคซีน ใช้เวลาพูดคุยประมาณ 45 นาที นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข รายงานว่า ขออนุมัติครม.ให้อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ไปดำเนินการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อป้องกันโควิด-19 นอกจากนี้ ขอ ครม.อนุมัติในเรื่องการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.)เป็นผู้ไปทำสัญญา โดยรัฐบาลจะเป็นเพียงตัวกลางสั่งซื้อวัคซีนให้เอกชน โดยค่าใช้จ่ายเอกชนจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินเองทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันในสัญญาระบุไว้ว่า หากจัดส่งล่าช้า ห้ามฟ้องร้อง และหากจ่ายเงินล่าช้าก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้ รวมถึงหากการฉีดวัคซีนเกิดอันตราย หรือเกิดอะไรขึ้นจะฟ้องร้องไม่ได้ เพราะถือเป็นวัคซีนฉุกเฉิน

นายอนุทิน รายงานอีกว่า ยอดจองวัคซีนใน รพ.เอกชน มีประมาณ 5 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา จากยอดจองเดิมที่จะลงนามสั่ง แต่จนถึงปัจจุบันมียอดรวมแล้ว 9 ล้านโดส แต่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถขอเพิ่มได้หรือไม่ โดยวัคซีนโมเดอร์นา จะเข้ามาในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ หรือต้นปีหน้า และจำนวนเงินที่เอกชนจะต้องส่งมาให้รัฐบาล เพื่อนำไปเซ็นต์สัญญา และจ่ายให้กับโมเดอร์นาเพราะรัฐไม่สามารถจะนำเงินในส่วนไหนไปจ่ายให้ก่อนได้

“วิษณุ”เตือนห้ามเปิดสัญญาซื้อ หวั่นโดนฟ้อง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานเรื่องข้อกฎหมาย ว่าขอให้ยึดตามที่อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากมีประเด็นเรื่องการห้ามเปิดเผยข้อมูลสัญญา ถือเป็นความลับ ถ้าหากมีการนำไปเปิดเผย เขาอาจจะฟ้องร้องเราได้ และหากไฟเซอร์ ส่งวัคซีนช้าก็ถือว่าไม่ผิด สามารถส่งมอบช้าได้ เพราะในสัญญามีการระบุไว้แล้วว่าห้ามมีการฟ้องร้อง

หนุนฉีดวัคซีนต้านกลายพันธุ์กลุ่มแพทย์ด่านหน้า

พลอากาศโท อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง วัคชีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ดังนี้

1.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ใช้วัคซีนที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19

2.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลทางวิชาการล่าสุดมาใช้ในการพิจารณาการจัดหาและกระจายวัคซีน

3.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด ทั้งที่รัฐบาลจัดหามาให้และวัคซีนทางเลือก แต่ยังต้องให้ความสำคัญของมาตรการการป้องกันโรคอื่น ๆ

เคาะกลุ่มแพทย์ได้ฉีดเข็ม 3 กลุ่มแรก

ศ.นพ.อุดม คชินทรรองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ถึง 96 ประเทศ ส่วนในประเทศไทย เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมาก ถ้านับเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ

ทั้งนี้ สายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถคือ 1.ระบาดเร็ว โดยสายพันธุ์อัลฟ่าระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 60-70% แต่เดลต้าระบาดเร็วกว่าอัลฟ่าอีก 40% จึงเป็นเหตุผลที่เราคาดการณ์ว่า 1-2 เดือน ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลต้า เพราะกระจายเร็วมาก 2.ภาพรวมของเดลต้า ไม่ได้มีความรุนแรงกว่าอัลฟ่า แต่มีลักษณะพิเศษคือทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการออกซิเจน ซึ่งสำหรับอัลฟ่าใช้เวลา 7-10 วัน หลังติดเชื้อ ถึงจะพบอาการปอดอักเสบ ใช้เครื่องไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลต้าใช้แค่เวลา 3-5 วัน ก็ต้องใช้เครื่องไฮโฟลว์

ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อว่า เดิมมีวัคซีนที่เป็นตัวควบคุมการระบาด ทำจากไวรัสอู่ฮั่น แต่พอเกิดการกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพของวัคซีนเดิมจึงลดลงชัดเจน เราต้องหาวัคซีนบูสต์เตอร์ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ซึ่งคณะกรรมการคุยมา 2-3 เดือน เรื่องฉีดเข็ม 3 และสลับวัคซีน

ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ในประชุมของเราคุยกันเรื่องซิโนแวค ที่ใช้ไปมากสุดคือ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนคนฉีดซิโนแวคครบ ห่างจาก เข็ม 2 แล้วประมาณ 3-4 เดือน เรามีมติชัดเจน บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้เข็ม 3 ก่อน ซึ่งอาจจะเป็นแอสตร้า หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งได้รับบริจาคจากอเมริกา 1.5 ล้านโดส ข้อมูลอ็อกฟอร์ด ฉีดแอสตร้า เข็ม 3 กระตุ้นภูมิได้ 6เท่า หลังเว้น 6เดือนจากเข็ม 2 ถ้าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ 3- 4เดือน ควรได้บูสเตอร์โดส และเป็นแพลตฟอร์มอื่น จะเป็นแอสตร้า หรือ เอ็มอาร์เอ็นเอ ก็ได้

"ยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ ออกข้อกำหนด ต้องฉีดเข็มที่ 3 เราให้ ทางศิริราช จุฬาฯ ศึกษาเข็ม 3 ตัวไหนหมาะดีที่สุด อีกเดือนจะรู้ผล ย้ำการฉีดเข็ม 3 ไม่ใช่กับคนทั่วไป”

คณะกรรมการกำลังประชุม เมื่อวานตั้งคณะทำงาน ศึกษาหาว่าเจเนอรั่ชใหม่ ที่ได้ผลดี จะได้รีบไปจองก่อน เพราะคาดว่าวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ น่าจะออกต้นปีหน้า ซึ่งศุกร์นี้(9 ก.ค.) อาจจะมีความคืบหน้าออกมา ซึ่งคณะทำงานจะมีการรายงานเรื่องนี้

"เนื่องจาก ที่เราปรึกษากันตอนนี้คือ บุคลากรทางการแพทย์ 7แสนคนฉีด ซิโนแวค 2 เข็มครบไปแล้ว 3-4เดือน จะต้องฉีดบูสเตอร์โดส เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา แต่ถ้าไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่อเมริกาจะบริจาค ยังไม่มาเราจะฉีดแอสตร้าฯ ให้ ซึ่งข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบ 8 คนว่าฉีดซิโนแวคเข็มแรก แพ้รุนแรง แล้วเปลี่ยนมาฉีดแอสตร้าเข็ม 2 เมื่อเจาะภูมิต้านทานดู พบว่า การให้ซิโนแวค เข็ม 1 แอสตร้าฯเข็ม 2 พบว่ามีภูมิขึ้นเท่ากับซิโนแวค 2เข็ม 8เท่า เป็นยืนยันว่า แอสตร้าฯใช้ได้แน่นอน ถ้าไฟเซอร์มาเร็ว 1.5ล้านจึงให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ที่เหลือให้บุคคลกลุ่มเสี่ยง

ศ.นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ในอนาคต เอ็มอาร์เอ็นเอ จะเป็นวัคซีนหลักแน่นอน ซึ่งศบค. ชุดใหญ่ ก็ผ่านแล้วเราเลือกไฟเซอร์ ให้เป็นวัคซีนราชการ หมายถึงฉีดให้กับประชาชนฟรี

นพ.อุดมกล่าวว่า ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว

ก.ค.นี้ นำเข้า "ซิโนฟาร์ม" อีก 2-3 ล้านโดส

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมากว่ากว่า 2 ล้านโดส เท่าที่ทราบภายในเดือนก.ค. นี้ น่าจะได้อีกประมาณ 2-3 ล้านโดส

ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับอนุมัติให้สั่งซื้อวัคซีนทุกชนิด ศ.นพ. นิธิ กล่าวว่า ถ้าเอาแค่เรื่องสั่งซื้อจัดหาทุกชนิดทุกประเภท ก็ถูกต้องอยู่ แต่เราต้องทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย

สภาเภสัช วอนสยามไบโอฯลดส่งออกชั่วคราว

เพจเฟซบุ๊ก “สภาเภสัชกรรม”ได้โพสต์แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม ได้ลงนามโดยเภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิดด้วยนโยบายที่ชัดเจน ใน 2 ประเด็น

1.ยุทธศาสตร์การลดอัตราตาย เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขรับมือได้อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 วันละประมาณ 50-60 คน หรือ เดือนละประมาณ 1,500-1,800 คนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ในสองสามเดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการและบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิต และ ป่วยหนักจากโควิด เป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้ มีอัตราตายถึงร้อยละ10 ในขณะที่กลุ่มอื่นที่เหลือ มีอัตราตายร้อยละ 1

สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2 ล้านคนต่อประชากรที่มีอยู่ 17.5 ล้านคน)

2.ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีน ต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ในการจัดหาโดยเร่งด่วน

สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว 

ทอท.เปิดพื้นที่สนามบินตั้งโรงพยาบาลสนาม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม จะเปิดพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 (แซทเทิลไลท์ : SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งวานนี้ (6 ก.ค. ) ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นพื้นที่ของอาคาร SAT1 มีขนาดมากกว่าโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อิมแพคเมืองทองธานี ประมาณ 3 เท่า และมีเป้าหมายจะใช้ทดแทน โรงพยาบาลบุษราคัม ที่จะครบการใช้พื้นที่ในเดือนสิงหาคมนี้

ติดเชื้อเพิ่ม 2 รายโยงเคส ปธ.หอการค้าสุรินทร์

จากกรณีนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ แจ้งติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังเดินทางไปร่วมงานภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์ และมีการถ่ายรูปคู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนั้นเดินทางกลับ จ.สุรินทร์ รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (6 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 2 ราย คือนายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายปิ่นชัย สุริย์ฉาย เจ้าของร้านคุณเฮงยานยนต์ ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นคณะกรรมการในหอการค้าจังหวัดสุรินทร์

ส่วนภรรยาของทั้ง 3 รายนั้น อยู่ระหว่างรอผลการตรวจเชื้อ ขณะที่คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ทั้งหมด ได้รับการเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.สุรินทร์แล้ว แต่ผลตรวจยังไม่ออกมา


กำลังโหลดความคิดเห็น