xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยังอันดับ 1 ป่วยเพิ่ม 1,492 ตาย 33 สายพันธุ์เดลตากระจายไปหลายจังหวัด เตือนระบาดเร็ว-ติดง่าย คาดพบติดเชื้อสูงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 5,420 ราย กำลังรักษาอยู่ 65,297 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 2,350 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 643 ราย กทม. และปริมณฑลยังพบผู้ป่วยในระดับสูง พบสายพันธุ์เดลตาเริ่มต้นที่ กทม. กระจายไปหลายจังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เตือนควรเพิ่มและระมัดระวังป้องกันตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากเชื้อระบาดได้เร็วขึ้น ไม่มีอาการและมีอาการเบา และยังคงพบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด

วันนี้ (6 ก.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,420 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 5,383 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 37 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 294,790 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 3,586 ราย สะสม 227,023 ราย กำลังรักษาอยู่ 65,297 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 32,906 ราย และโรงพยาบาลสนาม 32,391 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,350 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 643 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย รวมเสียชีวิต 2,333 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 5,420 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,070 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,305 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 37 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 8 ราย

แนวโน้มใน กทม. และปริมณฑล ยังพบผู้ป่วยในระดับสูงอยู่ การพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น กทม. ผลการตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อ พบว่า มีการติดเชื้อใน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตา ในส่วนของสายพันธุ์เดลตา พบว่า มีการกระจายไปในหลายจังหวัด โดยเริ่มต้นที่ กทม. และกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ จากการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่กลับไปยังภูมิลำเนา ส่วยสายพันธุ์เบตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างน่ากังวลมากขึ้น พบการกระจายพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ยังคงเฝ้าระวังติดตาม ผู้ป่วยในสายพันธุ์นี้ต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมทั้งในประเทศขณะนี้ ประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟา เป็นหลัก มีพบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น ใน กทม. สายพันธุ์เดลตา มีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ต่างจังหวัด ยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟาเป็นส่วนใหญ่ แนวโน้มการพบสายพันธุ์เดลตา เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นควรเพิ่มและระมัดระวังป้องกันตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากเชื้อระบาดได้เร็วขึ้น แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและมีอาการเบา การพบผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 57 ราย ชาย 35 ราย หญิง 22 ราย กทม. 33 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครปฐม ระยอง ปทุมธานี ชลบุรี สงขลา สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก สมุทรสงคราม นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร นครพนม จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง มากสุดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้เสียชีวิต 7 ราย ไม่มีโรคประจำตัว อายุค่ากลาง 62 ปี อายุน้อยสุด 25 ปี อายุมากสุด 91 ปี เป็นชาวไทย 56 ราย จีน 1 ราย นอนนานสุด 61 วัน สำหรับการฉีดวัคซีนจะมีการเน้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค, ผู้สูงอายุ แต่ยังมีจำนวนน้อยอยู่

การกระจายตัวในช่วงนี้ พบการกระจายตัวไปในพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ และพบการติดเชื้อภายในครอบครัวมากขึ้น ในกลุ่มก้อนของผู้ที่เดินทางกลับจาก กทม.
ดังนั้น กลับบ้าน กลับภูมิลำเนา ขอให้แยกตัว และกักตัวเอง เพื่อป้องกันการระบาดในครอบครัว

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยโดยช่องทางธรรมชาติ

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 6 ก.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,492 ราย 2. สมุทรสาคร 398 ราย 3. สมุทรปราการ 318 ราย 4. ชลบุรี 266 ราย 5. ปัตตานี 262 ราย 6. นนทบุรี 242 ราย 7. ปทุมธานร 208 ราย 8. นครปฐม 206 ราย 9. ยะลา 135 ราย 10. สงขลา 132 ราย

ส่วนสถานการณ์ใน กทม. มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ 116 แห่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ 1 คลัสเตอร์ คือ สถาบันประสาทวิทยาฯ โดยมีคลัสเตอร์ที่ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มในรอบ 28 วัน เพิ่มขึ้น 2 คลัสเตอร์ รวมอยู่ในระดับสีเขียวแล้ว 29 คลัสเตอร์

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานผ้าอ้อม อ.เมือง
- ชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง อ.บางละมุง
- นนทบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนหลังเมเจอร์ อ.ปากเกร็ด
- ปทุมธานี พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ คือ โรงงานอะลูมิเนียม อ.ธัญบุรี, โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อ.ลาดหลุมแก้ว
- ตาก พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด ติดเชื้อแล้ว 61 ราย


ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 265,790 ราย หายป่วยสะสม 199,597 ราย เสียชีวิตสะสม 2,239 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 184,923,557 ราย อาการรุนแรง 77,740 ราย รักษาหายแล้ว 169,292,139 ราย เสียชีวิต 4,000,520 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,598,361 ราย
2. อินเดีย จำนวน 30,618,939 ราย
3. บราซิล จำนวน 18,792,511 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,786,999 ราย
5. รัสเซีย จำนวน 5,635,294 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 65 จำนวน 294,653 ราย












































กำลังโหลดความคิดเห็น