xs
xsm
sm
md
lg

‘มาดูโร’ กระชับอำนาจเต็ม

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา
คนทั้งโลกกำลังเผชิญกับการระบาดหนักของเชื้อโคโรนาไวรัส และการเมืองของสหรัฐอเมริกายังอยู่ในสภาวะคาบลูกคาบดอก เพราะผู้นำประเทศ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังจะดิ้นรนสู้จนเฮือกสุดท้าย หรือวินาทีสุดท้ายก่อนเที่ยงวันที่ 20 มกราคม

ประเทศเวเนซุเอลา กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านรัฐสภา ฐานอำนาจของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร แข็งแกร่งกว่าเดิม คุมได้ทุกด้าน เว้นแต่เสียงคนคัดค้าน

ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา พรรคร่วมรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรประสบชัยชนะอย่างสวยงามด้วยจำนวนเสียง 256 ต่อ 277 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านประกาศบอยคอต อ้างว่ามีความไม่ถูกต้อง

เท่ากับว่ารัฐบาลของมาดูโรได้พรรคสังคมนิยมบริหารประเทศอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะคงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมองว่าจะมีประเทศสังคมนิยมอยู่หลังบ้านของตัวเอง

เมื่อผลออกมาอย่างนี้ เป็นที่คาดไว้แล้วว่าพรรคฝ่ายค้านมองว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม

ผู้นำฝ่ายค้าน นายฮวน กุยโด และเป็นคู่แค้นของมาดูโร ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสำหรับ ส.ส.จากสภาคองเกรสชุดเดิม โดยประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมว่าสภานิติบัญญัติชุดเดิมก็ยังจะประชุมและทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอย่างเดิม

เมื่อผลการเลือกตั้งมาอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าเวเนซุเอลาจะมีปัญหาการเมืองน้อยลง ที่ผ่านมาวิกฤตรุนแรงเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2019 เมื่อนายกุยโดประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีด้วยการสนับสนุนของสภานิติบัญญัติซึ่งฝ่ายค้านมีเสียงข้างมาก

นายกุยโดอ้างว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 ซึ่งทำให้มาดูโรเป็นผู้ชนะและเป็นผู้นำประเทศสมัยที่ 2 นั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนถูกจับกุมคุมขังและถูกห้ามเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

นายกุยโดประกาศว่าเมื่อมาดูโรไม่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเที่ยงธรรม ตำแหน่งประธานาธิบดีจึงควรว่างเปล่า และนายกุยโดได้อ้างมาตราในรัฐธรรมนูญว่าเมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีว่างผู้นำของสภานิติบัญญัติต้องเป็นผู้รับตำแหน่งช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในช่วงนั้น ผู้นำของสภาก็คือนายกุยโดซึ่งได้รับการรับรองมากกว่า 50 ประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประชาคมยุโรป และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

แต่ก็ไม่เป็นผล มาดูโรยังสามารถคุมกำลังฝ่ายความมั่นคงและกองทัพอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งกลไกด้านการเลือกตั้งและกระบวนการยุติธรรม

ที่สำคัญมาดูโรได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและจีน ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรสำคัญ เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่าม แม้ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะส่งทหารไปแทรกแซง แต่เมื่อประเมินกำลังของกองทัพเวเนซุเอลาแล้วต้องเปลี่ยนใจ

นั่นเป็นเพราะความพยายามของกุยโดที่ชักชวนให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนข้างไปสนับสนุนตัวเองไม่ประสบผลสำเร็จ มาดูโรยังสามารถกุมอำนาจและบริหารประเทศจากทำเนียบประธานาธิบดีซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลอีกด้วย

ในช่วงที่ฝ่ายค้านคุมเสียงข้างมากในสภา ก็ถือว่าเป็นหอกข้างแคร่ของมาดูโรเพราะกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงกับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ มาดูโรจึงต้องควบคุมเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด

และถือเป็นภารกิจสำคัญจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องจัดการให้สำเร็จ แล้วก็ทำได้แม้ฝ่ายค้านส่วนมากจะตัดสินใจไม่เข้าร่วมในศึกเลือกตั้งก็ตาม

ในการเลือกตั้งวันที่ 6 ธันวาคม ฝ่ายค้านอ้างว่าถ้าเข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของมาดูโรในการบริหารประเทศซึ่งการเลือกตั้งก็ถูกมองว่าไม่เป็นไปอย่างอิสระและเที่ยงธรรม

ดังนั้นเวเนซุเอลาจึงมีสภาวะเหมือน 2 สภา วันอังคารที่ผ่านมานี้ ส.ส.กลุ่มเดิมก็ยังเข้าทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งโดยเลือกให้กุยโดเป็นประธานรัฐสภา ขณะที่ทำพิธีสาบานตน หน่วยความมั่นคงไปอยู่บริเวณหน้าอาคารที่พักอาศัยของกุยโดด้วย

ดังนั้นสภาวะที่มี 1 ประเทศ 2 สภานิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องที่พิสดารเพราะดูเหมือนจะเป็นการเผชิญหน้ากันและก่อศึกน้ำลายกันระหว่าง ส.ส. 2 กลุ่ม

กุยโดประกาศว่าสาสน์ฉบับแรกถึงมาดูโรก็คือ “เราอยู่ที่นี่ ยืนหยัดอยู่ไม่ใช่เพื่อความน่าเชื่อถือของสถาบันนิติบัญญัติและความชอบธรรมในการถกเรื่องต่างๆ ในรัฐสภาอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น แต่เรามาอยู่ ณ ที่นี้เพื่อยืนหยัดกับประชาชนอีกด้วย

นายจอร์จ โรดริเกวซ ซึ่งถูกได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจงรักภักดีต่อมาดูโรก็ส่งทวิตเตอร์ตอบโต้ว่า ประชาชนได้หวนคืนสู่สภานิติบัญญัติเพื่อทวงคืนอำนาจที่ถูกแย่งชิงไป และพวกเราจะเป็นฝ่ายชนะ

ก่อนหน้านี้สมาชิกของพรรคสังคมนิยมได้ชูภาพของวีรบุรุษในการกอบกู้อิสรภาพของประเทศ นายซิโมน โบลิวาร์ และอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เข้าไปในรัฐสภา นายโรดริเกวซได้เรียกร้องให้ฝ่ายขัดแย้งได้คืนสู่โต๊ะเจรจาและกระบวนการประนีประนอม

แต่คงจะยากเพราะฝ่ายค้านส่วนหนึ่งในหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

เมื่อกระชับอำนาจได้สำเร็จก็มีการคาดหมายว่าจากนี้ไปกลุ่มนักประท้วงและฝ่ายตรงข้ามของมาดูโร ก็อาจจะถูกจับกุมคุมขังตามหลังกลุ่มคนกว่า 350 คนที่ถูกขังเพราะมีความเห็นทางการเมืองขัดแย้งกับรัฐบาล

เวเนซุเอลาก็ยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงเหมือนเดิม ประชาชนอดอยาก ขาดแคลนอาหาร สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันและอยู่ไปอย่างมองไม่เห็นอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น