ที่ปรึกษายัน “รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์” จะไม่ค้านการรับรองผลเลือกตั้งที่ โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะในการประชุมของรัฐสภาสหรัฐฯวันพุธ (6 ม.ค.) แม้ถูก “ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์” บีบคั้นหนัก ขณะที่พวกผู้สนับสนุนทรัมป์ทยอยกันมาชุมนุมกันในกรุงวอชิงตันแล้วเป็นเรือนร้อย ด้วยจุดประสงค์ผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติช่วยพลิกผลโหวต โดยที่ตัวทรัมป์เองประกาศว่าจะไปร่วมชุมนุมกล่าวปราศรัยด้วย
ทรัมป์ ที่มีกำหนดต้องพ้นจากทำเนียบขาวในวันที่ 20 ที่จะถึงนี้ กดดัน เพนซ์ อย่างหนักให้ขัดขวางกระบวนการประกาศรับรองชัยชนะของไบเดน ในการประชุมของรัฐสภาในวันพุธ หลังจากที่ความพยายามฟ้องร้องของทีมหาเสียงของตนเองเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งหลายสิบคดีถูกศาลทั่วประเทศปฏิเสธหมด
เพนซ์ซึ่งมีฐานะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะเป็นประธานของการประชุมรัฐสภาวันพุธ ซึ่งมีวาระตรวจสอบและรับรองผลการเลือกตั้งจากคณะผู้เลือกตั้งและประกาศชี้ขาดผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐต่างๆ ทั่วประเทศนั้น โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตเป็นผู้มีชัย โดยได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง ขณะที่ทรัมป์ได้แค่ 232 เสียง นอกจากนั้น ไบเดนยังได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต นั่นคือ คะแนนเสียงจากการโหวตของผู้ออกเสียงโดยตรง มากกว่าทรัมป์กว่า 7 ล้านคะแนน
กระนั้น ทรัมป์ยังคงดึงดันไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และแนะนำว่า เพนซ์สามารถทำได้มากกว่าแค่การรับรองผลการเลือกตั้ง โดยยังมีอำนาจในการคัดค้านคณะผู้เลือกตั้งบางคนที่เขากล่าวหาอย่างไม่มีหลักฐานว่ากระทำการฉ้อโกงอีกด้วย
ที่ปรึกษาคนหนึ่งของทรัมป์ เผยว่า ประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งผู้นี้เที่ยวบอกคนอื่นๆ ว่า ต้องการให้เพนซ์ต่อสู้เพื่อเขา
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า เมื่อวันอังคาร (5) เพนซ์บอกทรัมป์ว่า เขาไม่เชื่อว่า ตัวเองมีอำนาจในการขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง
แต่ในวันเดียวกันนั้น ทรัมป์ออกคำแถลงปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่า ตนและเพนซ์เห็นพ้องกันโดยสิ้นเชิงว่า รองประธานาธิบดีมีอำนาจในการดำเนินการและมีทางเลือกมากมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการไม่รับรองหรือส่งผลการเลือกตั้งกลับไปให้รัฐแก้ไขและรับรองใหม่
คำแถลงของทรัมป์ยิ่งเป็นการกดดันเพนซ์ ซึ่งที่ผ่านมาฝากอนาคตทางการเมืองไว้กับฐานเสียงของทรัมป์ อย่างไรก็ดี บรรดาที่ปรึกษาของรองประธานาธิบดีผู้นี้ ยืนยันเมื่อคืนวันอังคารว่า เพนซ์ไม่คิดเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเอง
เวลานี้มีสมาชิกรีพับลิกันในวุฒิสภาราว 12 คน และอีกหลายสิบคนในสภาผู้แทนราษฎร มีแผนคัดค้านการรับรองผลการเลือกตั้งในวันพุธ ถึงแม้ถูกระบุว่าไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ตาม เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ขณะที่สภาล่างในปัจจุบันพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ ส่วนในสภาสูง ส.ว.รีพับลิกันส่วนใหญ่ก็ประกาศแล้วว่าไม่ร่วมเล่นเกมนี้ด้วย
เท่าที่ผ่านมา เพนซ์พยายามแสดงความจงรักภักดีทรัมป์ แต่ไม่ร่วมย้ำข้อกล่าวหาซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงรองรับของทรัมป์ที่ว่าการเลือกตั้งคราวนี้มีการโกงกันมโหฬาร ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ (4) เขากล่าวว่า รีพับลิกันจะได้รับโอกาสในการแสดงการคัดค้านผลการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้บอกว่า ตนเองจะร่วมคัดค้านด้วย
วันเดียวกันนั้น มาร์ก ชอร์ต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของรองประธานาธิบดี ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า เพนซ์จะยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับบรรยากาศในกรุงวอชิงตันนั้น ตั้งแต่วันอังคาร (5) ผู้สนับสนุนทรัมป์หลายร้อยคนเริ่มไปชุมนุมกันในเมืองหลวงแล้ว ตามคำเชื้อเชิญยุยงของทรัมป์เพื่อกดดันคองเกรสให้คัดค้านชัยชนะของไบเดน โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากาก ซ้ำยังโจมตีสื่อว่า ประโคมข่าวสถานการณ์โรคระบาดให้ดูรุนแรงเกินจริง
ในวันอังคารเช่นกัน ทรัมป์ทวีตยืนยันว่า จะไปกล่าวปราศรัยกับกองเชียร์ในเวลา 11.00 น. วันพุธ ตามเวลาท้องถิ่นของวอชิงตัน ที่สวนสาธารณะเอลลิปส์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบขาว
อย่างไรก็ดี งานนี้หนึ่งในผู้ที่พลาดโอกาสเข้าร่วม คือ เอนริเก ทาร์ริโอ ผู้นำกลุ่มขวาจัด “พราวด์บอยส์” ซึ่งถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันจันทร์ในข้อหาทำลายทรัพย์สินและครอบครองซองกระสุนปืน และได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมาแต่ถูกสั่งห้ามเข้าไปในกรุงวอชิงตัน
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)