xs
xsm
sm
md
lg

โควิดระบาดรอบ 4 สัญญาณล็อกดาวน์อีกรอบ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นพ.อุดม คชินทร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา


ได้เห็นการแถลงของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นสัญญาณการ “ล็อกดาวน์” เต็มรูปแบบอาจกลับมาให้เห็นอีกรอบ

โดยให้รอดูตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ หากจำนวนยังพุ่งสูงมีผู้ติดเชื้อเกิน 5 พันรายแบบนี้ ก็มีโอกาสที่ต้องควบคุมขั้นสูงสุด ก่อนที่จะเอาไม่อยู่ และเกินกำลังของระบอบสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เขาบอกว่าอยู่ในระดับที่บุคลากรทางการแพทย์รับมือได้ต้องไม่เกินจำนวน 500-1,000 คนต่อวัน

การแถลงดังกล่าวของ นพ.อุดม ส่วนหนึ่งเป็นการแถลงในนามของ ศบค. และในนามรัฐบาล ภายหลังการประชุมเรื่องวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม และมีการรายงานผลการประชุมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เรียบร้อยแล้ว และวันนี้เป็นการแถลงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบ

นพ.อุดม กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมาก แพร่กระจายถึง 96 ประเทศ สถานการณ์ในประเทศไทย เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลตา ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมาก ถ้านับเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ

สายพันธุ์เดลตา มีความสามารถ คือ 1. ระบาดเร็ว โดยสายพันธุ์อัลฟาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 60-70% แต่เดลตาระบาดเร็วกว่าอัลฟาอีก 40% จึงเป็นเหตุผลที่เราคาดการณ์ว่า 1-2 เดือน ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลตา เพราะกระจายเร็วมาก

2. ภาพรวมของเดลตา ไม่ได้มีความรุนแรงกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษ คือ ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น เกิดปอดอักเสบเร็วขึ้น ซึ่งสำหรับอัลฟา ใช้เวลา 7-10 วัน หลังติดเชื้อ ถึงจะพบอาการปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ใช้เครื่องไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลต้า ใช้แค่เวลา 3-5 วัน ก็ต้องใช้เครื่องไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจแล้ว

“เมื่อเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อมาก ก็มีความต้องการเตียงป่วยหนัก เตียงไอซียู ห้องความดันลบเพิ่มขึ้นด้วย จึงเห็นว่าตอนนี้เตียงเราตึงมาก โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดง ดังนั้น หากเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้” นพ.อุดม กล่าว

เมื่อถามว่า ตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด

ขณะนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์ กว่าจะเห็นผล 14 วัน ตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค. และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือ เพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องกับการแถลงประจำวันโดยโฆษก ศบค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ที่ระบุถึงแนวโน้มการระบาดของเชื้อโควิดจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับแนะนำให้ “สวมหน้ากากอนามัยสองชั้น” เพื่อความปลอดภัย

ดังนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่ายังอยู่ในระดับสูงมาก และเมื่อพิจารณาการจำกัดความของ นพ.อุดม คชินทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรองประธานคณะที่ปรึกษา ศบค.ที่ระบุว่า เวลานี้เรากำลังเข้าสู่การระบาดใน “รอบ 4” เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ คือ “สายพันธุ์เดลตา” ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

อย่างไรก็ดี เมื่อฟังจากคณะที่ปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ ศบค.ที่ยังต้องรอตัวเลขที่ชัดเจนภายในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ ก่อน เพื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อหลังจากผ่านไป 14 วันเสียก่อน หากยัง “เอาไมอยู่” หรือตัวเลขผู้ติดเชื้อยังกดลงมายังเกิน 1,000 รายต่อวัน มันก็เป็นไปได้ที่จะต้องกลับมา “ล็อกดาวน์” เต็มรูปแบบอีกรอบเหมือนเมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างไร นี่เป็นเพียงแนวโน้มและข้อเสนอมาจากทางฝ่ายคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ ขณะที่การตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค.จะเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น