พักไป 1 วัน...ก็ดันเผอิญไปตรงกับวันก่อการ “รัฐประหาร” คราวล่าสุดของทหารพม่า ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารสูงสุด “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” (Min Aung Hlaing) แบบพอดิบ พอดี เพราะฉะนั้นวันนี้...คงไม่ต้องเสียเวลาร่อนไป-ร่อนมาที่ไหนต่อที่ไหนอีกต่อไปแล้ว คือคงหนีไม่พ้นต้องฝ่าด่านโควิด บุกเข้าไปถกโสร่งพม่า อย่างน้อย...ก็พอให้ได้เห็นขนหน้าแข้งสัก 2 เส้น 3 เส้น หรืออาจพอได้เห็นเป็นกระจุกๆ ก็แล้วแต่ เนื่องจากเป็นรัฐประหารที่ออกจะก่อให้เกิดความมึนซ์ซ์ซ์ๆ งงง์ง์ง์ๆ และหงุดหงิด ต่อบรรดาชาวโลก และชาวพม่า ไม่น้อยทีเดียว...
เรียกว่า...ถ้าจับความตามน้ำเสียงของบรรดาผู้นำโลกในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่ออเมริกา อังกฤษ อียู แคนาดา สแกนดิเนเวีย ตุรกี บังกลาเทศ ไปจนถึงเลขาฯ ยูเอ็นโน่นเลย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ “ไม่เห็นควรด้วย” กับรัฐประหารคราวนี้ไปด้วยกันทั้งสิ้น ต้องออกมาด่า มาประณาม ตำหนิติติงไปตามบุคลิกลักษณะของแต่ละประเทศ ที่แม้ให้น้ำหนักความอ่อน-แก่ของความเป็นประชาธิปไตยไปตาม “สูตร” ของใคร-ของมันก็ตามที รวมทั้งบรรดาประเทศอาเซียนและไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา ที่ถึงไม่คิดแทรกแซงกิจการภายในของมวลหมู่สมาชิกอยู่แล้วแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้ออกอาการเห็นดี เห็นงาม หรือเห็นอก เห็นใจ ต่อการรัฐประหารคราวนี้แต่อย่างใด หันไปเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทน อดกลั้นกันแทนที่ แม้แต่ประเทศที่เคยพยายามชิงไหวชิงพริบ ชิงความมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญเอามากๆ ในประเทศพม่า อย่างคุณพี่จีนหรือคุณปู่อินตะระเดีย ก็ไม่ได้ออกอาการกระดี้กระด้าใดๆ เอาเลยแม้แต่น้อย หันไปเรียกร้องแต่ละฝ่าย ให้หาทางออกที่เหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือภายใต้กรอบกฎหมายกันเป็นหลัก...
อาจด้วยเหตุเพราะเงื่อนไข-เหตุปัจจัย...ที่ทำให้ทหารพม่าเขาต้องลุกขึ้นมารัฐประหารในคราวนี้ ออกจะอ่อนยวบๆ ยาบๆ พอๆ กับอดีตผู้นำอเมริกา อย่าง “ทรัมป์บ้า” อะไรทำนองนั้น คือเนื่องจากถูก “โกงเลือกตั้ง” หรือ “ขโมยเลือกตั้ง” อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าคราวล่าสุด พรรครัฐบาล หรือ “NLD” ของ “นางอองซาน ซูจี” ท่านดันกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ถึง 396 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 476 ที่นั่ง เหลือพรรคที่นิยมทหารเพียงแค่ 33 ที่นั่งเท่านั้นเอง ดังนั้น...แม้ไม่มี “หลักฐาน” ไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันแบบเดียวกับ “ทรัมป์บ้า” นั่นแหละ แต่ด้วยเหตุเพราะมี “ปืน” หรือมี “อาวุธ” อยู่ในมือ ทหารพม่าก็เลยไม่ได้แค่คิดปลุกระดมพูดจาปราศรัย หรือโดดขึ้นเวที “ยุ” ให้ใครต่อใครกรูไป “บุกรัฐสภา” แต่เพียงเท่านั้น แต่หันมา “ยึด” ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าอำนาจบริหารรัฐบาล การเลือกตั้ง ฯลฯ รวมไปถึงอำนาจอธิปไตย ก่อนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” เรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนพม่าไปแบบดื้อๆ ทื่อๆ ด้วยประการละฉะนี้...
แต่ก็นั่นแหละ...แม้ว่าการ “ยึด” อำนาจ อาจไม่ถึงกับยากเย็นแสนเข็ญอะไรมากมาย สำหรับผู้ที่มีปืนอยู่ในมืออย่างทหารพม่าทั้งหลาย อีกทั้งยังมีประสบการณ์ยึดโน่น ยึดนี่มาโดยตลอด แทบไม่เหลือช่องว่างให้กับความเป็นประชาธิปไตยใดๆ แม้แต่น้อย แต่การดำรงรักษาสิ่งที่ยึดๆ เอาไว้นี่แหละ อาจไม่ถึงกับ “ง่าย” กันสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งอดีต ไม่ว่าช่วงเหตุการณ์กว่า 30 ปีที่แล้ว ที่เรียกกันว่า “8-8-88” หรือครั้งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ครั้งนั้น...แม้ต้องสังหาร พร่าผลาญ ใครต่อใครจนแทบไม่เหลือ “กระสุน” ติดประเทศ แถมเหลือ “เงินทุนสำรอง” เอาไว้ใช้อีกแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง แต่ก็ด้วยเหตุเพราะ “ปัจจัยภายนอก” ยังเปิดช่อง เปิดทาง พอให้เกิดโอกาส หรือยังมีประเทศจีน และตามต่อมาด้วยอาเซียน ค่อยๆ ทยอยเข้ามาให้การรับรอง สนับสนุน ส่งเสริม การก้าวข้าม “ระยะผ่าน” จากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยแบบพม่าๆ จึงไม่ถึงกับต้องอ้วกแตก อ้วกแตน จนเกินไป...
แต่คราวนี้...รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลประชาธิปไตยของ “นางอองซาน ซูจี” เท่าที่ผ่านมาก็แทบไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับจีนเอาเลยแม้แต่นิด ตรงกันข้าม...การยึด “ผลประโยชน์ส่วนรวม” เป็นที่ตั้ง อันเนื่องมาจากด้วยหลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ของรัฐบาลพม่าในกรณี “โรฮิงญา” อาจผิดแผกแตกต่างไปจากบรรดาประเทศตะวันตกที่เชิดชูประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมทั้งชอบ “แทรกแซง” ใครต่อใครมาโดยตลอด ส่งผลให้นักประชาธิปไตยรายนี้ ต้องถูกด่า ถูกว่า ถูกประณาม ถูกถอนชื่อ ถอนรางวัล จนแทบกลายไปเป็น “สมุนเผด็จการ” เอาเลยถึงขั้นนั้น การรัฐประหารคราวนี้...จึงอาจไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย-ความเป็นเผด็จการมากมายสักเท่าไหร่ และอาจไม่ได้เกี่ยวกับ “จุดยืน” ของ “กองทัพพม่า” เอาเลยก็ไม่แน่!!! หรืออย่างที่ผู้อำนวยการโครงการ “UK Burma Campaign” องค์กรเอกชนจากอังกฤษที่พยายามหาทางฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า “นายMark Farmaner” ได้สรุปเอาไว้นั่นแหละว่า... “นี่คือการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย ไม่ใช่การรัฐประหารของกองทัพ เพราะนี่คือความพยายามรักษาสถานะและความร่ำรวยของตัวเขาเอง...”
หรือพูดง่ายๆ ว่า...การกวาดเสียง กวาดคะแนนเลือกตั้งมาได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของพรรครัฐบาล ภายใต้ “นางอองซาน ซูจี” เหลือเก้าอี้ให้พรรคสนับสนุนทหารแค่ 33 เก้าอี้เท่านั้น อาจส่งผลกระทบต่อ “ฐานอำนาจ” ของผู้บัญชาการทหารอย่าง “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” อยู่พอสมควรเหมือนกัน แม้จะให้ “มีชัย ฤชุพันธุ์แห่งพม่า” เขียนรัฐธรรมนูญเอาไว้แบบยอกย้อนซ่อนเงื่อนเพียงใดก็ตามที เพราะโดยฐานอำนาจที่ว่านี้นี่เอง ที่ทำให้ผู้บัญชาการทหารรายนี้สามารถควบคุมดูแล “ผลประโยชน์” ทางธุรกิจนานาประการแบบคล่องเนื้อ คล่องตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าผ่านทางบริษัท “MEC” หรือ “Myanmar Economic Corporation” หรือบริษัท “MEHL” หรือ “Myanmar Economic Holdings Limited” ฯลฯ อันเป็นบริษัทของทหาร ที่มักรวบหัว รวบหาง กิจการต่างๆ ไม่ว่าการค้าหยกและอัญมณี เหมืองทองแดง การร่วมลงทุนกิจการสื่อสารโทรคมนาคมกับบริษัทกองทัพเวียดนาม (Viettel) ไปจนถึงธุรกิจเสื้อผ้า ฯลฯ นั่นยังไม่รวมไปถึงธุรกิจของลูกชาย ลูกสาว และลูกบุญธรรม ที่แผ่สยายเครือข่ายการทำมาหารับประทานยุ่บยั่บ ยั้วเยี้ยไปหมด ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจด้านอาหารและยา ไปจนถึงธุรกิจบันเทิง ฯลฯ ฯลฯ...
การลุกขึ้นมายึดโน่น ยึดนี่ของ “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” จึงออกจะเป็นเรื่อง “ส่วนตั๊ว...ส่วนตัว” มากกว่าเป็นเรื่องของ “กองทัพ” หรือเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย-ไม่เป็นประชาธิปไตย และนั่นเอง...ที่ทำให้การรัฐประหารพม่าคราวนี้ จึงไม่ได้ส่งผลต่อ “ปัจจัยภายนอก” ไม่ว่าในแง่แรงหนุน หรือแรงต้านมากมายสักเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยภายใน” ของประเทศพม่าเอง ว่าจะยอมให้ผู้ที่มี “ปืน” อยู่ในมือ ทำอะไรต่อมิอะไรในประเทศนี้ก็ย่อมได้ หรือไม่ อย่างไรเท่านั้นเอง หรือถ้าบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไม่คิดลุกขึ้นมาเอะอะโวยวาย ทุกสิ่งทุกอย่าง...ก็คงเรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนมิน อ่อง หล่าย อย่างมิอาจปฏิเสธ แต่ถ้าหากบรรดาชาวพม่า หรือเมียนมาทั้งหลาย ที่เพิ่งจะได้รับเงินกู้จาก “ธนาคารโลก” เอามาพัฒนาประเทศ ถึง 616 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2017 และอีก 900 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2020 จนสามารถลดอัตราความยากจน จากที่เคยอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2005 จนเหลือแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2011 ไม่คิดอยากจะ “จน” ต่อไป หรืออยากรวยๆ ขึ้นมามั่ง อันนั้นนั่นแหละ...ที่จะทำให้ความพยายามดำรงรักษาอำนาจ ที่เพิ่ง “ยึดๆ” ไว้ได้ ของผู้บัญชาการทหารพม่ารายนี้ อาจเป็นอะไรที่ยากเย็นแสนเข็ญ ระดับอาจต้องอ้วกแล้ว อ้วกอีก นับจากนี้เป็นต้นไป...