xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.นับหนึ่งใหม่ นักการเมืองแทบกระอักเลือด !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

อาจจะมองว่าเป็นการแสดงท่าทีฮึดฮัดไปอย่างนั้นเอง สำหรับท่าทีของบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยังประกาศแบบ “ปากกล้าขาสั่น” ก่อนถึงวันประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ เพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเชื่อว่าพอเอาเข้าจริง หรือถึงวันจริงแล้ว เชื่อว่าจะมีกี่คนที่ “กล้า” โหวตหรือเปล่า เนื่องจากในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ำชัด อย่างน้อยสองครั้งว่า “ให้รัฐสภาคำถึงรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด”

“การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช...ทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมร่วมกันรัฐสภา ตามมาตรา 256 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้นั้น เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256(15) บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ”
“อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาในกรณีดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ และวิธีการซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการทำหน้าที่ในกระบวนนิติบัญญัติทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ กล่าวได้ว่า แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ”

“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี หมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
คำวินิจฉัยกลางสรุปว่า อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
จะว่าไปแล้ว หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยที่เผยแพร่ออกมา ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สรุปใจความมา 4 บรรทัด ก็พอเข้าใจตั้งแต่แรกแล้วว่ามีความหมายว่าอย่างไร หากแต่ว่ามีบรรดานักการเมือง “ศรีธนญชัย” ทั้งหลายที่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาไม่ตรงใจ หรือไม่สมประโยชน์ของตัวเอง ก็พยายามตะแบงไปเรื่อย ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยากว่า กระบวนการที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ก็คือการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะด้วยมีกี่วงเล็บก็แล้วแต่ (1-8) อะไรก็ว่ากันไปที่ชวนปวดหัว แต่ความหมายก็คือ เป็นการนำไปสู่การมี ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) ที่อ้างว่ามีที่มาจากเผด็จการ คสช. หรือเพื่อการสืบทอดอำนาจอะไรนั่น นั่นแหละ
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่แบบสรุปมา 4 บรรทัด กับคำวินิจฉัยกลางรวม 12 หน้ากระดาษเอสี่ ในความหมายเดียวกันคือ หากคิดจะร่างใหม่ทั้งฉบับก็ต้องถามประชาชนก่อน (ลงประชามติ) ว่าโอเคมั้ย ถ้าผ่านก็นำไปร่างกันมา จากนั้นก็ให้กลับมาถามประชาชนอีกครั้งว่าที่ร่างมานั้น ตรงใจชาวบ้านหรือเปล่า แค่นี้เอง ไม่เห็นซับซ้อนอะไร


ความหมายก็คือ การแก้ไขที่ทำกันอยู่ในสภาเวลานี้ ก็คือ การแก้ไข มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การ่างฉบับใหม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดแล้วว่า “ทำไม่ได้” หากจะทำก็ทำได้เพียง “แก้ไขรายมาตรา” เท่านั้น ซึ่งในคำวินิจฉัยกลางระบุไว้ชัด ดังนั้น การจะลงมติในวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคม หากใจถึงก็ลองดู เพราะมันทำไม่ได้แล้ว หากจะเดินหน้า อยากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใจจะขาด ก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่ นั่นคือ ยุติการโหวตวาระ 3 แล้วไปเตรียมการเรื่องการทำประชามติกันจะดีกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่ยังค้างคาอยู่ในสภาแล้วคลอดออกมาเร็วๆ จะดีกว่า แต่ไม่ว่าจะเร่งกันขนาดไหนก็ตาม กระบวนการทั้งหมดก็น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปี หรือมากกว่านั้น
อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือว่า “แสบทรวง” ดีเหมือนกัน เพราะอีกมุมหนึ่งก็เหมือนกับ “ตบหน้า” พวกนักการเมืองที่ชอบอ้างประชาชน อ้างประชาธิปไตยทุกลมหายใจเข้าออก จนพูดไม่ออกเพราะเป็นการให้อำนาจประชาชน ในการ “สถาปนา” รัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าคราวนี้มัน “ไม่ทันใจ” และยังไม่มั่นใจในอนาคตว่าผลจะออกมาตามที่ตัวเองต้องการหรือไม่
อีกทั้งยังเป็นการย้อนศรได้เจ็บแสบ ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการรับรองจากการลงประชามติของประชาชน ดังนั้น หากคิดจะแก้ไข หรือคิดจะร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็ต้องถาม“เจ้าของ”เขาก่อนว่า “จะยอมมั้ย” ซึ่งจะว่าไปแล้วการลงประชามติทั้งก่อนเริ่ม และหลังจากเสร็จสิ้นแล้ว ก็ถือเป็นเรื่องดี ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการเมืองไทยในอนาคตเสียที จะได้หมดความวุ่นวายกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มักหยิบมาอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการกันเสียที
ดังนั้น จะรอดูว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาหน้าไหนกล้าโหวตในวาระ 3 บ้าง เพราะนั่นเท่ากับจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ขณะเดียวกัน กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่นำไปการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ หรือการแก้ไขรายมาตรา ที่อย่างหลังสามารถทำได้ แต่นาทีนี้เชื่อว่าบรรยากาศเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ที่ต้องสนับสนุนถึง 1 ใน 3 มันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย มีทางเดียวก็คือ รอลงประชามติ เริ่มนับหนึ่งใหม่ดีกว่า เพราะเป็นการให้ประชาชนสถาปนาอำนาจอย่างแท้จริงจะดีกว่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น