วันนี้...ยังไงๆ คงหนีไม่พ้นต้องลองแวะไปดูการประชุม พบปะ ของบรรดาผู้นำประเทศรวยๆ หรือกลุ่มประเทศ G7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกๆกันว่า “Cornwall Summit” เมื่อช่วงวัน-สองวันมานี้ เอาไว้สักเล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าจะเป็นการประชุมที่ออกจะ “หลังเขา” อยู่มั่ง หรือที่สถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอนเขาสรุปว่า “outdated” ไปแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้นำประเทศระดับเบิ้มๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี รวมไปถึงคุณพี่ญี่ปุ่น ยี่ปุ่น ของเรา ที่ถูกลากเข้าไปร่วมหัว-จมท้ายมานานแล้ว มาพบปะเจอะเจอกันอย่างเป็นทางการ เป็นงาน-เป็นการ ยังไงๆ มันคงต้องแวะไปดู หรือไปเก็บเอาอะไรต่อมิอะไรมาเป็นข้อคิด อุทาหรณ์ไว้มั่ง แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี...
คือถ้าหากเป็นเมื่อก่อนๆ การพบปะ เจรจา พูดจา หารือ ของบรรดา “ผู้นำ” ประเทศเหล่านี้ ต้องเรียกว่า...อาจถือเป็นวาระในการชี้ชะตาโลก เป็นตัวกำหนดทิศทาง หนทาง ว่าโลกใบนี้ จะต้องเป็นไปในทางไหน อย่างไร เอาเลยถึงขั้นนั้น เนื่องจากแต่ละประเทศใน G7 ต่างก็เคยมีฐานะเป็นจ้าวอาณานิคม หรือนักล่าอาณานิคมมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น เคยครอบครอง ควบคุมโลกทั้งโลกเอาไว้ในอุ้งมือแบบชนิดจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด ไม่ก็อย่างมากแค่ขี้รดใส่มือเท่านั้นเอง แม้ว่าลัทธิอาณานิคม หรือความเป็นจ้าวอาณานิคม มันแทบไม่หลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้ต่อไปอีกแล้ว แต่โดยระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม” หรือ “เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี” ที่ถือเป็นตัว “ขับเคลื่อน” บรรดาประเทศเหล่านี้ไปด้วยกันทั้งสิ้น ก็ยังสามารถใช้ “ครอบงำ” หรือกระทั่ง “ครอบครอง” ระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การตลาด ของโลกทั้งโลกได้อยู่ดี การพบปะเจรจาของผู้นำทั้ง 7 รายที่ว่านี้ จึงถือเป็นวาระในการชี้ขาด ชี้วัดตัดสิน ชะตากรรมของโลกทั้งโลก ในแต่ละช่วง แต่ละระยะ เอาเลยก็ว่าได้...
แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ...โลกช่วงนี้ ค่อนข้างเปลี่ยนไปเยอะแล้ว!!! ไม่เพียงแต่ความเป็นจ้าวอาณานิคมแทบไม่หลงเหลือ หาทำยาอะไรแทบไม่ได้ แม้แต่ความเป็น “ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม” หรือระบบ-ระเบียบทางเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” ไปจนกระทั่งแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยมทางสังคม ก็ยังออกอาการ “เสื่อมลงๆ” หรือ “Westlessness” ลงไปตามลำดับ การพบปะของบรรดา 7 ผู้นำในคราวนี้ จึงออกอาการงึมๆ งัมๆ อ้อๆ แอ้ๆ แบ๊ะๆ แบ๋ๆ อย่างเห็นได้โดยชัดเจน แม้จะมี “ศัตรู” “คู่แข่ง” หรือ “ศัตรูร่วม” ให้จำต้องหาทางรวมตัว ร่วมมือ-ร่วมไม้ ระหว่างกันและกันก็ตาม อย่างประเภทคุณพี่จีน หรือคุณน้ารัสเซีย เป็นต้น แต่นั่นก็ดูจะไม่ช่วยให้เกิดความคึกๆ คักๆ ความกระเหี้ยนกระหือรือในการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม ได้อย่างเป็นจริง-เป็นจัง หรือเอาจริง-เอาจัง มากมายสักเท่าไหร่นัก...
คือแม้ว่าผู้นำประเทศมหาอำนาจสูงสุด อย่างคุณพ่ออเมริกา โดยเฉพาะในยุค “ผู้เฒ่าโจ” ท่านพยายาม “ปลุกระดมมวลชน” คราวแล้ว คราวเล่า ให้ร่วมมือกัน “ปรับปรุง” ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะด้วยกรรมวิธี “The Great Reset” หรือ “Build Back Better” ก็ตามที แล้วอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธ ในการเอาชนะมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียลงไปให้จงได้ แต่เพียงแค่ความพยายามที่จะบรรจุถ้อยคำ “ประณาม” การบังคับใช้แรงงาน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงของจีน ไว้ใน “แถลงการณ์ร่วม” ของกลุ่มประเทศ G7 คราวนี้ ก็ดูจะไม่ได้รับการตอบรับ ตอบสนองมากมายสักเท่าไหร่ รัฐบาลใหม่ หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี อย่าง “นายMario Draghi” แม้พยายามแสดงท่าทีที่จะลดความโปรจีนลงไปจากรัฐบาลเดิมๆ อยู่มั่ง แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะระมัดระวังไม่ให้ท่าทีเหล่านี้ หมายถึงการ “ต่อต้านจีน” หรือยังต้องยอมรับในการให้ความร่วมมือกับปักกิ่งโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต่อไป อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...
เช่นเดียวกับผู้นำเยอรมนี ที่พยายามเตือนๆ บรรดาสมาชิก G7 ทั้งหลาย ให้ระมัดระวังการ “เผชิญหน้าปักกิ่ง” แทนที่จะเป็นแค่การ “แข่งขัน” แต่เพียงเท่านั้น ดังนั้น...ความพยายามที่จะนำเสนอแผนการ โครงการที่เรียกๆ กันว่า “Build Back Better for the World” หรือ “B3W”เพื่อสู้กับอภิมหาโครงการของจีนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว นั่นคือโครงการ “BRI” หรือ “Belt and Road Initiative” ซึ่งมีประเทศเกือบ 200 ประเทศให้ความร่วมมืออยู่จนทุกวันนี้ จึงออกไปทางอ้ำๆ อึ้งๆ หรืออู้อี้ๆ อยู่พอสมควร หรือถูกสรุปว่าเป็นแค่ความพยายามนำเสนอ “ทางเลือก” ให้กับบรรดาประเทศต่างๆ ไม่ว่าในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ละตินอเมริกา นำไปพิจารณาในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องหันไปพึ่งพาเงินทุนจากจีน อะไรประมาณนั้น...
แต่นั่นจะทำให้บรรดาประเทศต่างๆ...ได้จังหวะ ได้โอกาส ที่จะหันเหจากจีนแล้วหันมาซบอกอเมริกา หรือซบอกบรรดาประเทศ G7 กันอย่างเต็มอก-เต็มใจ หรือไม่? อย่างไร? อันนี้...คงต้องคอยติดตามกันต่อไปเป็นระยะๆ เพราะถ้าว่าไปแล้วการหันเหจากประเทศหนึ่ง ประเทศใด แล้วหันไปซบอกประเทศหนึ่ง ประเทศใด มันอาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง “เงินๆ-ทองๆ” ไปซะทั้งหมด ไม่ว่าประเทศรวยๆ อย่าง G7 พยายามจะหันมา “เสี่ยสั่งลุย” เพื่อสู้กับเงินทุนของจีนกันโดยเฉพาะ ถึงขั้นว่าพร้อมจะทุ่มเม็ดเงินระดับ 40 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวไปถึงปี ค.ศ. 2035 โน่นเลย หรือเฉพาะคุณพ่ออเมริกา ก็กะจะทุ่มทุนถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ตามโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของ “ผู้เฒ่าโจ” ที่ยังไม่รู้ว่าจะผ่านสภา ผ่านมติ ของทั้ง ส.ส.เดโมแครตและรีพับลิกัน ที่ต่างเติบโตมาจาก “ประชาธิปไตยของพ่อค้า-โดยพ่อค้า-แลเพื่อพ่อค้า” กันได้แบบไหน? อย่างไร?...
เพราะอย่างที่โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอน เขาได้ออกมาให้ความคิด ความเห็น ถึงความพยายามกำหนดชะตากรรมของโลก ภายใต้กลุ่มประเทศที่เรียกว่า G7 คราวนี้นั่นแหละว่า เอาไป-เอามาแล้ว...ด้วยเหตุเพราะ “วัน-เวลา...ที่โลกจะถูกตัดสิน ด้วยการควบคุม บงการของกลุ่มประเทศเล็กๆ แค่ไม่กี่ราย มันได้ผ่านพ้นไปแล้ว” สิ่งที่โลกทั้งโลกปรารถนาและต้องการ ณ ช่วงเวลาขณะนี้ มันจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องเงินๆ-ทองๆ แต่เพียงเท่านั้น แต่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความถูกต้อง” และ “เป็นธรรม” ควบคู่ไปด้วยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ หรือ “สำหรับเราแล้ว...เราเชื่อเสมอว่า บรรดาประเทศต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ รวยหรือจน ต่างมีค่าเท่ากัน และกิจการของโลกทั้งมวล ควรอยู่ภายใต้การวินิจฉัยชี้ขาดร่วมกันของบรรดาเขาเหล่านั้น...”นี่...เรียกว่าเกทับบลัฟแหลก กันเห็นๆ...
แต่เอาเป็นว่า...การหันมา “เสี่ยสั่งลุย” ของบรรดาประเทศ G7 เพื่อสู้กับ “คู่แข่ง”อย่างจีนในคราวนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร อันนี้...คงต้องลองหันไปฟังข้อสรุป จาก “นักวิจัย” 2 ราย ที่เคยทำวิจัยเรื่องโครงการ “Belt and Road” เอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 นั่นคือ “Frans-Paul van der Putten” แห่งสถาบัน “Clingendael” และ “Minke Meijnders” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ได้ระบุเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้วว่า... “การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในภูมิภาคต่างๆ (โครงการBRI) ของจีน ไม่ได้เป็นแค่ความมุ่งหวังทางการค้า หรือการลงทุนเพียงอย่างเดียวล้วนๆ แต่ยังมุ่งที่จะยกระดับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน รวมทั้งการขจัดภัยคุกคามต่างๆ ไปจนกระทั่งการลดแรงกดดันของสหรัฐฯ และมหาอำนาจรายอื่นๆ ที่มุ่งกระทำต่อจีนอีกด้วยต่างหาก ดังนั้น...ถ้าหากจำนวนประเทศต่างๆ ที่หันมาร่วมมือกับจีนเพิ่มมากขึ้นไปเท่าไหร่ ฉากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่าที่เคยเป็นมาในอดีต ย่อมหนีไม่พ้นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในช่วงอนาคตข้างหน้าอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น บทบาทของยุโรปและอเมริกา ที่เคยมีฐานะเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ต่อประเทศในเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา มีแต่ต้องเสื่อมถอยลงไปตามลำดับ ตำนานแห่งความเป็น...อาณานิคม...จะถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ของการอุบัติขึ้นมาแห่งศูนย์กลางเครือข่ายใหม่ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่ได้ก่อตัวขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกนี้ เป็นเวลาเกือบทศวรรษมาแล้วเห็นจะได้...”หรือพูดง่ายๆ ว่า มันน่าจะช้าไปแล้ว หรือสายไปแล้วต๋อย สำหรับการคิดจะอาศัยความร่ำรวยของกลุ่มประเทศ G7 ชี้นำและบงการใครต่อใครได้แบบเดิมๆ...