xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"กระท่อม"พ้นตราบาป ปีศาจร้าย ยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมการการเมือง




ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตั้งแต่ปี 2486 จนถึงวันที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2564 ว่า พืชกระท่อม ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ และสามารถบังคับใช้ได้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศ

นั่นคือมีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

นับเป็นการสิ้นสุด 78 ปี ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม

จุดเปลี่ยนสำคัญของพืชกระท่อมอยู่ในปี 2522 ที่กลายเป็นยาเสพติดร้ายแรง กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

“ผู้ใดผลิตจำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2–5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 –150,000 บาท ครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษคือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย


ความล้าหลังของกฏหมายไทยเกี่ยวกับพืชกระท่อมหรือใบกระท่อมที่ถูกตีตราให้เป็นยาเสพติดต้องห้าม ได้มาตื่นตัวขึ้นเมื่อปี 2559

เมื่อมหาวิทยาลัยชิบะและมหาวิทยาลัยโจไซ แห่งญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัยเพื่อต่อยอดการใช้สารมิตราจีนายน์ ( Mitragynine)ในใบกระท่อมเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางยาในรูปแบบต่างๆ และได้จดสิทธิบัตรไว้ ทั้งตัวสารและกระบวนการผลิตสารกลุ่มดังกล่าว

จนทำให้เกิดกระแสข่าวประเทศญี่ปุ่นขอสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT)นำสารบางอย่างที่ได้จากใบกระท่อมไปใช้ ทั้งที่เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นำไปสู่คำถามว่า หากไทยจะปลดล็อกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด มาใช้ทางการแพทย์ในอนาคตจะทำได้จริงหรือ?

สุดท้าย "อภิรดี ตันตราภรณ์" รมว.พาณิชย์ ในขณะนั้นได้ออกมาระบุว่า เชื่อมั่นว่าไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และเป็นสมาชิกข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (CBD)ถ้าใครจะนำพืชสมุนไพรไทยไปต่อยอด ต้องได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทย

ขณะเดียวกัน บริษัทยาข้ามชาติไม่สามารถตั้งฐานการผลิตยาที่สกัดจากใบกระท่อมได้ เพราะตามกฎหมายไทยยังถือเป็นสารเสพติดให้โทษ ห้ามผลิตจำหน่ายในประเทศ และห้ามนำเข้าตั้งแต่ต้น

หลังจากนั้นก็มีความพยายามในทุกฝ่ายที่จะปลดล็อกให้พืชกระท่อมหลุดออกจากบัญชียาเสพติด และใช้เวลาถึง 5 ปีเต็มจึงสำเร็จในปัจจุบันนี้

หากว่าไปแล้ว กฎหมายในหลายข้อของไทยที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั้นค่อนข้างล้าหลังและไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นของสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก

พืชกระท่อม จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความล้มเหลวเรื่องนี้ที่ไทยมีเพียงหนึ่งในโลก เรื่องยาเสพติดใบกระท่อม

เพราะการควบคุมในต่างประเทศ สหประชาชาติ (UN)มิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย คือ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีพืชกระท่อมเป็นพืชประจำถิ่นเช่นเดียวกับไทย พืชกระท่อมที่อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศเหล่านี้ และประชาชนบางกลุ่มก็นิยมบริโภคในรูปของใบสดเพื่อกระตุ้นในการทำงาน

มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดให้ต้นกระท่อมเป็นพืชหวงห้าม จะตัดฟันต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดปัญหาว่าหากประชาชนมีต้นกระท่อมอยู่ในสวนหรือที่ดินก็จะไปตัดโดยพลการไม่ได้

เรียกว่าควบคุมกันซ้ำซากด้วยกฎหมายล็อกไว้ถึง 2 ฉบับ

ทั้งที่ว่ากันที่จริงแล้ว เหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแท้ที่จริงการตราพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่

รัฐบาลไทยก็ยังใช้พืชกระท่อมเป็นปีศาจร้ายในฐานะยาเสพติดอย่างมิยอมปล่อยวางมาทุกยุคสมัย ในรอบทศวรรษล่าสุดก็มีน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก ยากันยุง และยาแก้ไอ เป็นสูตรน้ำยาเสพติดประยุกต์ 4×100ที่กลายเป็นสารร้ายแรงซึ่งนิยมแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน

เนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่นในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

การกระพือโหมกระท่อมสูตร 4X100 ทำให้ภาพลักษณ์ของกระท่อมดูแย่ลงไปในอีกมิติหนึ่งในฐานะยาเสพติดให้โทษ

ในความเป็นจริงหากเอามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก พืชกระท่อมไม่อยู่ในข่ายของการเป็นยาเสพติดที่จะต้องควบคุม คือ1. เมื่อไม่ได้เสพแล้วก่อให้เกิดอาการขาดยา 2. มีประโยชน์ทางการแพทย์น้อยหรือไม่มีเลย 3. ก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข 4. ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม

ในทางตรงกันข้าม ใบกระท่อมเป็นยอดสมุนไพรชูกำลัง ทนแดด ลดหวาน แก้ปวด งานวิจัย ‘บทสรุปพืชกระท่อม’ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการอ้างงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้านใน 14 จังหวัดภาคใต้ไว้ว่า โรค 5 อันดับแรกที่หมอพื้นบ้านเลือกใช้พืชกระท่อมมาเป็นยารักษาโรค ได้แก่ ท้องร่วง, เบาหวาน, ปวดเมื่อย, แก้ไอ, และขับพยาธิ แก้ปวดท้อง นอนไม่หลับ

นอกจากนั้นยังมีการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระดับมิตราไกนีน (Mitragynine)ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำ ไม่มีผลต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้านความคิดและการรับรู้ ความจำ รวมไปถึงทักษะด้านความคิดเชิงบริหาร การทำงานของสมอง และระบบประสาทอัตโนมัติแต่อย่างใด ดังที่ภาครัฐยัดเยีดให้กับคนเสพใบกระท่อมมาตลอดตั้งแต่อดีต

ทางการแพทย์ทั้งแผนโบราณและปัจจุบันต่องยอมรับกันว่า กระท่อมมีฤทธิ์เสพติดน้อย แม้จะใช้มานานจนติด แต่การถอนยานั้นหมอยาบอกว่าไม่ต่างจากการเลิกกินหมาก หรือกาแฟ

เกือบ 8 ทศวรรษที่พืชกระท่อมโดนตีตราบาปเป็นยาเสพติด และถูกนำไปเป็นเครื่องมือในเรื่องภาษีฝิ่นของภาครัฐในยุคแรก แม้ยุคสมัยเปลี่ยนและมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางสาธารณสุขเข้ามาจากงานวิจัย แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังยืนยันใช้กฎหมายล้าหลัง และไม่เอื้อต่อการพัฒนาพืชที่มีคุณค่าชนิดนี้เฉกเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดกับกัญชาที่ถูกจัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 5

วันนี้ พืชกระท่อม สามารถหลุดออกจากคราบปีศาจร้ายยาเสพติดได้แล้ว และจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจทางด้านอายุรกรรมต่อไปในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น