xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมอาจารย์ไม่ออกมานำม็อบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นเราอาจบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าดูลงไปให้ลึกจริงๆ แล้ว ก็อาจจะต้องบอกว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างพวกซ้ายฝังใจที่ปลุกปั่นคนรุ่นใหม่มาเป็นเครื่องมือในการบำบัดความใคร่ของตัวเอง

หลังจากพวกนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างประวัติศาสตร์ด้านเดียวจากสำนักฟ้าเดียวกันของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการมอมเมาคนรุ่นใหม่ และบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยที่ถูกยึดครองโดยอาจารย์สายนี้

ศาสดาและคนที่อยู่ด้านหลังของเด็กไม่ว่าจะเป็นชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ พวกนี้เป็นพวกอารมณ์ตกค้างและฝังใจเจ็บทางประวัติศาสตร์ โดยมีปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประจักษ์ ก้องกีรติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ เป็นทายาทที่สืบทอดอดีตที่มัวเมาในการเชื่อมสายรกกับคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ที่ออกมาบนถนนจึงเป็นผลิตผลของคนรุ่นเก่าและอาจารย์ที่ชิงชังสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนคับแค้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บางคนเป็นพวกสมาทานลัทธิสาธารณรัฐและเชื่อว่าระบอบกษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย และประสบความสำเร็จที่ทำให้กระแสของคนรุ่นใหม่ที่ถูกปลุกปั่นออกมาบนถนนกลายเป็นกระแสแฟชั่นที่คนรุ่นนี้ต้องแสดงตัวเข้าร่วมเพื่อไม่ให้ตกขบวนของประวัติศาสตร์ ทำให้พวกหนุนหลังมั่นใจว่าสุดท้ายพวกเขาต้องเป็นฝ่ายชนะ เพราะกาลเวลาอยู่ข้างฝ่ายเขา

แน่นอนถ้าดูช่วงอายุระหว่างคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อต้านระบอบกษัตริย์และคนรุ่นเก่าที่ยังเคารพเทิดทูนและเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทย เวลาเป็นของคนหนุ่มสาวที่จะมีชีวิตยืนยาวกว่าแน่ และความชราก็เป็นของฝ่ายสนับสนุนสถาบันที่มีเวลาสั้นลงไปเรื่อยๆ

พวกเขาเชื่อว่า หากเวลาหมุนเวียนและเดินไปตามวัฏจักรเช่นนี้ สุดท้ายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หลังจากคนรุ่นเก่าที่หนุนหลังอยู่ตอนนี้ล้มหายตายจากไป

พวกที่อยู่ข้างหลังผลักดันให้เด็กที่ออกมาเป็นแกนนำทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะถูกดำเนินคดีก็ไม่สามารถหยุดยั้งหรือทำให้เด็กกลัวได้ เพราะพวกผู้ใหญ่บอกให้ทะลุทะลวงต่อไปไม่ต้องไปเกรงกลัว ปลอบขวัญกันว่าพวกเราเป็นฝ่ายที่ชอบธรรม แล้วสร้างความหวังหล่อหลอมจิตใจว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นฝ่ายชนะ หรือไม่ถ้าพลาดพลั้งก็จะได้รับนิรโทษกรรมในที่สุด เพราะเป็นคดีการเมือง

พวกเด็กจึงหลงละเลิงวันนี้พวกเขาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลประยุทธ์แล้ว แต่พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์เลย โดยประสานกันทั้งในสภาฯ ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นหัวหอกและม็อบนอกสภาฯ ที่ถูกจัดตั้งโดยคนรุ่นใหม่ที่เป็นอดีตสมาชิกของพรรคอนาคตใหม่

วันนี้จึงกลายเป็นม็อบที่ไม่ใช่เรียกร้องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นม็อบที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ กระทั่งบางฝ่ายไปไกลถึงเรียกร้องระบอบคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่มีรัฐไหนจะยอมให้พลเมืองของตัวเองกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นการอ้างเหตุผลไม่ให้ประกันตัวของศาลก็ชอบแล้ว

หากว่ากันตามความเป็นจริงบรรดาอาจารย์ที่ซ่อนอยู่ข้างหลังเด็กก็รู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่ผลักดันให้เด็กออกมาสู้ และแสดงกิริยาดูหมิ่น หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความหยาบคายนั้น จะต้องถูกรัฐเล่นงานตามกฎหมาย เพราะสิ่งที่เด็กแสดงออกมานั้นแม้แต่ตัวเองก็ไม่กล้าพูดมาก่อน และการแสดงออกของเด็กก็ไม่มีส่วนไหนที่เป็นข้อเรียกร้องในเชิงปฏิรูปเลย มีแต่ถ้อยคำแสดงออกถึงความเกลียดชังและมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะล้มล้างมากกว่าการปฏิรูปที่ใช้เป็นเครื่องอำพราง

แม้แต่สมศักดิ์ เจียมก็ไม่เคยพูดและแสดงออกแบบยุยงให้เด็กออกมาพูดบนถนนเช่นนี้มาก่อนในช่วงที่ยังอยู่ในประเทศ และสุดท้ายเมื่อตัวเองหนีไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วจึงดันให้เด็กออกมา ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่หนีไปแบบสมศักดิ์ก็จะต้องติดคุกติดตะราง อย่าว่าแต่ความผิดตามมาตรา 112 เลย แม้กระทั่ง มาตรา 116 ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า การแสดงออกของพวกเขานั้นเกินเลยข้อเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐและรูปแบบการปกครอง

คำถามว่าเมื่อผู้ใหญ่ที่เป็นถึงครูบาอาจารย์ซึ่งล้วนแต่รู้ความหนักเบาของความผิดที่ยุให้เด็กออกมาท้าทายอำนาจรัฐ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ ทำไมถึงไม่ออกมาต่อสู้ด้วยตัวเอง ออกมานำมวลชนบนท้องถนน ความรู้ความสามารถของเหล่าอาจารย์ที่หนุนหลังเด็กน่าจะก่อให้เกิดพลังมากกว่าแกนนำรุ่นเยาว์ที่ออกมาต่อสู้ และกำลังทยอยเข้าคุกกันอยู่ในเวลานี้มากนัก

ถ้าใครติดตามม็อบจะเห็นได้ว่าม็อบแทบจะไม่มีชุดข้อมูลความรู้ที่นำมาใช้ในการปราศรัยเลย มักจะเน้นไปในทางด่าทอและทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่าการปลุกปั่นหรือการให้ความรู้ประชาชน และเป็นเรื่องของอารมณ์พาไป เป็นกระแสแฟชั่นเสียมากกว่า ลองหลับตานึกดูถ้าบรรดาอาจารย์มานำม็อบเอง การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปมีพลังมากขนาดไหน

ถ้าชาญวิทย์หรือนิธิมานำม็อบเอง ความรู้ข้อมูลที่สั่งสมมาทั้งชีวิตจะปลุกปั่นมวลชนได้มีพลังมากกว่า ยิ่งปริญญาเองเคยมีบทบาทในการนำมวลชนมาแล้วจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ยิ่งจะใช้ความเจนจัดในการคุมมวลชนได้ดีกว่านี้ เพราะเห็นอยู่แล้วว่า แกนนำไม่สามารถควบคุมมวลชนได้เลยจนเกิดเหตุรุนแรงบานปลายเกือบทุกครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมไม่ออกมานำล่ะ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เด็กออกมาทำนั้นถูกต้อง ถ้าเห็นว่าชาติบ้านเมืองควรจะต้องเดินไปในแนวทางที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำกันอยู่นั้นชอบธรรมและได้รับการหนุนเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ใช่จากคนเพียงไม่กี่คน เรื่องของอายุไม่น่าจะใช่อุปสรรคอย่างที่ชาญวิทย์อ้าง ถ้าเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นการทำเพื่อชาติบ้านเมือง

อย่ามัวออกมาเรียกร้องหลังจากที่ทำให้เด็กต้องเดินเข้าคุกเลยครับ แถลงการณ์ต่างๆ ไม่ได้มีพลังและความหมายอะไรมากกว่าการออกมาลงถนนด้วยตัวเอง ดูการลงชื่อเรียกร้องต่างๆ แต่ละครั้งของบรรดาอาจารย์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความรู้ และวุฒิภาวะที่จะต้องใช้ออกมานำพาชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น จะปล่อยให้เป็นภาระของเด็กที่เป็นลูกศิษย์ทำไม เดินเรียงหน้ากันออกมานำหน้าเด็กๆ ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ

อย่าเพียงแค่ระดมกันออกมาล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัว อย่าหวังแค่ใช้กระแสสังคมและกระแสโลกกดดัน ทั้งจากยูเอ็นและองค์กรโลกบาลต่างๆ ด้วยข้อหาสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยต่างๆ สารพัดเลย เพราะพลังเหล่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะไหวเอนอำนาจรัฐได้

บอกตรงๆ ครับอยากเห็นอาจารย์เลิกอยู่ข้างหลังเด็ก แล้วนำความรู้ที่มีมาถ่ายทอดบนถนนแทนการปลุกปั่นเด็กในห้องเรียนแล้วให้พวกเขาออกมาติดคุกติดตะราง อนาคตของเด็กยังมีอีกยาวไกล

ทำไมอาจารย์ถึงไม่กล้าสละเวลาของตัวเองที่เหลืออยู่น้อยกว่าออกมานำม็อบ ถ้าเชื่อว่าการดันหลังเด็กอยู่ในเวลานี้เป็นเรื่องที่ชอบธรรม

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น