xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำจี7 ปิดประชุมซัมมิต คุยโวตกลงแผนปฏิบัติการเรื่อง ‘วัคซีนสู้โควิด’ และ ‘โลกร้อน’ พร้อมจัดขบวน‘ตะวันตก’เผชิญหน้า จีน-รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหล่าผู้นำของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมของโลก (จี7) ประกาศลั่นเมื่อวันอาทิตย์ (13 มิ.ย.) ว่า กำลังเริ่มต้นส่งวัคซินโควิดจำนวน 1,000 ล้านโดสให้แก่พวกประเทศยากจน รวมทั้งจะเพิ่มการปฏิบัติการในเรื่องการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในตอนท้ายของการประชุมซัมมิตเป็นเวลา 3 วันที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้โลกตะวันตกเตรียมตัวเข้าเผชิญหน้ากับจีนและรัสเซีย

ในแถลงการณ์สุดท้ายที่ออกมา ณ การประชุมซุมมิตแบบพบปะกันตัวเป็นๆ ครั้งแรกสุดในรอบระยะเวลาเกือบๆ 2 ปี บรรดาผู้นำของชาติมั่งคั่งร่ำรวยเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วพากันเห็นพ้องกับความพยายามผลักดันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในการมุ่งกอบกู้โลกตะวันตกที่มีความเกาะเกี่ยวผูกพันกันให้หวนกลับคืนมา หลังจากช่วงสมัยแห่งการครองอำนาจที่เต็มไปด้วยความอึกทึกสับสนของ โดนัลด์ ทรัมป์

“เราจะใช้ประโยชน์จากพลังอำนาจของประชาธิปไตย, เสรีภาพ, ความเสมอภาค, หลักนิติธรรม, และความเคารพในสิทธิมนุษยชน มาเป็นคำตอบแก่พวกคำถามใหญ่โตที่สุดทั้งหลาย และเอาชนะอุปสรรคความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดทั้งหลาย” ไบเดนและเหล่าผู้นำจากสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, และญี่ปุ่น ระบุในแถลงการณ์สุดท้าย

ขณะที่ ณ การประชุมแถลงข่าวของ จี7 ก่อนที่ไบเดนจะมุ่งหน้าเดินทางต่อไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ตลอดจนเข้าเจรจาแบบประจันหน้ากันกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประมุขสหรัฐฯบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า บรรดาเพื่อนผู้นำของเขาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “อเมริกากลับมาแล้วที่โต๊ะเจรจา และเข้ามีส่วนร่วมด้วยอย่างเต็มที่”

เขากล่าวต่อไปว่า การป้องกันร่วมกันขององค์การนาโต้ ถือเป็น “พันธะผูกพันอันศักดิ์สิทธิ์” สำหรับสหรัฐฯ พร้อมกันนั้นก็ระบุว่าระบอบประชาธิปไตยต่างๆ กำลังอยู่ใน “การแข่งขันชิงชัยกับพวกระบอบเผด็จการ” ถึงแม้เขายืนยันด้วยว่า วอชิงตันไม่ได้กำลังเสาะแสวงหา “ความขัดแย้ง” กับปักกิ่งหรือมอสโก

ทางด้านนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่จัดขึ้นที่รีสอร์ตริมอ่าวคาร์บิส ในเทศมณฑลคอร์นวอลล์ ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองอังกฤษ ได้พูดยกย่องไบเดนว่า เป็น “อากาศอันสดชื่นเฮือกใหญ่” และบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวในวันอาทิตย์เช่นกันว่า จี7 ยืนหยัดสามัคคีกันอีกครั้งใน “ค่านิยมต่างๆ แบบประชาธิปไตย” ของตน

ขณะเดียวกัน อังเกลา แมร์เคิล ผู้เข้าร่วมซัมมิต จี7 เป็นหนสุดท้ายของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็พูดถึงไบเดนว่า ได้นำเอา “โมเมนตัมใหม่ๆ” เข้ามาช่วยแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของโลกในช่วง 3 วันที่หารือกันครั้งนี้

อย่างไรก็ดี คำมั่นสัญญาของพวกผู้นำ จี7 เหล่านี้ ในการส่งวัคซีนให้แก่ชาติยากจนทั้งหลาย ยังห่างไกลนักจากจำนวน 11,000 ล้านโดส ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มรณรงค์ต่างๆ ระบุว่าจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อให้ยุติโรคระบาดใหญ่ลงไปได้อย่างแท้จริง ภายหลังได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบๆ 4 ล้านคน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกพังยับเยิน

ในทำนองเดียวกัน คำมั่นสัญญาของ จี7 ที่จะส่งความช่วยเหลือให้มากขึ้นแก่พวกประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ได้รับความกระทบกระเทือนหนักที่สุดจากภาวะโลกร้อน ตลอดจนจนเรื่องที่พวกเขาจะลดทอนการลงทุนในเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลงไปเป็นขั้นๆ ก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมาตรการที่ยังคงน้อยเกินไปและล่าช้าเกินไป ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตภูมิอากาศที่สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้

“ซัมมิต จี7 ครั้งนี้จะถูกเล่าขานกันต่อไปด้วยชื่อเสียงในทางเลวร้าย” แมกซ์ ลอว์สัน หัวหน้าทางด้านนโยบายไม่เสมอภาค ขององค์การการกุศล “ออกซ์แฟม” กล่าววิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

“ทั้งๆ ที่เผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ และความหายนะทางภูมิอากาศที่กำลังทำลายพิภพของเราอยู่ พวกเขากลับบกพร่องล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบในการเผชิญกับความท้าทายแห่งยุคสมัยของเราเหล่านี้”

อินเดีย กับ แอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมบางช่วงบางวาระของการเจรจาระหว่างผู้นำ จี7 คราวนี้ ได้พยายามกดดันให้ที่ประชุมยินยอมยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนต่างๆ ที่โลกตะวันตกคิดค้นขึ้น ทว่าสหราชอาณาจักรกับเยอรมนีถูกระบุว่าเป็นชาติที่คัดค้านเรื่องนี้มากกว่าใครเพื่อน

กลุ่มรณรงค์ต่างๆ ยังพากันโวยเรื่องที่ จี7 ล้มเหลวไม่ได้มีการระบุให้ชัดเจนว่าพวกเขาจะมีส่วนออกเงินช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สำหรับข้อตกลงใหม่ๆ ของพวกเขาที่ตั้งชื่อว่า “Nature Compact” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพิทักษ์พื้นดินและท้องทะเลมหาสมุทรราว 30% ของโลกเอาไว้จากการถูกฉกชิงย่ำยีให้ได้ภายในปี 2030

ทางเลือกเพื่อสู้กับ แผน“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

จอห์นสันยังพยายามโน้มน้าวจูงใจให้เห็นว่า คำมั่นสัญญาของ จี7 ที่จะหาทางให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าโรงเรียนได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านคนในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูบูรณะภายหลังโรคระบาดใหญ่

เขาบอกว่า แผนการริเริ่มเช่นนี้จะเป็นการนำเอาเจตนารมณ์ของโลกตะวันตกที่จะส่งเสริมสนับสนุนค่านิยมต่างๆ ในทางประชาธิปไตยเข้าสู่การปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง “กำลังช่วยเหลือพวกประเทศยากจนที่สุดของโลกให้พัฒนาพวกเขาเอง ไปในหนทางที่สะอาดและเขียวขจีและยั่งยืน”

สำหรับ จี7 แล้ว คุณงามความดีเหล่านี้ไม่มีข้อไหนเลยที่มีอยู่ในแผนการริเริ่มทางโครงสร้างพื้นฐาน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ของจีน โดยที่แผนการนี้ถูกฝ่ายตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าเป็นการหลอกล่อให้พวกประเทศเล็กๆ ตกลงสู่กับดักแห่งหนี้สิน ซึ่งพวกเขาไม่สามารถบริหารจัดการได้หวาดไหว

แทนที่จะให้เป็นเช่นนั้น ซัมมิตจี7 ครั้งนี้ได้รับเอาแผนการริเริ่มของสหรัฐฯ ที่จะนำเอาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์มา “ทำการเร่งปฏิกิริยาร่วมกัน” เพื่อให้เป็นแผนการคู่แข่งของทางฝ่าย จี7 โดยจะใช้ชื่อว่า โครงการ “Build Back Better World” (สร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม) ทั้งนี้การใช้ตัวย่อว่า B3W ถูกมองว่าคือการมุ่งยั่วเย้าแข่งขันกับ BRI อยู่ในที

ไบเดนพูดถึง B3W ว่า เป็น “คำมั่นสัญญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ซึ่งจะ “มีความป็นธรรมมากกว่านักหนา” กับแผนการริเริ่มของจีนที่เที่ยวปล่อยกู้อย่างไม่รับผิดชอบในโลกกำลังพัฒนา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (12) ทำเนียบขาวได้เผยแพร่เอกสารข้อเท็จจริงสั้นๆ เกี่ยวกับ B3W ที่ระบุว่า แผนการริเริ่มนี้จะเสนอความเป็นหุ้นส่วนที่โปร่งใสในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างของการลงทุนทางด้านนี้ที่บรรดาชาติกำลังพัฒนาจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนสูงถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035

เอกสารข้อเท็จจริงสั้นๆ ของทำเนียบขาวบอกด้วยว่า จี7 และบรรดาพันธมิตรของตน จะใช้แผนการริเริ่ม B3W เพื่อระดมเงินทุนของภาคเอกชนมาใช้ในด้านต่างๆ อย่างเช่น ภูมิอากาศ, สุขภาพและความมั่นคงทางสุขภาพ, เทคโนโลยีดิจิตอล, ตลอดจนความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางเพศภาวะ

ระหว่างการแถลงข่าวภายหลังปิดประชุมซัมมิต จี7 ครั้งนี้ ไบเดนยังกล่าวสำทับว่า “จีนจำเป็นต้องเริ่มต้นปฏิบัติตัวอย่างรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ในแง่ของบรรทัดฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใส ขณะที่แถลงการณ์สุดท้ายของพวกผู้นำ จี7 ก็มีข้อความที่ประณามปักกิ่งในเรื่องการละเมดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและฮ่องกง

ทางด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวระหว่างการแถลงข่าวคราวนี้ แสดงความยินดีกับการฟื้นขึ้นมาของ จี7 ภายใต้ไบเดน ในฐานะที่เป็น “การชุมนุมของระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย” แต่เขาบอกด้วยว่า ฝ่ายตะวันตกยังคงต้องทำงานกับปักกิ่ง

กระนั้นก็ตาม จี7 เสี่ยงที่จะโหมเพลิงความตึงเครียดให้เข้มข้นขึ้นอีก ด้วยการกดดันจีนอนุญาตให้คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปอีกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19

การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย

เหล่าผู้นำ จี7 ยังเรียกร้องรัสเซีย “ให้คำอธิบายอย่างน่าเชื่อถือ” ในเรื่องการใช้สารเคมีมีพิษร้ายแรงในดินแดนของตน, ยุติ “การปราบปรามอย่างเป็นระบบ” ต่อกลุ่มฝ่ายค้านและสื่อมวลชน, และนำเอาพวกแฮ็กเกอร์ที่กำลังก่อเหตุโจมตีเรียกค่าไถ่ มาลงโทษตามความผิด

ไบเดนนั้นมีกำหนดจะพบกับปูตินในวันพุธ (16) นี้ที่เจนีวา และบอกว่าเขาจะ “ทำให้ตัวผมเองมีความชัดเจนอย่างมากๆ ว่า ในการทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับรัสเซียนั้น ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง”

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)




กำลังโหลดความคิดเห็น