xs
xsm
sm
md
lg

ทีมทนายสิทธิมนุษยชน เยี่ยม 4 แกนนำราษฎร หารือขอปล่อยตัวชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยม “เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์” ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

วันนี้ (15 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าเยี่ยมนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ แกนนำกลุ่มราษฎร หลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จากกรณีการชุมนุม ม.ธรรมศาสตร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63

นายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า แกนนำทั้ง 4 คนเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยวันนี้ทีมทนายความเข้าเยี่ยมเพื่อปรึกษาหารือกับแกนนำทั้ง 4 คนในเรื่องรูปคดี และแนวทางการขอยื่นประกันตัวเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่าหลังจากนี้แกนนำทั้งสี่จะต่อสู้อย่างไรต่อไป เพราะสถานการณ์ภายนอกเรือนจำยังมีการไล่จับผู้ชุมนุม และแกนนำอีกหลายคนก็กำลังจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา จึงอยากให้แกนนำตัดสินใจว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเพราะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญหลายๆ เรื่อง เมื่อเข้าเยี่ยมเสร็จจะออกมาเปิดเผยถึงผลการพูดคุยอีกครั้ง รวมถึงมีข้อความที่จะฝากถึงกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

ต่อมาเวลา 10.00 น. ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับคณะอาจารย์และนักวิชาการ รวมถึงตัวแทนกลุ่มองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าเยี่ยม พร้อมกับนำหนังสือและเอกสารการเรียนมามอบให้นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อใช้อ่านระหว่างถูกจองจำ

ผศ.ดร.ประจักษ์ได้อ่านแถลงการณ์คณาจารย์ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุมว่า “สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำของการชุมนุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. 63 รวม 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แกนนำกลุ่มราษฎร โดยให้เหตุผลว่า “หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” จึงขอให้ศาลได้พิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลดังนี้ 1. ให้ศาลยึดหลัก “การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” ตามหลักการทางกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งคำสั่งไม่ให้ประกันตัวบนการวินิจฉัยว่าจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้องเป็นการกระทำผิด ทั้งๆ ที่กระบวนการไต่สวนยังไม่ได้เริ่มต้นและยังไม่มีคำพิพากษา

2. การไม่ให้ประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดี ถ้าภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิด สิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำระหว่างดำเนินคดีก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษา ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการศึกษาไปด้วย 3. การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจำนวนมากต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ มีรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ดังนั้น สถาบันตุลาการต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน และ 4. การให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีการเมืองที่ผ่านมา ช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ ตรงกันข้ามการไม่ให้ประกันตัวมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น”

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวลเนื่องจากการจองจำระหว่างพิจารณาคดีของศาล ต่างจากการฝากขังระหว่างสืบสวนสอบสวนของตำรวจ หากตำรวจสืบสวนแล้วเสร็จก็จะปล่อยตัว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี หมายความว่าทั้ง 4 คนจะถูกจองจำจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาคดีทางการเมือง ศาลพิจารณาคดีนานถึง 5 ปี หากจำเลยไม่ได้รับประกันตัวทั้งหมดจะถูกขังลืมยาวนานถึง 5 ปี

จากนั้นเวลา 12.30 น. นายกฤษฎางค์กล่าวเปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมแกนนำราษฎรผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ตามระเบียบเรือนจำว่า แกนนำทั้ง 4 คนมีกำลังใจดี ไม่วิตกกังวล เชื่อว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง และคาดว่าผลสรุปอาจถูกจับในข้อหาตาม ม.112, ม.116 และข้อหาอื่นๆ รวม 11 คดี อีกทั้งได้ฝากบอกมายังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะเคลื่อนไหวในเรือนจำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ พบว่านายสมยศมีอาการปวดตามไขข้อ ส่วนนายพริษฐ์มีโรคประจำตัวหืดหอบ และต้องมาอยู่แออัดรวม 26 คน มีห้องน้ำเพียง 1 ห้อง ส่วนคนอื่นๆ สุขภาพแข็งแรงดี

นายกฤษฎางค์กล่าวอีกว่า สำหรับการต่อสู้คดีคาดไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตขอปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเกรงว่าอาจกระทำผิดซ้ำและข้อหา ม.112 มีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี โดยนายอานนท์ตั้งข้อสงสัยถึงการปล่อยตัวชั่วคราวของแกนนำทั้ง 4 คนว่าทำไมคำสั่งศาลพิจารณาว่าหากปล่อยตัวเกรงจะกระทำผิดซ้ำ โดยขณะนี้ทีมทนายได้ยื่นอุทธรณ์แต่ยังไม่มีคำสั่งได้ประกันตัวหรือไม่ อีกทั้งนายอานนท์ฝากบอกมาว่ารู้สึกปลอดภัยที่ได้อยู่ข้างในเรือนจำเพราะเชื่อว่ามีขบวนการสั่งเก็บ แต่ก็ต้องระวังตัวเนื่องจากอาจมีคนเห็นต่างอยู่รวมกัน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ จะมีนัดหมายสั่งฟ้องอีก 24 คน โดยนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งอาจมีการยื่นฟ้อง ม.112 รวมอยู่ด้วย และหากศาลใช้คดีของแกนนำทั้ง 4 รายดังกล่าวเป็นบรรทัดฐาน เชื่อว่าอาจไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกัน แต่ทุกคนก็พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมาย

ทั้งนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ 1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริงและไม่เป็นธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายในการนำตัวบุคคลไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ ตชด.ภ.1 และเคารพสิทธิในการเข้าถึงทนายความของผู้ถูกจับและผู้ต้องหา 2. ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีต่อผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพชุมนุมโดยสงบ คดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงคดีที่ไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมายอย่างชัดแจ้ง และ 3. ให้ศาลพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวบนฐานหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมายอาญา










กำลังโหลดความคิดเห็น