PTTGC โชว์กำไรไตรมาส 1/64 แตะ 9,694.86 ล้านบาท พุ่งขึ้น 210% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุราคาขายผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและมีปริมาณการขายที่สูงขึ้น
นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 9,694.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 8,784.11 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 101,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาส 4/2563 และเพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 1/2563 เป็นผลมาจากราคาขายของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งบริษัทมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากแผนการปิดซ่อมบำรุงตามแผนที่น้อยกว่าในไตรมาส 1/2563 ทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (ไม่รวมผลกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่ได้รับของสินค้าคงเหลือ) ในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 8,769 ล้านบาท
บริษัทฯ มี Adjusted EBITDA ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 14,108 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณารวมถึงผลจากการที่บริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Gain Net Reversal of NRV) เป็นกำไรรวม 2,296 ล้านบาท ผล ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง 226 ล้านบาท และผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,144 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 9,695 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2563 ถึง 51%
ในไตรมาสนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการดีขึ้น สาเหตุจากราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 19% และสูงกว่าไตรมาส 1/2563 ประมาณ 45% ส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมี Adjusted EBITDA Margin ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 26% ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2563 และไตรมาส 1/2563
ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น สภาพตลาดโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากความมีประสิทธิภาพการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยบริษัทฯ ยังคงการปรับรูปแบบการผลิตโดยปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานและเปลี่ยนไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลตามภาวะความต้องการน้ำมันอากาศยานที่ลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 3.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/2563 ตามทิศทางส่วนต่างราคาดีเซลกับน้ำมันเตากำมะถันต่ำ (Low Sulfur Fuel Oil : LSFO) กับน้ำมันดิบดูไบเป็นสาคัญ
สาหรับธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์อยู่ที่ 142 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามทิศทางความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่ลดลงจากไตรมาส 1/2563 สาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบคอนเดนเสทปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและปรับเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์
บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่บริษัทฯ รับรู้จำนวน 1,900 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาส 4/2563 และไตรมาส 1/2563 เป็นผลจากผลประกอบการในทุกบริษัทร่วมค้าและบริษัทร่วมดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี