รู้ผิดบาปมั้ย “3 นิ้ว” ติดคุก “สุวินัย” ถาม “สมศักดิ์เจียม” หลังโยนผ้าขาว ส่งสัญญาณ “ปฏิวัติเจ้า” ล่ม “อดีตรองอธิการ มธ.” สงสัย 255 นักวิชาการ ช่วยแกนนำม็อบหนุนเลิก ม.112 ด้วยหรือไม่ “หมอวรงค์” ฟันธง พวก “ล้มเจ้า”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 ก.พ. 64) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ หัวข้อ “ขอถามไถ่สมศักดิ์เจียมตรงๆ”
โดยระบุว่า “จิตใจมนุษย์ช่างพิลึกยิ่งนัก!
สมศักดิ์เจียมรู้สึกผิดและปวดร้าวมาทั้งชีวิตที่เพื่อนๆ นักศึกษาประสบชะตากรรมจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ตัวเองเป็นแกนนำจัดชุมนุมประท้วง ...เลยพลอยเคียดแค้นพยาบาทสถาบันฯ มาถึงทุกวันนี้
ทั้งๆ ที่ระยะหลังๆ สมศักดิ์เจียมก็ได้ออกมายอมรับความจริงเองว่า สถาบันฯมิได้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
ผมสงสัยมากว่า ถ้าสมศักดิ์เจียมได้เห็นชะตากรรมแบบ “ตายทั้งเป็น” ของเหล่าเยาวชนปลดแอกที่นับถือตัวเขาเป็นศาสดา ที่ต้องหมดอนาคต เพราะศรัทธาหลงเชื่อวาทกรรมของสมศักดิ์เจียมอย่างหมดใจ
สมศักดิ์เจียม จะรู้สึกผิดบาปในใจเหมือนสมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรือไม่?
หรือว่า เด็กพวกนี้เป็นแค่เบี้ยหรือของเล่นเครื่องมือสนองความใคร่ความพยาบาทส่วนตัวของสมศักดิ์เจียมเท่านั้นเอง?”
ก่อนหน้านี้ ไม่กี่ชั่วโมง ดร.สุวินัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความว่า
“มันล่มสลายแล้ว”
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนให้คนเชียร์ม็อบคณะราษฎรอ่านหรอกนะ แต่ผมมุ่งเขียนให้คนมีสติ คนมีวิจารณญาณในประเทศนี้อ่านเป็นหลัก ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเถิด
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ มันคือ #ปรากฏการณ์แห่งกระบวนการล่มสลายของขบวนการปฏิวัติล้มเจ้า ที่นำโดย ธนาธร กับปิยบุตร
พวกผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ เสาหลักทางจิตวิญญาณและความคิดให้แก่พวกเยาวชนล้มเจ้า อย่าง สมศักดิ์เจียม และ ชาญวิทย์ แทนที่จะออกมาปรามแต่แรกๆ ว่า สถานการณ์ปฏิวัติล้มเจ้า ยังไม่สุกงอม อย่ารีบร้อนผลีผลาม แต่สมศักดิ์เจียมกลับยอมรับกับผมเองว่า เขาเป็นคนอยู่เบื้องหลังผลักดันข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ” โดยมีผู้บงการม็อบยัดเยียดใส่มือรุ้งอีกทีให้ขึ้นเวทีที่ธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อออกไปประกาศเรื่องนี้ในคืนวันที่ 10 สิงหาคม 2020
การแสดงตัวออกมาอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยว่า เป็นขบวนการ (ม็อบ) ปฏิวัติล้มเจ้าของจริง คือ วันที่ 10 สิงหาคม 2020 นี้เอง ซึ่งเปรียบเสมือน “วันเสียงปืนแตก” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต
จน ชาญวิทย์ ถึงกลับหลุดปากออกมาเอง ว่า “ได้เห็นในสิ่งที่ไม่คิดว่าในชีวิตนี้ของตัวเองจะได้เห็น”
คนอย่างสมศักดิ์เจียม และ ชาญวิทย์ คือ ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง ของ “เครือข่ายปัญญาชนล้มเจ้า” ที่ทั้งเกาะเด็ก ป้อยอเด็ก และหลอกใช้เด็ก เพื่อ #สำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์ของตัวเองเท่านั้น
#คนพวกนี้ ขี้ขลาดและเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีใครกล้าออกมาขวางเรือยามน้ำเชี่ยว เพื่อเตือนสติพวกเด็กและพวกแกนนำหุ่นเชิด ด้วยการพูดความจริงเกี่ยวกับ #ความไม่มีจริงของสถานการณ์ปฏิวัติล้มเจ้า แม้แต่คนเดียว
ผ่านไปเจ็ดเดือน...สมศักดิ์เจียมที่ยังมีสติและความเป็นมนุษย์มากกว่าปวิน ถึงยอมออกมาเขียนสารภาพยอมรับความจริงว่า “ไม่มีวันชนะ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย”
จากนั้น ชาญวิทย์ จึงกระมิดกระเมี้ยนแชร์โพสต์ของสมศักดิ์เจียม... เท่านั้นแหละ ปรากฏการณ์วงแตก ล้มครืนแบบโดมิโนก็เกิดขึ้นภายในขบวนการปฏิวัติล้มเจ้า...อย่างที่สังคมกำลังเห็นอยู่ในตอนนี้ ปรากฏการณ์เห็บหมัด ปรสิตเผ่นกระโดดหนีหมาแก่ป่วยใกล้ตาย จึงเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ก็ทะเลาะตบตีกันเองแบบไม่เผาผีกัน
มีแต่ “นางงาม” หน้าโง่ ที่หิวแสงเท่านั้น ที่ดันโผล่ออกมาโหนม็อบตอนนี้ ส่วนพวกหัวโจกและแกนนำก็โดนคดีกันเพียบ หายนะมาแน่ๆ แต่ที่จะตามมาอีกต่อจากนี้ คือ #วิกฤตศรัทธาในขบวนการปฏิวัติล้มเจ้า ของ ธนาธร และปิยบุตร
สังคมรอดูต่อไปเถิด”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า “คณาจารย์และนักวิชาการ 255 คน เข้าชื่อกันออกแถลงการณ์ขอให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัว 4 แกนนำม็อบ 3 นิ้ว ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้
1. ศาลต้องพึงยึดหลัก การสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนี้ คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนพื้นฐานว่า จำเลยอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้อง เป็นการกระทำที่ผิด ทั้งที่กระบวนการไต่สวนยังไม่เริ่มต้น
2. การไม่ให้ผู้ต้องหาประกันตัวระหว่างดำเนินคดี หากในที่สุดศาลพิพากษาว่า ไม่ผิด สิทธิเสรีภาพที่ถูกพรากไประหว่างถูกจองจำไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ เช่น นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำเป็นการลิดรอนสิทธิในการศึกษาของ นายพริษฐ์ ไปด้วย
3. รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งของผู้ถูกดำเนินคดีโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ สถาบันตุลาการจึงจำเป็นต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน
4. การไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงขึ้น
ในวันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำด้วยเหตุผลว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายและความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอื่นอีก มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีแล้ว จำเลยอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่า จำเลยอาจจะหลบหนี
ลองพิจารณาดูว่า ระหว่างคณาจารย์ 255 คน กับศาล ฝ่ายไหนจะมีเหตุผลดีกว่ากัน และลองพิจารณาว่า ข้อความในแถลงการณ์ของคณาจารย์ข้อ 3 เป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า ศาลไม่เป็นอิสระหรือไม่
การพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัว หรือไม่อนุญาตให้ประกันตัวในทุกคดี เป็นอำนาจของศาล และเป็นขั้นตอนตามปกติของกระบวนการยุติธรรม หากจะให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่า ต้องถือว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และกระบวนการพิจารณายังไม่ถึงที่สุด ก็น่าจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไปเสียเลย โดยไม่ให้มีการคุมขังจำเลยไม่ว่าในกรณีใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ให้ทำในเฉพาะคดีนี้
หากมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมแบบนี้จริง ก็เชื่อได้เลยว่า จะมีผู้ก่อคดีอาญาเพิ่มขึ้นมากแน่นอน เพราะคนจะมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายน้อยลง
คณาจารย์ทั้ง 255 คน คงไม่สามารถรับประกันได้ว่า หาก 4 แกนนำได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ก่อคดีหรือทำความผิดเพิ่มขึ้นอีก และเชื่อว่า คณาจารย์ทั้ง 255 คน ก็รู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งที่แกนนำเหล่านี้ปราศรัย เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง เกินกว่าที่ผู้จงรักภักดีจะยอมรับได้
คณาจารย์ทั้ง 255 คน ยังน่าจะรู้ดีว่า ทั้ง 4 คน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะไปก่อคดีเพิ่มขึ้นอีก
ดังนั้น จึงมีคำถามว่า เพราะอะไรจึงเข้าชื่อกันในแถลงการณ์ฉบับนี้
มีคำตอบเดียวคือ คณาจารย์ทั้ง 255 คน เห็นว่า การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่ความผิด ทางอาญาและไม่ควรมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกต่อไป ใช่หรือไม่”
เช่นเดียวกับ เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความ ว่า
“เดือนตุลาคม 2563 มีอาจารย์ 1,118 คน ขู่นัดหยุดสอนทั่วประเทศ เรียกร้องนายกฯลาออก มาอีกทีอาจารย์ 255 คน มาเรียกร้องให้ศาลให้ประกัน 4 แกนนำ ที่หน้าเรือนจำ และมีบางคนให้หยุดงานทั่วประเทศ
แต่ก่อน ผมจะได้ยิน คำว่า เสรีภาพทางวิชาการ ก็ยังพอฟังได้ แต่ปัจจุบัน สิ่งที่อาจารย์พวกนี้แสดงออกนั้น ไม่ใช่เสรีภาพแล้ว แต่หมายถึงสนับสนุนการล้มล้างสถาบัน
จุดที่ผมเป็นห่วง ระดับอาจารย์ ดอกเตอร์ ยังวิเคราะห์อนาคตประเทศไม่ออกเลยเหรอว่า ประเทศไทยเรา มีนักการเมืองอย่างไร ที่จะมาเป็นศูนย์รวมจิตใจ หรือจะเอาคนพวกนี้มาเป็นประมุขแห่งรัฐ
ขนาดอาจารย์มหาวิทยาลัย ยังวิเคราะห์ไม่ออกว่า ประเทศจะต้องเผชิญอะไร กับพฤติกรรมชั่วๆ ของนักการเมืองบางกลุ่ม เห็นทีต้องรื้อระบบการเรียนการสอนกันใหม่ครับ เพราะอาจารย์ยังคิดได้แค่นี้ แล้วศิษย์จะเป็นอย่างไร
#สมควรให้อาจารย์ลาออก”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในบรรดาคณาจารย์ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พบว่า หัวหอก ก็คือ 1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ 3. ธงชัย วินิจจะกูล University of Wisconsin-Madison
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ม็อบ 3 นิ้ว เดินทางมาถึงจุดที่พูดได้ว่า “ล่มสลาย” แล้วจริงหรือ
เรื่องนี้มีปัจจัยที่ทำให้น่าเชื่อว่า จริงอยู่พอสมควร นับแต่เป็นสิ่งที่ “สมศักดิ์เจียม” แสดงความเห็นออกมาเอง ว่า คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย หรือยากที่จะสุกงอม เหมือนยอมยกธงขาว ไม่ดันทุรังอีกต่อไป
ประการต่อมา “ชาญวิทย์” ให้สัมภาษณ์ทำนอง ยอมถอยว่า ชนชั้นปกครอง จะต้อง “ประนีประนอม” มิเช่นนั้น จะพังกันทั้งหมด นั่นแสดงว่า ต้องการบันไดลงให้กับม็อบ “3 นิ้ว” หรือไม่ รวมทั้งยอมรับความเห็นของ “สมศักดิ์เจียม”
ประการที่สาม จากเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ. 64 สะท้อนให้เห็นว่า ม็อบ 3 นิ้ว นับวันเดินเข้าสู่สถานการณ์ความรุนแรง และแกนนำไม่สามารถควบคุมดูแลมวลชนได้ โดยเฉพาะมวลชนที่นิยมความรุนแรง จนในที่สุดอาจนำไปสู่การล่มสลายได้ เพราะมวลชนส่วนใหญ่ อาจไม่เข้าร่วม เพราะไม่มีความปลอดภัย เหลือแต่มวลชนที่นิยมความรุนแรง ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกปราบปรามจับกุมได้ง่าย
ประการที่สี่ ท่าทีของสังคมไทยที่รับไม่ได้กับพฤติกรรมเถื่อนถ่อยมากขึ้นทุกวัน
ประการที่ห้า ความขัดแย้งภายในเริ่มเห็นชัดขึ้น ความไม่เชื่อมั่นในแกนนำ เรื่องเงินบริจาค เรื่องพฤติกรรมการนำเงินไปใช้หนี้ส่วนตัว ติดพนัน รวมทั้งการ์ดก็เริ่มทะเลาะกัน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และพร้อมปะทะกันด้วยความรุนแรง เพื่อแย่งการแสดงบทบาท ฯลฯ
ประการที่หก คดีความที่รัดคอแกนนำคนสำคัญ หลายคดีโดยเฉพาะ ม.112 โอกาสที่จะเข้าร่วมเป็นแกนนำม็อบอีก ไม่ง่ายแล้ว หรืออาจถึงขั้นถูกตัดสินจำคุกยาว
สิ่งเหล่านี้ คนที่มีประสบการณ์ในการคุมม็อบ พูดได้คำเดียวว่า จบ! ส่วนจะจบหรือไม่ นับว่าน่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป