xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้ายประเทศกันหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล


ชีวิตผมมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีคนชวนให้ไปอยู่สหรัฐอเมริกา สาเหตุที่ชวนก็เพราะในขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คนที่ชวนบอกว่า ถ้าถูกรัฐบาลปราบจนอยู่ในไทยไม่ได้ก็ให้ไปอยู่ที่นั่น เธอยินดีจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้

ตอนที่เธอชวน เธอโทรศัพท์ทางไกลมาจากประเทศนั้น ผมได้ตอบรับด้วยความขอบคุณ แต่ในใจคิดว่า สถานการณ์คงไม่ถึงกับทำให้ผมต้องทำเช่นนั้นกระมัง ซึ่งผมก็ไม่ได้ไปจริงๆ

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมา ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นนานนับเดือน ถึงไม่ได้ไปอยู่อย่างถาวร แต่ก็ซึมซับอะไรหลายสิ่งหลายอย่างพอที่จะตอบได้ว่า ถ้าให้ไปอยู่จริงๆ แล้วผมจะอยู่ได้ไหม?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เจริญสมกับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว บ้านเมืองดูสะอาดสะอ้าน ผู้คนดูมีวินัยดี จะทำอะไรก็ดูเป็นระเบียบไปหมด ส่วนในเรื่องของความสะดวกสบายนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะด้วยความเจริญในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ญี่ปุ่นจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น คิดอยากจะดื่มเบียร์ขึ้นมาก็สามารถเดินไปหยอดเหรียญในตู้แล้วกดเอามาดื่มได้ทุกเวลานาที

แต่ญี่ปุ่นมีค่าครองชีพที่สูง ผู้คนต่างมีชีวิตที่ดูไม่ว่างตลอดเวลา ห้องหับที่อยู่ที่นอนก็เล็ก จะขยับเนื้อตัวหรือจะทำอะไรก็ต้องระวัง ส่วนอาหารการกินก็ไม่หลากหลายจัดจ้าน นอกจากจะซื้อของสดมาทำเองที่บ้าน

อย่างหลังนี่แหละที่ทำให้ผมบอกตัวเองว่า ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้

หลังจากนั้นอีกราวสิบปีผมก็ได้ไปใช้ชีวิตที่จีนนานนับเดือนอยู่สองครั้ง และไปในที่เดียวกันทั้งสองครั้ง แม้แต่ห้องพักก็เป็นห้องเดียวกัน ตอนนั้นแม้จีนจะเจริญขึ้นแล้ว แต่ก็ยังห่างไกลกับทุกวันนี้มากมายหลายเท่าอย่างเทียบกันไม่ติด

การไปอยู่จีนทั้งสองครั้งในตอนนั้นจึงเทียบกับอยู่ญี่ปุ่นไม่ได้ในเรื่องของความสะดวกสบาย แต่ในเรื่องอาหารแล้วจีนมีหลากหลายกว่า ส่วนค่าครองชีพก็ไม่สูง และดูจะเป็นสิ่งเดียวที่จูงใจให้ผมพออยู่ได้ถ้าจะอยู่ แต่ที่อยู่ไม่ได้ก็คงเพราะผมรู้สึกไม่คุ้นกับนิสัยของผู้คน

 ที่สำคัญ ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นและจีน ผมคิดถึงเมืองไทยตลอด คิดจนเหมือนเป็นโรคคิดถึงบ้าน  

ตอนที่คิดนั้นผมคิดย้อนไปถึงวัยเด็กของผมเมื่อครั้งอยู่ต่างจังหวัด ตอนนั้นฝั่งตรงข้ามบ้านผมจะเป็นป่าละเมาะ ที่ป่าละเมาะนี้จะมีคูน้ำทอดเป็นแนวยาวไม่สู้เป็นระเบียบมากนัก เพราะเป็นคูน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

บ่อยครั้งก่อนไปโรงเรียน พี่ชายผมจะถือเบ็ดตกปลาไปที่คูน้ำเพื่อวางเบ็ด พอตกเย็นกลับจากโรงเรียนก็ไปยังจุดที่วางเบ็ดเอาไว้ เมื่อดึงเบ็ดขึ้นมาจะมีปลาช่อนตัวใหญ่ราวครึ่งศอกติดเบ็ดมาด้วยทุกครั้ง จนกล่าวได้ว่า วันไหนหากคนในบ้านอยากกินปลาก็จะบอกให้พี่ชายผมไปวางเบ็ดเอา

พอผมโตมาอยู่กรุงเทพฯ แน่นอนว่า ภาพที่ว่ามันไม่มีให้เห็นอยู่แล้ว แต่ที่ผมรู้สึกหดหู่ใจก็ตอนที่ไปออกค่ายนักศึกษายังจังหวัดทางภาคอีสาน ด้วยหมู่บ้านที่ผมไปนั้นช่างแห้งแล้งเสียเหลือเกิน บึงหรือบ่อที่มีอยู่ก็แห้งขอด เรื่องคูคลองธรรมชาติพอที่จะวางเบ็ดได้เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

คืนหนึ่งผมนั่งคุยกับเจ้าของบ้านที่เราไปอาศัยนอนด้วยอย่างเป็นกันเอง พอผมเล่าว่า บ้านผมที่ปักษ์ใต้นั้นเพียงแค่วางเบ็ดก็ได้ปลาแล้ว เจ้าของบ้านฟังแล้วก็ตื่นเต้น เพราะไม่นึกว่าทางภาคใต้ของไทยจะอุดมสมบูรณ์อย่างนี้

แต่อีสานที่ผมพูดถึงนี้คืออีสานเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่อีสานในทุกวันนี้ที่พัฒนาไปมากแล้วจนต่างกับอีสานที่ผมพูดถึง ถึงแม้ในเรื่องของฝนฟ้าจะยังคงตกน้อยกว่าทางปักษ์ใต้ก็ตาม เพราะทางนั้นฝนตกเกินฤดูฝนเสียอีก แต่ทั้งอีสานและปักษ์ใต้ต่างมีสิทธิ์เจออุทกภัยได้เสมอ

แม้ผมจะเกิดและโตไปตามสภาพที่ว่าและใช้ชีวิตไปตามอัตภาพ ชีวิตดังกล่าวก็ไม่ต่างกับคนไทยอยู่เรื่องหนึ่งคือ การได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่หากว่าโดยรวมแล้วก็คือ การสลับกันไปมาระหว่างการมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลทั้งสองแบบมีโอกาสที่จะเจอการชุมนุมประท้วงจากประชาชนได้ไม่ยาก หากไปทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากลเข้า และการชุมนุมประท้วงก็เคยนำไปสู่เหตุการณ์ใหญ่ๆ ทางการเมืองมาแล้ว 2-3 ครั้ง

จะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลแบบไหนถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และคนไทยก็อยู่กันมาได้จนทุกวันนี้ จนกระทั่งเมื่อมีการเมืองเรื่องสีเสื้อเข้ามาเมื่อกว่าสิบปีก่อน ชีวิตทางการเมืองของคนไทยก็ต่างไปจากเดิม

ตราบจนมาถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน (2564) ที่อยู่ในอำนาจมาแล้วเจ็ดปีได้อย่างค่อนข้างจะมั่นคง ระหว่างนั้นจะมีกลุ่มคนออกมาต่อต้าน ประท้วง ด่าทอ หรือขับไล่อยู่เป็นระยะเสมอ

จนถึงขณะที่ผมกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ แรงต้านรัฐบาลได้ออกมาในรูปของการณรงค์ให้  “ย้ายประเทศกันเถอะ” 

ตั้งแต่ที่มีการต่อต้านรัฐบาลเรื่อยมา กลุ่มต่อต้านยังไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ และประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาต่อต้านอยู่เสมอก็คือ การกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ อันเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกใช้ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งปี 2562

 แต่กลุ่มต่อต้านก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการขับไล่รัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นผมคงต้องสรุปบทเรียนหาสาเหตุแล้วว่า ทำไมจึงยังไม่สำเร็จเสียที? 

แต่เนื่องจากไม่ได้ไปร่วมกับเขา ผมจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปสรุปบทเรียนให้กับกลุ่มต่อต้านให้เปลืองสมอง และเห็นว่าการรณรงค์ให้ย้ายประเทศเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มต่อต้านคิดขึ้นได้ แล้วนำมาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงกำลังใจของตนให้ฮึกเหิม โดยที่ไม่มีใครย้ายจริง

หรือถึงย้ายจริงผมก็อยากรู้ว่าจะมีสักกี่คนเชียว เพราะจากประสบการณ์ของผม ผมพอรู้ว่า การย้ายประเทศมันไม่ง่าย และถ้าย้ายไปก็ใช่ว่าจะอยู่เป็นสุขเสมอไป ก็ไม่ต่างกับตอนที่ผมไปอยู่ญี่ปุ่นกับจีนนั่นแหละ

อันที่จริงแล้วอารมณ์ทางการเมืองแบบนี้ของกลุ่มต่อต้าน หรือกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลแสดงให้เห็นอยู่เป็นระยะมาโดยตลอด และบางอารมณ์นั้นผมอยากจะบอกว่า ไม่รู้เวรกรรมแต่ปางไหนที่ทำให้รัฐบาลนี้ได้เจอสิ่งดีๆ แบบเบิ้มๆ ด้วยความบังเอิญอยู่เป็นระยะ ซึ่งผมอยากยกตัวอย่างสักสองเรื่อง

 รื่องแรก คุณอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม วิ่งหาเงินให้โรงพยาบาลจนได้เงินทะลุเป้าที่ตั้งเอาไว้มากมาย อีกเรื่อง เหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำ และได้รับการช่วยเหลือจากนานาประเทศจนเป็นข่าวไปทั่วโลก 

 ทั้งสองเรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอยู่ไม่น้อย มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือด่าทอรัฐบาลจากกลุ่มคนเหล่านี้ บ้างก็ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาเงินมาให้โรงพยาบาล บ้างก็ประกาศว่าจะไม่บริจาคเงินให้คุณตูนแม้แต่บาทเดียว บ้างก็ต่อว่าชาวต่างชาติว่ามาช่วย 13 หมูป่าทำไม เพราะนั่นก็เท่ากับช่วยรัฐบาลเผด็จการ ฯลฯ 

ตอนที่เห็นความไม่พอใจเหล่านี้ผมรู้สึกสลดใจมาก ว่าทำไมกลุ่มต่อต้านจึงไม่แยกการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ออกจากการเมือง เพราะนั่นมันจะไม่เท่ากับสะท้อนความไร้มนุษยธรรมของกลุ่มต่อต้านไปด้วยหรอกหรือ?

แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า กรณีคุณตูนก็ดี หรือ 13 หมูป่าก็ดี หากเกิดขึ้นตอนที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่กลุ่มต่อต้านต้องการแล้ว เสียงวิจารณ์หรือด่าทอจะเป็นอย่างที่เห็นหรือไม่? ดีไม่ดีอาจจะชื่นชมสรรเสริญกันขรมไปเสียอีก

เอาเข้าจริงแล้วอารมณ์ทางการเมืองเช่นว่าไม่น่าจะมาจากความไร้มนุษยธรรม แต่มาจากอาการที่รับไม่ได้ที่เหตุการณ์ดังกล่าวดันมาเกิดในยุครัฐบาลเผด็จการต่างหาก จะว่าเป็นความริษยาก็คงจะไม่ผิด เช่นนี้แล้วมันก็ไม่แปลกหากประเทศนี้จะไม่น่าอยู่ต่อไปสำหรับคนเหล่านี้

ผมเชื่อว่า ถ้าคนเหล่านี้ย้ายประเทศได้จริง ก็คงย้ายไปประเทศที่ผู้คนมีชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ อย่างออสเตรเลียนั้น ว่ากันว่า หากทางการรู้ว่ามีใครที่เมาหลับอยู่ในที่สาธารณะแล้ว จะรีบส่งรถมารับไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลทันที ตื่นมาจะได้สบายตัวจนหายเมาค้างแล้วก็กลับบ้าน

แต่สวัสดิการที่ดีดี๊ดีอย่างนี้ต้องแลกกับภาษีที่สูงลิบลิ่ว ซึ่งมันก็สมเหตุสมผลดี ผมว่าไทยก็ทำได้ถ้าเก็บภาษีสูงอย่างออสเตรเลีย ว่าแต่จะมีใครยอมจ่ายภาษีอย่างที่ว่าไหม ขนาดเมืองไทยจ่ายภาษีไม่สูงก็ยังมีคนเลี่ยงแล้วจะไปหวังอะไร ยิ่งคนที่เลี่ยงบางคนเป็นถึงผู้นำประเทศด้วยแล้วก็ยิ่งไม่ต้องหวัง

เหตุดังนั้น คนที่แยกมนุษยธรรมออกจากการเมืองได้ ประเทศไทยก็จะยังน่าอยู่ต่อไป ไม่คิดที่จะย้ายไปไหนให้เสียเงิน เสียเวลา เสียเพื่อน และเสียชีวิตปกติที่ตนเองคุ้นเคยไปเปล่าๆ ปลี้ๆ

 ส่วนผมซึ่งไม่เคยคิดจะย้ายไปไหนก็จะคอยนับดูว่ามีกี่คนที่ย้ายประเทศจริง  





กำลังโหลดความคิดเห็น