กรมการค้าต่างประเทศออก 6 มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายเวลาวันหมดอายุบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า ส่งคำขอขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก-นำเข้าทางไปรษณีย์ ใช้หนังสือรับรอง e-Form D ใช้ระบบลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มบริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองแบบไร้เอกสาร และอนุญาตให้แบบฟอร์มรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองขอรับสิทธิ์ชำระภาษีภายใต้ WTO พร้อมกำหนดให้ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ รายงานการเดินทาง กิจกรรม แบ่งทีมทำงาน A B C
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า กรมฯ ได้เดินหน้า 6 มาตรการหลักเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นการปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งลดความเสี่ยง ความแออัด และความจำเป็นในการเดินทางมายังกรมฯ โดยได้ใช้ประโยชน์จากระบบการให้บริการแบบดิจิทัลที่กรมฯ มีอยู่ และยังเป็นบริการที่อยู่ภายใต้ 85 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ที่เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
สำหรับทั้ง 6 มาตรการ ได้แก่ 1. ขยายเวลาวันหมดอายุสำหรับบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า และบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจที่จะหมดอายุในช่วงระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-31 ก.ค. 2564 ออกไปอีก 3 เดือนโดยอัตโนมัติ 2. อนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าที่มีมาตรการควบคุมการส่งออก-นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ พร้อมสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาและเลขทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการออนไลน์ของกรมฯ (Registration Database) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 3. เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) หรือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN Wide Self Certification : AWSC) สำหรับการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนแทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบกระดาษ 4. ผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดการสัมผัสกระดาษและลดระยะเวลาที่ใช้ในการรับบริการ ทั้งนี้ สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (C/O ทั่วไป) ให้ผู้ประกอบการประสานผู้นำเข้าปลายทางเพื่อยกเว้นการขอ C/O ทั่วไปสำหรับการผ่านพิธีการศุลกากรในช่วงนี้
5. เพิ่มการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้าแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยกรมฯ ได้เชื่อมโยงข้อมูลหนังสือสำคัญฯ กับกรมศุลกากรผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบพิธีการทางศุลกากรโดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารแบบกระดาษอีกต่อไป และ 6. อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้แบบฟอร์มรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามที่กรมฯ กำหนดมายื่นประกอบการขอรับหนังสือรับรองแสดงการได้สิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-31 ก.ค. 2564 กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำ C/O จากประเทศต้นทางมาแสดงได้เนื่องจากประเทศต้นทาง Lockdown
นายกีรติกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมฯ ได้จัดทำระบบ Timeline a Day Report ให้เข้าไปกรอกข้อมูลการเดินทาง และกิจกรรมที่ได้ดำเนินการในแต่ละวัน เช่น สถานที่ที่ไปทำกิจกรรม ช่วงเวลา และรูปแบบการเดินทาง เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามและกำกับดูแลเพื่อลดโอกาสของเจ้าหน้าที่ในการเข้าพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่ากรมฯ ได้คำนึงความปลอดภัยในการให้บริการอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ได้มีการแบ่งชุดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านบริการเป็นทีม A B C สลับกันมาปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงกรณีมีผู้ติดเชื้อและต้องกักตัว จึงมั่นใจได้ว่างานบริการสำหรับผู้ประกอบการยังดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ติดขัดในช่วงการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้