xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทยายักษ์ใหญ่สะดุ้ง! สหรัฐฯ หนุนแผนละเว้นสิทธิบัตรวัคซีน ช่วยชาติยากจนสู้โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในวันพุธ (5 พ.ค.) ประกาศสนับสนุนละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนโควิด-19 มอบความหวังแก่เหล่าชาติยากจนที่กำลังดิ้นรนเข้าถึงวัคซีนที่สามารถปกป้องชีวิตผู้คนท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้บรรดาประเทศร่ำรวยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักต่อกรณีกักตุนวัคซีน

อินเดีย ชาติที่พบผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 ทุบสถิติสูงสุดรอบใหม่ ท่ามกลางความกังวลว่าจุดพีกสุดยังมาไม่ถึง เป็นแกนนำการต่อสู้ภายในองค์การการค้าโลก (WTO) เปิดทางให้มีบริษัทยามากขึ้นที่สามารถผลิตวัคซีน ความเคลื่อนไหวที่ถูกบริษัทยายักษ์ใหญ่คัดค้าน

แคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ บอกว่า แม้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของภาคธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ แต่วอชิงตัน “สนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนโควิด-19” เพื่อจบโรคระบาดใหญ่ “นี่คือวิกฤตสาธารณสุขโลก และกรณีแวดล้อมพิเศษของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเช่นกัน”

ไบเดนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักหน่วงให้ละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองบรรดาผู้ผลิตวัคซีน โดยเฉพาะท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบรรดาประเทศร่ำรวยกำลังกักตุนวัคซีนโควิด-19

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เรียกความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ว่าเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

อย่างไรก็ตาม ไท่แสดงความคิดเห็นด้วยความระมัดระวัง โดยบอกว่าการเจรจาคงจะต้องใช้เวลาพอสมควร ตามลักษณะพื้นฐานความเห็นที่ต้องเป็นเอกฉันท์ขององค์การการค้าโลก “เป้าหมายคือเพื่อให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เข้าถึงวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด” เธอกล่าว

เป็นเวลานานหลายเดือนแล้วที่องค์การการค้าโลกเผชิญเสียงเรียกร้องให้ละเว้นคุ้มครองสิทธิทางปัญญาวัคซีนโควิด-19 ในข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือที่เรีกว่าข้อตกลง TRIPS

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างดุเดือดจากบรรดาผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่และเหล่าประเทศที่ตั้งของพวกเขา ซึ่งยืนกรานว่าสิทธิบัตรไม่ใช่ตัวกีดขวางหลักในการยกระดับกำลังผลิต และเตือนว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจกระทบต่อนวัตกรรมใหม่ๆ

“การละเว้นมันง่าย แต่มันเป็นคำตอบที่ผิดในปัญหาที่ซับซ้อน” สมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติและสมาคมกลุ่มล็อบบี้ระบุ พร้อมให้คำจำกัดความการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ว่า “น่าผิดหวัง”

ในขณะที่สหรัฐฯ มาถึงจุดที่ต้องเสนอมอบโดนัทและเบียร์โน้มน้าวให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน แต่ขณะเดียวกัน อินเดีย ซึ่งรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่รายวันรายใหม่อีก 3,780 คน กลับไม่มีวัคซีนมากพอที่จะฉีดให้ประชาชน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียต้องเผชิญต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระลอกหายนะ ซึ่งรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอีกมากกว่า 380,000 คนในวันพุธ (5 พ.ค.)

วิกฤตการแพร่ระบาดของอินเดียถูกซ้ำเติมบางส่วนจากภาวะขาดแคลนวัคซีน และวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก เนื่องจากอีกด้านหนึ่ง อินเดียคือชาติผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

โรคระบาดใหญ่คร่าชีวิตผู้คนแล้วมากกว่า 3.2 ล้านรายทั่วโลก นับตั้งแต่มันอุบัติขึ้นในช่วงปลายปี 2019 แต่เหล่าประเทศร่ำรวยจำนวนมากมีความคืบหน้าในความพยายามสกัดไวรัส จากการเร่งฉีดวัคซีนหมู่แก่ประชาชน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สวนทางกลับบรรดาชาติยากจนทั้งหลาย

ประเด็นขาดแคลนวัคซีนไม่ใช่ปัญหาในสหรัฐฯ ซึ่งคาดหมายว่าจะมีวัคซีนเหลือใช้อย่างน้อย 300 ล้านโดส หรือเกือบเท่ากับจำนวนประชากร

ไบเดนระบุในวันอังคาร (5 พ.ค.) ว่าเขาต้องการฉีดวัคซีนแก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างน้อยๆ 1 โดสให้ได้ราวๆ 70% ก่อนถึงช่วงวันหยุดวันชาติสหรัฐฯ 4 กรกฎาคม นอกจากนี้แล้วยังเผยด้วยว่ารัฐบาลของเขาพร้อมดำเนินการในทันที หากว่าคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบอนุมัติใช้วัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคกับยุวชนอายุ 12 ถึง 15 ปี

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น