xs
xsm
sm
md
lg

องค์การเภสัชฯ เร่งผลิต “ฟาวิพิราเวียร์” หลังกรมทรัพย์สินฯ ปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรของนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การเภสัชฯ เดินหน้าผลิต “ฟาวิพิราเวียร์” รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังกรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตร หลังพิจารณาแล้วเห็นว่าคำยื่นขอไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบเม็ด หลังพิจารณาแล้วเห็นว่า คำยื่นขอสิทธิบัตรของบริษัทที่ยื่นขอ ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ทำให้ อภ.สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แม้จะยังเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นขออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน แต่หากไม่มีการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว จะถือว่าคำสั่งปฏิเสธของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่สุด เสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมาย

การผลิตเพื่อจำหน่าย อภ.จะผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ได้ทันทีตามข้อมูลที่ระบุไว้ในทะเบียนยา ภายหลังได้ทะเบียนตำรับยาจาก อย. สามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านเม็ด และขยายกำลังการผลิตได้ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งโรงงานที่ถนนพระราม 6 และโรงงานผลิตยาที่ธัญบุรี ขณะนี้ประสานสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ไว้แล้ว 5 แหล่ง จากจีน 1 แหล่ง และอินเดีย 4 แหล่ง ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีมาตรฐาน และผู้ผลิตยาทั่วโลกใช้วัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ เหล่านี้

และในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ สำหรับการผลิตวัตถุดิบในระดับอุตสาหกรรม ทำให้คนไทยได้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตได้เอง สร้างความมั่นคง ยั่งยืน และการพึ่งพาตนเองด้านยาให้กับประเทศ

ข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า สิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หลักๆ แล้ว มีอยู่ 2 ฉบับ

- ฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย ปัจจุบันหมดอายุความคุ้มครองในทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ผู้ผลิตยาจึงสามารถนำสูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์หลักนี้ไปพัฒนาเป็นสูตรยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที

- ฉบับที่ 2 การขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ รูปแบบยาเม็ด ซึ่งได้ยื่นขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และผู้ตรวจสอบได้พิจารณาแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้ขอเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า “สิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” ซึ่งผู้ขอมีกรอบระยะเวลาในการชี้แจงถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้ หากผู้ขอไม่ชี้แจงเข้ามาตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าละทิ้งคำขอ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น