xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝรั่งเศสกับเศษฝรั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ตอนที่ผมรู้จักประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกไม่สู้จะน่าประทับใจเท่าไหร่...

 คือรู้จักผ่านการเรียนในห้องเรียนชั้นประถมศึกษา ว่าฝรั่งเศสเป็นชาติหนึ่งที่หมายมุ่งจะเอาไทยเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่สำเร็จ โดยทั้งก่อนนั้นฝรั่งเศสได้ชาติอื่นมาเป็นเมืองขึ้นแล้วหลายประเทศพอๆ กับอังกฤษ 


และพอพูดถึงอังกฤษที่มีพฤติกรรมล่าเมืองขึ้นไม่ต่างกับฝรั่งเศสแล้ว ผู้ใหญ่สมัยก่อนเคยเล่าให้ฟังว่า อังกฤษดีกว่าฝรั่งเศสตรงที่ยังสร้างความเจริญให้กับเมืองขึ้นบ้าง แต่ฝรั่งเศสกลับไม่ได้สร้างอะไรมากนัก ได้แต่เอาทรัพยากรของเมืองขึ้นไปถ่ายเดียว

จริงเท็จอย่างไรผมเองก็ไม่มีเวลาไปสืบค้น รู้แต่ว่า พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นแล้วผมก็พบว่า อังกฤษก็ไม่ได้ดีไปกว่าฝรั่งเศส โดยเฉพาะนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ที่นำไปใช้กับชาติเมืองขึ้นจนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนทุกวันนี้ อย่างปัญหาในเมียนมาปัจจุบันส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อย หรือปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งก็แยกไม่ออกจากนโยบายดังกล่าวที่อังกฤษทิ้งไว้ให้

ส่วนฝรั่งเศสนั้นทุกวันนี้แม้ลัทธิอาณานิคมแบบเก่าจะเสื่อมถอยลงมากแล้วก็ตาม แต่ฝรั่งเศสก็ยังได้ผลประโยชน์จากอาณานิคมหรืออดีตอาณานิคมของตนอยู่เสมอ

แต่พอผมโตเป็นวัยรุ่นขึ้นมาและเรียนสูงขึ้น ความรับรู้เกี่ยวกับฝรั่งเศสของผมก็เปลี่ยนไป

ตอนนั้นผมก็ไม่ต่างกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้หันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง ครั้นเวลาผ่านไปไม่กี่นานปี การเมืองที่ตนสนใจก็เปลี่ยนมาเป็นการฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยม ซึ่งเวลานั้นกำลัง  “ขึ้นหม้อ” ไปแทบทั่วโลก เพราะขบวนการสังคมนิยมได้รับชัยชนะทางการเมืองในหลายประเทศ ในขณะที่ชาติเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกลับตกต่ำเสื่อมถอย

ด้วยความที่สนใจในลัทธิสังคมนิยมดังกล่าว ทำให้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือในแนวดังกล่าวที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในเวลานั้นอยู่ไม่น้อย แน่นอน ส่วนหนึ่งของหนังสือในแนวนี้ย่อมต้องมีหนังสือแนวประวัติศาสตร์รวมอยู่ด้วย คือประวัติศาสตร์ของฝ่ายสังคมนิยมหรือฝ่ายซ้าย

และเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ในส่วนที่ว่าแล้วก็ย่อมมีฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 ตอนนั้นฝรั่งเศสที่ผมรู้จักเป็นฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยอนาคตอันรุ่งโรจน์สำหรับซ้ายไทย พวกเราที่เป็นซ้ายด้วยกันมีความประทับใจในฉายาของฝรั่งเศสที่ว่าเป็น “ดินแดนแห่งการปฏิวัติ” จนมีความใฝ่ฝันกันว่า หากเป็นไปได้เราจะไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส 

ผมจำได้ดีว่า อดีตผู้นำคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียที่ชื่อ  วลาดีมีร์ อิลลิช อุลยานอฟ (Vladimir Ilyich Ulyanov, ค.ศ.1870-1924)  หรือที่รู้จักกันในชื่อ เลนิน (Lenin)  ได้เคยกล่าวไว้ในบทนิพนธ์เรื่อง  แหล่งที่มา 3 แห่ง และองค์ประกอบ 3 ส่วนของลัทธิมาร์กซ  ว่า

 “...คำสอนของมาร์กซเป็นสิ่งสืบทอดที่ต้องตามทำนองคลองธรรมของผลงานอันยอดเยี่ยม ที่มนุษยชาติได้สร้างไว้ในศตวรรษที่ 19 นั่นคือ ปรัชญาของเยอรมัน เศรษฐศาสตร์การเมืองของอังกฤษ และสังคมนิยมของฝรั่งเศส...” 

แค่เห็นมาร์กซระบุว่า “สังคมนิยมของฝรั่งเศส” พวกเราก็คิดไปไกลแสนไกลแล้วว่า ถ้าเป็นสังคมนิยมแล้วละก็ต้องฝรั่งเศสเท่านั้น และพออ่านไปถึงตอนที่มาร์กซกล่าวถึงฝรั่งเศสเป็นการเฉพาะด้วยแล้วก็ยิ่งตื่นเต้น คือมาร์กซกล่าวว่า 

 “...การปฏิวัติอันคึกโครมในประเทศต่างๆ ในยุโรป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส ซึ่งตามมากับการพังทลายของระบอบศักดินาหรือระบอบทาสกสิกรนั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นทุกวันว่า  การต่อสู้ทางชนชั้น เป็นพื้นฐานและเป็นพลังดันของวิถีดำเนินแห่งการพัฒนาทั้งกระบวน...”  

จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไรก็ในเมื่อมาร์กซพูดยังกะแนะนำว่า ถ้าอยากรู้ว่าการปฏิวัติอันคึกโครมเป็นอย่างไร ก็ให้เรียนรู้จากฝรั่งเศส และการปฏิวัติที่ว่านั้นก็คือ การต่อสู้ทางชนชั้น

จะเห็นได้ว่า ฝรั่งเศสที่พวกเรารู้จักเป็นคนละฝรั่งเศสกับที่เราเคยเรียนในโรงเรียน ที่ว่าเป็นนักล่าอาณานิคมที่น่ารังเกียจ ฝรั่งเศสที่เรารู้จักตอนเป็นซ้ายคือฝรั่งเศสที่เราอยากไปอบรมบ่มเพาะเพื่อเป็นนักปฏิวัติ ให้สมกับที่เป็นดินแดนแห่งการปฏิวัติ

 ยิ่งตอนนั้นซ้ายไทยใกล้ชิดกับซ้ายจีนด้วยแล้ว ซ้ายจีนก็ช่วยตอกย้ำให้ความรู้สึกที่มีต่อฝรั่งเศสของพวกเราลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่า แกนนำหลายคนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยไปศึกษาที่ฝรั่งเศสก่อนที่จะกลับมาเป็นนักปฏิวัติ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล (ค.ศ.1898-1976) หรืออดีตผู้นำสูงสุดอย่างเติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ.1904-1997) เป็นต้น 

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผมกำลังสนใจฝรั่งเศสอยู่นั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยก็กำลังสนใจติดตามดูละครซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง  เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980)  ผมซึ่งเป็นซ้ายที่ได้ดูละครชุดนี้เป็นบางครั้งบางคราวอดรู้สึกปลื้มไม่ได้ เมื่อตอนใกล้จบของละครชุดนี้บอกให้รู้ว่า นางเอกที่กำลังบอบช้ำจากความรักจะเดินทางไปศึกษาต่อยังฝรั่งเศส

ผมคิดเอาเองว่า ในเมื่อนางเอกของเรื่องเป็นผู้สนใจการเมืองเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว เมื่อเธอจบจากฝรั่งเศสกลับมาเธอต้องเป็นนักปฏิวัติอย่างแน่นอน

ที่คิดเช่นนั้นก็เพราะตอนที่นางเอกบอกว่าจะไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสนั้น ผมสังเกตเห็นว่า นางเอกเดินถือหนังสือนิยายที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น (ทศวรรษ 1920 อันเป็นช่วงเวลาที่ละครชุดนี้ใช้ในการดำเนินเรื่อง) เรื่อง  เจีย (บ้าน, Family)  ของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้านามอุโฆษของจีนในยุคนั้นคือ  ปาจิน (ค.ศ.1904-2005) 

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ผมก็ยิ่งตื้นเต้นปนอิจฉาเมื่อรู้ว่า มีอดีตแกนนำนิสิตนักศึกษาทั้งที่ออกจากป่าและไม่ได้เข้าป่าไปปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เดินทางไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส

แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่ได้ไปฝรั่งเศสกับเขาสักที

และแล้ววันเวลาที่ผ่านไปก็นำพาผมให้มามีอาชีพนักวิชาการ จากอาชีพนี้ประกอบกับนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็ก ทำให้ผมเจียดเวลาช่วงหนึ่งมาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับฝรั่งเศสด้วยความอยากรู้ว่า ที่ว่าฝรั่งเศสเป็นดินแดนแห่งการปฏิวัตินั้น มันเป็นฉันใดกันแน่ ถึงแม้ตอนนั้นความรู้สึกที่มีต่อฝรั่งเศสไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้วก็ตาม
แน่นอน คราวนี้ผมไม่ได้อ่านหนังสือของฝ่ายซ้าย แต่อ่านหนังสือวิชาการ พออ่านแล้วก็พบว่า ฝรั่งเศสสมกับที่เป็นดินแดนแห่งการปฏิวัติจริงๆ แต่เป็นการปฏิวัติที่เต็มไปด้วยรายละเอียดจนกล่าวได้ว่า หากมิใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝรั่งเศสแล้วก็ยากที่จะจำรายละเอียดที่ว่าได้

ที่สำคัญ การปฏิวัติฝรั่งเศสมิได้มีแง่มุมที่รุ่งโรจน์ดังที่ผมถูกทำให้เข้าใจเมื่อสมัยวัยรุ่น มโนภาพที่มีต่อฝรั่งเศสตามที่ผมพรรณนาเอาไว้ข้างต้นได้สลายลงบางส่วน เมื่อผมพบว่า ท่ามกลางรายละเอียดอันมากมายของการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น หลายช่วงเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ กลับเต็มไปด้วยการนองเลือดจนสัมผัสได้ถึงความสยดสยอง

และเอาเข้าจริงแล้วมันไม่อาจเรียกว่าเป็นการปฏิวัติด้วยซ้ำไป เพราะหลายครั้งหลายเหตุการณ์คือ การรัฐประหาร ที่ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงอำนาจกันมากกว่าที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือว่า ตลอดห้วงที่ฝรั่งเศสกำลังเป็นดินแดนแห่งการปฏิวัตินั้น ในอีกด้านหนึ่งฝรั่งเศสก็ตั้งหน้าตั้งตาล่าอาณานิคมไปด้วย

และไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของฝรั่งเศส

ด้วยเหตุนั้น ผมจึงค่อนข้างโชคดีที่รู้จักฝรั่งเศสในขณะที่อยู่ในวัยหนุ่ม เช่นเดียวกับเพื่อนที่เป็นซ้ายมาด้วยกันกับผม แต่ความรู้สึกต่อฝรั่งเศสที่เปลี่ยนไปนี้ไม่เกี่ยวกับความสนใจที่มีต่อลัทธิสังคมนิยมแต่อย่างไร คือเราแยกฝรั่งเศสกับความสนใจในลัทธิสังคมนิยมออกจากกัน

 ส่วนที่มาร์กซกล่าวถึงการปฏิวัติอันคึกโครมของฝรั่งเศสว่าคือ การต่อสู้ทางชนชั้น ด้วยความชื่นชมนั้น เอาเข้าจริงแล้วฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้บรรลุสู่การเป็นรัฐสังคมนิยมมาจนทุกวันนี้ ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า หากมาร์กซยังมีชีวิตอยู่ เขาจะสิ้นหวังหรือไม่ หรือเขาจะอธิบายต่อสิ่งที่เขาคาดหวังผิดไปว่าอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะโชคดีที่รู้จักฝรั่งเศสในแง่มุมที่ควรรู้แล้วก็ตาม แต่ผมก็นึกไม่ถึงว่าเดี๋ยวนี้ยังมีคนคิดถึงฝรั่งเศสในแบบที่ผมคิดเมื่อกว่า 40 ปีก่อน และมีความมุ่งมั่นที่จะเอาการปฏิวัติของฝรั่งเศสมาใช้กับเมืองไทย ทั้งๆ ที่น่าจะรู้ดีว่าไทยกับฝรั่งเศสมีพัฒนาการทางสังคมที่ต่างกันมาก ไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมก็ตาม

 คนเหล่านี้ทำให้ผมคิดถึงตัวผมเองเมื่อครั้งอดีตที่ยังหลงเสน่ห์การปฏิวัติของฝรั่งเศส ว่าที่หลงอยู่นั้นมาจากความรู้เพียงแค่เศษเสี้ยวแล้วเข้าใจว่ารู้มากแล้ว หรือเป็นเพียงเศษๆ ของฝรั่งเศสเท่านั้น  




กำลังโหลดความคิดเห็น