xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก ตื่นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว - ปตท.พลิกกำไร3.2หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดหุ้นไทยสุดผันผวน ดิ่งหนักสุด 70 จุด เกือบหลุดแนวต้านสำคัญ 1,500 จุด ก่อนจะเด้งกลับและปิดที่ 1,548.13 จุด ติดลบเพียง 23.72 จุด มูลค่าการซื้อขาย 1.4 แสนล้านบาท เหตุนักลงทุนทั่วโลกกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่ง ฉุดเศรษฐกิจโลกทรุด บวกกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดไทยสูงขึ้น "ภากร" ย้ำตลาดหุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ด้าน ปตท. โชว์ฟอร์มกำไรไตรมาส 1/64 พุ่งแตะ 32,587 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนขาดทุน 1,554 ล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (13 พ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวผันผวนรุนแรงในช่วงบ่าย ตามตลาดหุ้นต่างประเทศที่กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงวิตกธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก เทขายหุ้นอย่างหนัก ฉุดดัชนีหุ้นไทยดิ่งหนักสุดถึง 70 จุด แตะระดับต่ำสุดที่ 1,501.02 จุด สูงสุด 1,561.80 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,548.13 จุด ลดลง 23.72 จุด หรือ 1.51% มูลค่าการซื้อขาย 143,714.02 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 2,458.07 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 286.29 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 1,797.75 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 4,542.11 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ปิดที่ 58 บาท ลดลง 2.75 บาท หรือ 4.53% มูลค่าการซื้อขาย 6,435.90 ล้านบาท บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ปิด 41 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือ 1.86% มูลค่า 5,998.81 ล้านบาท และบมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ปิด 46.50 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือ 4.62% มูลค่า 4,382.07 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การที่ดัชนีช่วงท้ายตลาดปรับตัวลดลงรุนแรงประมาณ 70 จุด เป็นการปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในต่างประเทศ จะเห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐก็ปรับตัวลดลงมามาก 2 วันติดต่อกัน ขณะที่วันนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ปรับตัวลดลงกว่า 2%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นยุโรปที่ติดลบประมาณ 2% โดยเกิดจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น ทำให้กังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือลดการอัดฉีดเงิน QE เร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ บวกกับนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมา หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของ MSCI ที่ออกมาราว 400-500 ล้านเหรียญฯ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนด้วย

แนวโน้มการลงทุนในวันนี้ (14 พ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นยังมีโอกาสเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์ได้ในกรอบจำกัด โดยมีแนวรับ 1,520-1,500 จุด ส่วนแนวต้านไว้ที่ 1,550 จุด โดยให้ติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด

ปตท.โชว์กำไรไตรมาส1พุ่ง3.25หมื่นล้าน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 64 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 32,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส4/63 ที่กำไรสุทธิ 13,147 ล้านบาท และช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสนี้ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลดำเนินงานดีขึ้นโดยกลุ่มการกลั่นมีกำไรสต๊อกน้ำมันถึง 1.2 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส1/63

โดยในไตรมาส 1/64 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายจำนวน 477,837 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.2% ส่วนใหญ่จากรายได้ของธุรกิจน้ำมันที่ลดลงตามปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาด โควิด-19 รวมถึงรายได้ของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลงตามราคาขายเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลง แต่รายได้ของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่นรวมถึงธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่สูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2/64 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดับ 64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส1/64 ที่ระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังหลายประเทศมีการใช้วัคซีนโควิดเพิ่มมากขึ้นเพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันมีแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มโอเปกและประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้ทั้งปีราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 60-65เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนธุรกิจโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ในไตรมาส 2/64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/64


กำลังโหลดความคิดเห็น