xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาถกปมแก้ รธน. “ไพบูลย์-สมชาย” เสนอล้มโหวตวาระ 3 ด้าน ปชป.เสนอยื่นศาล รธน.ตีความชี้ทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาถกปมแก้รัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์-สมชาย” เสนอล้มโหวตวาระ 3 ส่วน ปชป.เสนอยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความชี้ทางออก ด้านฝ่ายค้านสวดรัฐสภาอย่าทำขายหน้า เสนอญัตติลุยโหวตต่อ

วันนี้ (17 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 วาระ 3 มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยได้แจ้งให้ทราบถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนทำประชามติก่อนว่ามีความประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

จากนั้นสมาชิกได้หารือถึงการลงมติวาระ 3 จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากการตีความคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดำเนินการได้ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นสำคัญคือ การดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม โดยที่ประชุมรัฐสภาให้ ส.ส.-ส.ว.เป็นผู้ดำเนินการ จะมอบอำนาจให้ ส.ส.ร.จัดทำไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มี ส.ส.ร.ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น การโหวตวาระ 3 จะทำไม่ได้ ตรงกับความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภา ทำให้เห็นว่าไม่สามารถโหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ จะเก็บไว้ต่อไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเริ่มต้นเสนอญัตติใหม่ ถ้ารัฐสภาเห็นชอบก็ส่งให้ ครม.จัดทำประชามติ ถ้าประชาชนเห็นชอบก็ใช้วิธีตั้ง กมธ.พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.อภิปรายว่า ฝ่ายกฎหมายวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เห็นตรงกันว่า การลงมติวาระ 3 ทำไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนทำประชามติก่อน ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องทำประชามติก่อน จึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับประชุมเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาการลงมติวาระ 3 ไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการทำประชามติจึงต้องตกไป ก่อนที่นายชวนเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือแสดงความเห็น

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีข้อความใดในศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 สิ่งที่อ้างมาว่าลงมติวาระ 3 ไม่ได้ เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ถ้าไม่อยากแก้ก็บอกมาตรงๆ ว่าไม่อยากแก้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ถึงจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แตะต้องหมวด 1 และ 2 ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลงวาระ 3 ถ้าเป็นเช่นนี้รัฐสภาทำอะไรไม่ได้เลย ยืนยันว่ารัฐสภาลงมติวาระ 3 ได้ ต้องเดินหน้าต่อ รัฐสภาจะขายหน้าไปถึงไหน อย่าใช้หลักกฎหมายข้างๆ คูๆ คนที่เสนอให้แก้ทำไมไม่อายบ้าง ขอให้ฝึกอายบ้าง

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารไม่มีใครคัดค้าน มีผู้ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารปี 2557 นั่งอยู่ในที่นี่หลายร้อยคน และในวันนี้ยังมาขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ 3 ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขอเสนอทางออกโดยเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่รัฐสภาอีกครั้งใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1. ร่างที่พิจารณากันอยู่ เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ชี้ชัดสถานภาพว่า เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างจัดทำใหม่กันแน่ (2. การทำประชามติรับฟังความเห็นประชาชนก่อน จะทำตอนไหน ระหว่างก่อนโหวตวาระที่ 1 หรือหลังโหวตวาระที่ 3 (3. การทำประชามติระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 166 ให้ ครม.จัดทำประชามติ เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และมาตรา 256 (8) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังผ่านวาระ 3 แล้วต้องนำไปทำประชาติ จึงต้องอาศัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีใดจะทำประชามติเมื่อไหร่ (4. ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกทั้งฉบับหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะลงมติในวาระ 3 ได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังวินิจฉัยยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว ประเด็นเหล่านี้ควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน ไม่ได้เตะถ่วง ประวิงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องส่งตีความอีกครั้งเพื่อให้กระบวนการแก้ไขรอบคอบ ถูกต้อง ปราศจากข้อสงสัย ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แย้งว่า การที่นายจุรินทร์เสนอญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถือเป็นญัตติซ้อนญัตติกับนายสมชาย อาจทำให้ญัตตินายสมชายตกไป ขอความชัดเจนด้วย โดยนายชวนชี้แจงว่า สามารถเสนอได้เพราะเป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องทำนองเดียวกัน จะสอบถามทีละญัตติ โดยลงมติญัตตินายสมชายก่อน ถ้าญัตติของนายสมชายได้รับความเห็นชอบ ญัตตินายจุรินทร์ก็จะตกไป และเชื่อว่าจะมีญัตติอื่นๆ เสนอตามมาอีก ตนจะสรุปตอนสุดท้ายอีกที ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า ขอเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่ลงมาติวาระ 3 เนื่องจากขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงถ้อยคำญัตตินายสมชายให้ชัดเจนขึ้น โดยถือเป็นญัตติที่ 3 ที่ถูกเสนอขึ้นมาให้พิจารณา

นพ.ชลน่านจึงได้เสนอญัตติให้รัฐสภาทำหน้าที่ลงมติวาระ 3 ต่อไป ตามมาตรา 256 เพราะเห็นว่าทำต่อได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นทำได้ แต่ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ซึ่งขั้นตอนทำประชามติ ฝ่ายค้านและนักวิชาการต่างๆ เช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ล้วนมีความเห็นว่าให้ทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับการทำประชามติก่อนยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญระบุการทำประชามติไว้ 2 กรณี คือ กรณีมาตรา 166 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และมาตรา 256 (8) ให้ทำประชามติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังวาระ 3 ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องทำประชามติหลังลงมติวาระ 3 เท่านั้น

“อยากให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 เพื่อให้ประชาชนใช้อำนาจตัดสินจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ อย่าปิดกั้นอำนาจประชาชน ถ้าไปปิดกั้นอาจเกิดวิกฤตนองเลือดเหมือนปี 2535 อย่าให้บ้านเมืองมีอันเป็นไปเพราะการตัดสินใจของรัฐสภา ไม่มีคำพูดใดบอกว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการมาผิด ทางออกดีที่สุดแนวทางเดียว คือ โหวตวาระ 3 และต้องลงมติให้ผ่าน อย่าให้รัฐธรรมนูญแท้งก่อนคลอด วันนี้ใส่สูทดำขอไว้ทุกข์ให้กับการทำแท้งรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 18 มี.ค.เรียกร้องให้แต่งชุดดำเต็มสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐธรรมนูญ” นพ.ชลน่านกล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกยังคงลุกขึ้นอภิปรายอย่างหลากหลาย โดยประธานเปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่
























กำลังโหลดความคิดเห็น