xs
xsm
sm
md
lg

ปาหี่แก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนเจ้าของอำนาจก่อน และหลังจากร่างเสร็จแล้วไปขอประชามติอีกครั้ง แต่ติดขัดกันว่าครั้งแรกที่ว่าถามประชาชนก่อนนั้นถามตอนไหน

มีความเห็นแตกต่างกันไปทั้งภายนอกสภาฯ และในสภาฯ ว่า ให้ลงประชามติวาระ 3 ที่ค้างอยู่ก่อนแล้วไปทำประชามติ และอีกฝ่ายซึ่งมีฝ่าย ส.ว.อยู่ด้วยบอกว่าให้กลับไปทำประชามติก่อนและกลับมายกร่างกันใหม่

จนกระทั่งประธานรัฐสภาต้องเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นตลอดทั้งวันจนค่ำ ในตอนแรกจะให้โหวต 3 มติในความเห็นที่แตกต่างกันคือ โหวตไม่ได้เพราะขัดคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ หรือเลื่อนไปถามศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดก่อน หรือควรโหวตวาระ 3 ไปเลยหรือไม่

แต่ปรากฏว่าที่เถียงกันมาแต่เช้าทั้งสามแนวทางตกไปหมด เพราะอยู่ๆ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอญัตติด่วนเข้ามาใหม่ให้เดินตามระเบียบวาระคือโหวต วาระสามเหมือนกับไม่เกรงใจประชาชนที่ฟังการถกเถียงกันมาทั้งวัน

ในขณะที่ฝ่ายค้านก็งัดข้อเสนอนี้เพราะรู้ว่ายังไงก็ต้องโหวตแพ้ฝั่งรัฐบาลที่มีเสียง ส.ว.หนุน แม้ประชาธิปัตย์จะโหวตเห็นชอบกับร่างวาระ 3 ร่วมกับฝ่ายค้านก็ตาม เมื่อตกไปฝ่ายค้านจะได้ไปโจมตีว่ารัฐบาลคือพลังประชารัฐไม่จริงใจกับการแก้รัฐธรรมนูญ ปลุกการเมืองบนท้องถนนให้กลับมาคึกคักอีก

สะท้อนความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของฝั่งรัฐบาล แม้กระทั่งร่างที่ตัวเองเสนอก็ไม่ปกป้อง ขัดกับสิ่งที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาไว้ในตอนเข้ารับตำแหน่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

แม้รัฐสภาจะมีมติไปแล้ว แต่ผมอยากบันทึกความเห็นตัวเองไว้ว่าผมคิดเรื่องนี้อย่างไร

ผมคิดว่าต้องโหวตวาระ 3 ก่อนแล้วไปถามประชาชน เพราะถ้าไปถามประชาชนก่อน และกลับมายกร่างแก้ไขมาตรา 256 ใหม่มันจะกลายเป็นวกไปวนมา ผมถามว่า ถ้าทำอย่างนั้นเกิดประชาชนมีประชามติให้แก้ แล้วไปยกร่างแก้มาตรา 256 เกิด ส.ว. 1 ใน 3 ไม่ยอมให้จะทำอย่างไร มันจะขัดกับมติของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจไหม แต่ถ้าผ่านวาระ 3 ก็ต้องไปทำประชามติตามมาตรา 256(8) อีกครั้งเป็นครั้งที่สองใช่ไหม พอยกร่างเสร็จก็ต้องไปทำอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม มันก็เกินที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมา

ผมไม่คิดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจวินิจฉัยเกินไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ดังนั้นครั้งแรกที่ต้องทำประชามติ ผมคิดว่ามาจากบทบัญญัติในมาตรา 256(8)นั่นแหละ

แล้วถ้าไปถามก่อนคือไปถามประชาชนเลยมันจะงงไหมครับว่า คำถามมาจากไหนอยู่ๆ ถึงไปถามประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไหม ในเมื่อชัดเจนว่าสภาฯ มีอำนาจที่จะแก้ไขได้แต่ต้องไปถามประชาชนก่อน มันจึงต้องเริ่มจากรัฐสภามีมติกันว่าจะแก้คือ ทำตามมาตรา 256 คือไปแก้ไขขั้นตอนและวิธีการให้จบก่อนแล้วไปถามประชาชนว่าจะแก้ไหม จากนั้นถ้าประชาชนบอกว่าไม่แก้ก็ตกไป ถ้าประชาชนบอกว่าแก้ก็ไปเลือก สสร.เมื่อได้รัฐธรรมนูญใหม่จึงกลับไปถามประชาชนอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง

ในความเห็นของผมการเพิ่มเติมหมวด 15/1 นั้นเป็นเพียงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องร่างโดย สสร.ไม่ใช่รัฐสภาชุดนี้

เอาเถอะสุดท้ายรัฐสภามีมติไปแล้วตามข้างต้น แต่บันทึกไว้ว่าผมคิดอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ผมมีความเห็นข้อขัดแย้งนี้อย่างไร

แต่การลงมติในสภาฯ ก็เป็นเรื่องของเสียงข้างมากลากไป ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก

ผมต้องย้ำอีกครั้งว่า ผมเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ผมยืนอยู่ในฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ เพราะผมเห็นตั้งแต่ตอนนั้นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย คสช.ที่เขียนเปิดช่องไว้ให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจนั้นจะนำมาสู่วิกฤตในอนาคต แล้วเราก็เห็นอยู่แล้วว่าเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างไร

ผมยังคิดว่ากติกาที่ไม่เป็นธรรมนั้นไม่สามารถนำมาสู่ความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันได้ มีอย่างที่ไหน คสช.ตั้ง 250 ส.ว.มาแล้ว ให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ แล้วหัวหน้า คสช.ก็มาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีเสียเอง สุดท้าย ส.ว. 250 คนก็ลงคะแนนเป็นฝักถั่วเลือกคนที่เลือกตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์

และวันนี้ก็กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ทำให้ม็อบออกมาบนถนน และลามไปสู่การก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการเขียนกติกาที่บิดเบี้ยวตามรัฐธรรมนูญใบสั่งนี่เองที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตทั้งหมด

แม้ว่าจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำประชามติของประชาชน แต่เราเห็นอยู่แล้วว่า เป็นการทำประชามติที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเราจะมีอุดมการณ์การเมืองอย่างไร สนับสนุนทางการเมืองฝ่ายไหน เราก็ต้องยึดมั่นในกติกาที่เป็นธรรมด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมาถกเถียงกัน

และแม้ว่าข้ออ้างในการเรียกร้องของม็อบหลายประเด็นไม่มีความชอบธรรม แต่ผมเห็นว่าข้อเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยของม็อบนั้น เป็นข้อเรียกร้องที่มีความชอบธรรม เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ อย่างที่ม็อบกล่าวหา และเป็นช่องทางให้รัฐบาล คสช.สามารถสืบทอดอำนาจผ่านพิธีกรรมการเลือกตั้งได้

วันนี้เราเห็นแล้วว่าการเมืองในขั้วรัฐบาลนั้นอยู่ในอำนาจของ 3ป.เท่านั้น ไม่ใช่อยู่ในอำนาจของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ดังนั้นถ้าเราจะให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เราต้องทำกติกาของบ้านเมืองคือรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ผมคิดว่าถ้าม็อบไม่มีข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญ นอกจากเขาจะได้เลือกตั้งใหม่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นธรรมแล้ว จะทำให้เขาไม่สามารถอ้างการชุมนุมเพื่อไปกระทบกระทั่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เลย เพราะเป็นข้ออ้างที่ไม่ได้ยอมรับจากคนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน

เราอาจจะมองว่าม็อบไม่มีศักยภาพที่จะทำลายความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาล และกำลังอ่อนแอลงทุกขณะ แกนนำกำลังเดินเข้าคุกเพราะไปก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นองค์ประมุขของประเทศ แต่เราต้องนึกถึงอนาคตข้างหน้าในวันที่คนอีกรุ่นร่วงโรยและจากไปตามกาลเวลา เราต้องช่วยกันนึกใช่ไหมว่าจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นดำรงและปรับตัวอยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างไร

ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วันนี้ แต่ต้องเอาพวกเขาออกจากถนนที่เต็มไปด้วยอารมณ์และโมหะที่ถูกนักวิชาการบางฝ่ายปลูกฝังให้เชื่อด้วยข้อมูลที่ผิดๆ เสียก่อน ให้บรรยากาศการเมืองมีความนิ่งพอที่จะพูดคุยด้วยเหตุผล ให้พวกเขาเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาถูกปลุกปั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย

แต่ถ้าเราจะคุยกันเราต้องทำกติกาให้เป็นธรรมและทุกฝ่ายยอมรับเสียก่อน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปแล้ว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แต่เราก็เห็นความไม่จริงใจของรัฐบาลที่จะดับวิกฤตในบ้านเมืองที่กระทบต่อทุกสถาบันนั่นแหละ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น