ท่ามกลางการประชุมเคร่งเครียดผ่านมาแล้วเกือบ 10 รอบ ที่องค์การการค้าโลก (WTO) ขณะนี้ เพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของรัฐบาลสองประเทศคือ แอฟริกาใต้ และอินเดีย ในการขอผ่อนผันกฎข้อบังคับเรื่องสิทธิบัตรยา เพื่อให้ประเทศยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนในการต่อสู้ป้องกันโรคระบาดมรณะโควิด-19
แน่นอนว่า บริษัทยายักษ์ของโลก ผู้ค้นพบวัคซีนโควิด-19 ต่างกำลังลิงโลดกับผลประกอบการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2020) รวมทั้งไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยกำลังมีรายได้และกำไรอย่างมโหฬาร กับคำสั่งซื้อที่มีการต่อแถวคิวยาวจากประเทศมั่งคั่งทั้งโลก ที่สั่งซื้อเกินปริมาณจำนวนประชากรของประเทศของตนไปหลายเท่า เช่น แคนาดา, สหรัฐฯ, ยูเออี เป็นต้น
ผู้แทนการค้า (USTR) ของสหรัฐฯ นางแคทเธอรีน ไท่ ได้ออกมาแถลงจุดยืนของรัฐบาลไบเดนที่ต้องการเปิดไฟเขียว เพื่อผ่อนผันชั่วคราว การใช้กฎเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะสิทธิบัตรยาเป็น 1 ในสิทธิ 5 อย่างที่ได้มีการตกลงกันในปี 1994 ให้สมาชิกขององค์การการค้าโลกต้องเคารพปฏิบัติ ซึ่งกฎการใช้สิทธิบัตรนี้เรียกว่า TRIPS (Trade Related Intellectual Property Rights)
ในการผ่อนผันชั่วคราว เพื่อระงับการใช้ TRIPS นี้เรียกว่า Compulsory Licensing (ย่อว่า CL) หรือการละเว้นการลงโทษบริษัทเอกชนหรือรัฐบาลที่จะนำเอาสูตรลับหรือสิทธิบัตรยามาผลิตยา (หรือวัคซีน) โดยไม่ผิดกฎที่จะทำการผลิตโดยไม่มียี่ห้อของบริษัทที่เป็นผู้ค้นคิดแต่ต้นติดมาด้วย ซึ่งทั่วโลกเคยได้รับ CL มาแล้ว ช่วงที่มีการระบาดเชื้อมรณะ HIV...ในครั้งนั้น แอฟริกาใต้ และอินเดีย ก็เป็นโต้โผในการผลักดันให้ผ่าน CL ที่ WTO...และทำให้ยารักษา HIV ที่ราคาแพงลิบ (สร้างกำไรมหาศาลแก่บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร) สามารถนำมาผลิตเป็นยาชื่อสามัญ (Generic Drug) ด้วยราคาถูกมากๆ ที่อินเดีย...สามารถช่วยชีวิตเหยื่อ HIV เป็นหลายร้อยล้านคนจนถึงทุกวันนี้
จากสื่ออังกฤษ The Guardian ที่ได้รายงานแบบสืบสวนและต่อเนื่อง ได้ทำการประเมินว่าช่วงการประชุม 8 รอบที่ WTO มี 3 ประเทศที่คัดค้านไม่ยอมให้ผ่อนปรนด้วย CL ได้แก่ ประเทศอังกฤษ, สวิส และสหรัฐฯ
พ้องกับบริษัทยานำโดยไฟเซอร์ เจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนที่แสดงอาการคัดค้านอย่างหนัก เพราะเกรงว่าคุณภาพของวัคซีนที่จะให้มีการผลิตได้ทั่วไป จะเสี่ยงต่อมาตรฐานและจะยิ่งลดความน่าเชื่อถือของวัคซีน จนทำให้การระดมฉีด (Vaccine-Rollout) เพื่อสร้าง Herd Immunity ของทั่วโลก จะมีอุปสรรค...เพราะขณะนี้ก็มีประชากรของโลกที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน (จะด้วยความเชื่อทางศาสนา, ทางการเมือง...เช่น สาวกทรัมป์...หรือผู้ที่บอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์...หรือที่กลัวว่าจะมีการฉีด Chip ที่จะเข้าไปบงการชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์!!)
และองค์การอนามัยโลก ก็ย้ำตลอดว่า “No one is safe, unless everyone is safe” ซึ่งหมายความว่า ถ้าประเทศมั่งคั่งสามารถไล่ฉีดประชาชนของตนจนแทบครบทุกคน แต่ประเทศนั้นๆ ก็ไม่สามารถปลอดภัยได้ เพราะถ้ายังมีอีกหลายประเทศ (ที่ยากจน) ถูกทิ้งเอาไว้...ไม่ได้รับวัคซีนเลย...ก็จะทำให้เชื้อโรคมีการกลายพันธุ์ และยังสามารถระบาดได้เป็นระลอกต่อไป
บริษัทยาก็ใช้เหตุผลนี้มาอ้างว่า ความน่าเชื่อถือของวัคซีนสำคัญมาก...และยังชี้ว่า การผ่อนผันสิทธิบัตรยาในการรักษา HIV จะต่างกับการผลิตวัคซีน เพราะการผลิตยาตามสูตรสิทธิบัตร จะง่ายมากกว่าการผลิตวัคซีนซึ่งต้องใช้เวลาบ่มเพาะ จนบางทีการได้สิทธิบัตรมาผลิต ก็ยังได้ผลวัคซีนที่ต่างกันก็มี!
เหตุผลความน่าเชื่อถือของวัคซีนที่ผลิตยากมาก และจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของวัคซีนนั้นๆ ก็เป็นเหตุผลที่มนุษย์อัจฉริยะเศรษฐีใหญ่เช่น นายบิล เกตส์ ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะมีการผ่อนผัน...รวมทั้งคุณหมอใหญ่เฟาซี ก็เช่นกัน
ทั้งบริษัทยายักษ์, บิล เกตส์, และหมอเฟาซี มีแนวคิดว่า ให้บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเป็นผู้ผลิตวัคซีนต่อไปดีที่สุด ยิ่งในขณะนี้ที่โลกกำลังทำสงครามกับโรคไวรัสมรณะนี้ เราจะไม่มีเวลาพอที่จะเสี่ยงให้บริษัทยารายอื่นๆ มาผลิตวัคซีน ยิ่งถ้าต้องมาเริ่มนับหนึ่งกับโรงงานในประเทศยากจน ก็เกรงว่าจะยิ่งเสี่ยงด้านคุณภาพของวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง
และรัฐบาลของประเทศมั่งคั่งก็มีโควตาสั่งวัคซีนมากมายจนเกินจำนวนประชากรของตนเองไปหลายเท่า และทำให้ประเทศเหล่านี้มีสต๊อกวัคซีนเป็นจำนวนมาก จึงสมควรนำวัคซีนที่เกินความต้องการนี้มาบริจาคให้แก่ประเทศยากจนจะดีที่สุด, ปลอดภัยที่สุด และรวดเร็วที่สุด เพื่อต่อสู้ในสงครามกับโควิดครั้งนี้
ปรากฏมีทัวร์ลงที่บิล เกตส์, หมอเฟาซี รวมทั้งอังเกลา แมร์เคิล ที่เห็นเหมือนกัน (เพราะบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี เป็นบริษัทยาเล็กๆ ที่ค้นสูตรวัคซีนได้เจ้าแรก และต่อมาได้ร่วมกับไฟเซอร์ในการผลิตวัคซีนให้แก่สหรัฐฯ และเยอรมนี)
ด้านไฟเซอร์ก็ออกมาพีอาร์ว่า เขาตั้งราคาขายวัคซีนเอาไว้อย่างเป็นธรรมคือ ขายในราคาทุนแก่ประเทศยากจนในยามสงครามสู้กับโควิดขณะนี้ หลังสงครามจบ...เขาจะขึ้นราคาขายด้วยซ้ำ
แต่ทั้งโป๊ป และปธน.มาครงของฝรั่งเศส ออกมาสนับสนุน CL เต็มที่
ด้านไบเดนก็ยิ้มแฉ่งรับคำชมจากประเทศยากจน หลังเขาเปลี่ยนนโยบายมายกมือให้ CL แต่...ในคำแถลงของ USTR ก็ยังเผื่อเอาไว้ด้วยว่า การให้ CL นี้ คงต้องผ่านความเห็นชอบของ WTO ซึ่งก็ยากอยู่ที่จะผ่าน และจะต้องใช้เวลาพอควร หมายถึงถ้าผ่านแล้ว ก็ต้องมี lead time (ที่ยาวพอควร) แก่ประเทศยากจนที่จะเริ่มต้นการผลิตอย่างมีคุณภาพ
ก่อนนั้น ไบเดนได้แถลงจากการประชุม Quad ว่า รัฐบาลอเมริกันจะซื้อสิทธิบัตรวัคซีนของ J&J เพื่อไปว่าจ้างให้อินเดียผลิต 1 พันล้านโดส เพื่อนำมาแจกจ่ายหรือขายราคาถูกให้แก่ประเทศอาเซียนในปีหน้า (2022) ซึ่งเป็นการประกาศก่อนที่เขาจะเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุน CL
ก็ต้องติดตามการลงคะแนนที่ WTO ซึ่งมีกฎว่า จะต้องได้รับฉันทานุมัติในการลงมติคือ จะมีเสียงค้านแม้แต่เสียงเดียวไม่ได้ ซึ่งต้องจัดประชุมหลายๆ รอบเพื่อหว่านล้อมให้ผู้เห็นต่าง...เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนในที่สุด
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ไบเดนก็โกยคะแนนไปจากชาวโลกแล้ว แม้ว่าความจริงอเมริกาอาจจะรู้อยู่เต็มอกว่า การผ่อนปรน (ชั่วคราว) ให้ผลิตวัคซีนได้ทั่วไปครั้งนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นเป็นจริงได้ก็ตาม