xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวสินเชื่ออิ่มใจวงเงินรวม 2 พันล้านอุ้มร้านอาหาร-เครื่องดื่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.อนุมัติมาตรการสินเชื่อ "อิ่มใจ" ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 2,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ครม. อนุมัติเงินเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด-เข้มงวด วงเงินรวม 2,500 ล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่กลับมามีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อ"อิ่มใจ" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มดังนี้

มาตรการสินเชื่ออิ่มใจ วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี (Effective Rate) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีอยู่ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 หรือโครงการอื่น ๆ ที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง เช่น สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อ Street Food เป็นต้น

กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ เพื่อปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เคาะ 2.5 พันล.เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างม.33

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท โดยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบสำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ดังนี้

1.นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม วันที่ 28 มิถุนายน 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน - 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 41,940 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง และ 2.ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคนทั้งนี้ กรณีผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น