ประกาศ กรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยค่าโดยสารตลอดสาย ไม่เกิน 104 บาท
ทำให้ค่าโดยสารในส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสถานีละ 3 บาท ตัวอย่างเช่น จากสถานีบางจากไปถึงสุดสายที่สถานีเคหะสมุทรปราการมี 14 สถานี ต้องจ่ายค่าโดยสาร 42 บาทต่อคน
คนที่อยู่สมุทรปราการ ถ้าจะเดินทางต่อมาที่เพลินจิต สยาม หรือสีลม ซึ่งอยู่ในระบบสัมปทานของบีทีเอส ต้องบวกค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 22-44 บาทตามระยะทาง รวมแล้วสูงถึง 64-86 บาทต่อคนต่อเที่ยว
คนที่อยู่แถวรังสิต ปทุมธานี ก็เช่นเดียวกัน หากจะมาห้าแยกลาดพร้าว จะเสียค่าโดยสาร 45 บาท หากเดินทางเข้าเมืองต่อไป ต้องจ่ายเพิ่มอีก 22-44 บาท
อัตราค่าโดยสารใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เชื่อมกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี ทำให้การเดินทางสะดวก แต่ค่าโดยสารที่แพงมากเช่นนี้ เป็นการสร้างภาระให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น เพราะ กทม.สามารถเก็บค่าโดยสารตลอดสายได้ไม่เกิน 65 บาท หาก คณะรัฐมนตรีอนุมัติสัญญาต่อสัมปทานให้กับบีทีเอส
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากสถานีหมอชิตไปสิ้นสุดที่คูคต และจากสถานีอ่อนนุชไปสิ้นสุดสมุทรปราการให้บริการฟรีมา 2-3 ปีแล้ว เพราะยังอยู่ในช่วงทดลองให้บริการซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา และเป็นที่คาดกันว่า คณะรัฐมนตรี จะอนุมัติร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม.กับบีทีเอสก่อนวันที่ 15 มกราคม ซึ่งตามสัญญาค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 65 บาท
ร่างสัญญานี้ถูกนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีมาแล้ว 2 ครั้งๆ แรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่ถูกถอนออกไปจากวาระ เพราะตอนนั้นมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จากนายอุตตม สาวนายน เป็นนายมนตรี ดาวฉาย ต้องรอให้กระทรวงการคลังเสนอความเห็นกลับเข้ามาใหม่
ครั้งต่อมาในเดือนพฤศจิกายน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ตั้งคำถาม 4 ข้อในเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปี ว่า ทำถูกต้องตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือไม่ การกำหนดค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาทแพงไปหรือไม่ การใช้ทรัพย์สินของรัฐ และข้อพิพาทระหว่าง กทม.กับบีทีเอสก่อนหน้านี้
ข้อสังเกตทั้ง 4 ข้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง และ กทม.ได้ตอบมาหมดแล้ว ว่า ไม่มีปัญหา แต่ถูกนายศักดิ์สยาม ยกขึ้นมาอ้าง เพื่อขัดขวางการอนุมัติร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ก่อนหน้าที่จะมีการนำร่างสัญญาเข้า ครม.นายศักดิ์สยาม เคยตอบหนังสือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ขอความเห็นต่อร่างสัญญาในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ว่า เห็นชอบ กับการเจรจา และร่างสัญญาสมควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2563 นายศักดิ์สยาม มีหนังสือตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งว่า ยืนยันตามความเห็นเดิม และวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นายศักดิ์สยาม ตอบกลับเป็นครั้งที่สามว่า ยืนยันตามความเห็นเดิม ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม
สามครั้ง สามคราที่นายศักดิ์สยาม เห็นชอบกับร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยนำเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นายศักดิ์สยามกลับขัดขวาง โดยยกเอาคำถาม 4 ข้อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบกลับมาแล้วว่า ไม่มีปัญหาเป็นข้ออ้าง
การกลับลำ กลืนน้ำลายของนายศักดิ์สยาม เกิดขึ้นในช่วงที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม แก้ไขทีโออาร์ สัมปทานก่อสร้างและเดินรถรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ถึงศูนย์วัฒนธรรม ตามความต้องการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ขายซองประมูลไปแล้ว ซึ่งบริษัทบีทีเอสที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย คัดค้าน และฟ้องศาลปกครองให้สั่ง รฟม.กลับไปใช้ทีโออาร์เดิม โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ รฟม.ใช้ทีโออาร์เดิม รฟม.จึงอุทธรณ์คำสั่งส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เดินหน้าไม่ได้
การขวางร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวของนายศักดิ์สยาม จึงเป็นการเอาคืน และต่อรองกับบีทีเอสในกรณีพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่คนที่ต้องรับเคราะห์คือ ประชาชน ที่ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวสูงสุด 104 บาท แทนที่จะจ่ายในราคาเพียง 65 บาท ตามร่างสัญญาสัมปทานที่นายศักดิ์สยามขัดขวาง
ร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกิดขึ้นตามแนวทางของคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562 ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในตอนนั้น ที่ต้องการให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบ เป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยภาครัฐ เอกชน และประชาชนไม่เสียประโยชน์ โดยให้ กทม. เจรจากับบีทีเอสซึ่งเป็นผู้ให้บริการอยู่
ตามร่างสัญญาฯ บีทีเอสจะได้ต่ออายุสัมปทานซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี พร้อมกับสัญญาสัมปทานเดินรถสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งหมด ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2602 และจะเก็บค่าโดยสารตลอดสาย 68 กิโลเมตรสูงสุดไม่เกิน 65 บาท
นอกจากนั้น บีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้ และดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทของ กทม.ที่ต้องชำระคืนให้ รฟม.เพราะส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ เดิมเป็นโครงการของ รฟม.ที่ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว เมื่อโอนกลับมา กทม. จึงต้องใช้คืนค่าก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นของ กทม.ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเสนอร่างสัญญาให้ ครม.อนุมัติเลย มีหน้าที่ให้ความเห็นเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มที่ที่จะอนุมัติร่างสัญญา เพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย กระทรวงการคลังเห็นชอบด้วย และสำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจร่างสัญญาแล้ว แต่ในความเป็นรัฐบาลผสมอาจทำให้พี่น้อง 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่กล้ากับพรรคภูมิใจไทย
ที่ผ่านมา นโยบายโครงการของกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยดูแล ครม.จะผ่านให้โดยไม่ทักท้วง เช่น การที่บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ยกเว้นไม่เก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำจากคิง เพาเวอร์ตั้งแต่เดือนกุมพันธ์ 2563-มีนาคม 2565 เป็นมูลค่ามาต่ำกว่า 3- 4 หมื่นล้าน ทั้งๆ ที่ตอนประกาศนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่า ไวรัสโควิดจะระบาดรุนแรง และนานแค่ไหน แต่อนุมัติยกค่าตอบแทนให้ล่วงหน้า 2 ปี
หรือการอนุมัติเงินอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์การจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกโมโตจีพีประจำปี 2564- 2568 เป็นเงิน 900 ล้านบาทที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาขอมา ทั้งๆ ที่คนที่ได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันนี้เต็มๆ คือ เนวิน ชิดชอบ ผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรคภูมิใจไทย
ตรงข้ามกับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ อย่างสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวที่เก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเกรงว่า จะกระทบความสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย จนเป็นที่มาของเสียงร่ำลือว่า พรรคภูมิใจไทย “ขี่คอ” พี่น้อง 3 ป.ได้
การประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม.สูงสุดไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย เป็นแรงกดดันต่อพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ที่จะต้องพิสูจน์ภาวะผู้นำว่า กล้าตัดสินใจ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าความเกรงใจ ความเกรงกลัว พรรคภูมิใจไทย ปล่อยให้ประชาชนรับภาระค่าโดยสาร 104 บาท ทั้งๆ ที่สามารถจะจ่ายได้ไม่เกิน 65 บาท ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ กล้าตัดสินใจไม่ลอยตัว เพราะไม่อยากขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทย