ไทยเตรียมการรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกปี 65 กรมเจรจาฯ เตรียมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดประเด็นไฮไลต์ของไทยที่ต้องการให้สมาชิกเอเปกร่วมขับเคลื่อน ชูการอำนวยความสะดวกการค้า ลงทุน ส่งเสริมการค้าดิจิทัล ยกระดับ SMEs หนุน BCG Economy
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกในปี 2565 ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงปลายปีนี้ โดยกรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าภายใต้กรอบเอเปกจะเป็นเจ้าภาพหลัก 3 ด้านสำคัญ คือ 1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) 2. การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment : CTI) และ 3. การประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ได้กำหนดจัดขึ้นในเดือน พ.ค. 2565 ไทยจะร่วมผลักดันและกำหนดทิศทางฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และยังมีเป้าหมายให้สมาชิกเอเปกรวมพลังสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) และวางนโยบายขับเคลื่อนประเด็นการค้าการลงทุนรองรับการค้ารูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุค New Normal
ส่วนการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน เป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของเขตเศรษฐกิจสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ในอนาคต
ทางด้านการประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน จะมีการประชุมกลุ่มทำงานด้านการเข้าถึงตลาด (Market Access Group : MAG) กลุ่มทำงานด้านการค้าบริการ (Group on Services : GOS) โดยจะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าแข่งขันด้านการค้าบริการของภูมิภาคเอเปก เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยจะต้องนำเสนอประเด็นสำคัญที่จะให้สมาชิกเอเปกร่วมขับเคลื่อนในปี 2564 โดยกรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการค้าดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงสินค้าชุมชน (Local Product Tourism) และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ให้สามารถตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) เป็นต้น ซึ่งจะต้องเสนอโครงการประเด็นสำคัญดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักของไทยในการจัดการประชุมเอเปกต่อไป