“ไบเดน-ทรัมป์” ต่างออกไปหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคตนชิง 2 เก้าอี้วุฒิสมาชิก ในการเลือกตั้งรอบตัดสินที่จอร์เจีย ซึ่งจะชี้ขาดดุลอำนาจในวอชิงตัน โดยที่ทรัมป์ยังคงดึงดันประกาศสู้ขาดใจไม่ยอมให้ไบเดนได้ครองทำเนียบขาว พร้อมกับกดดันรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตรับรองผลเลือกตั้ง ให้เดินตามเกมของตน ขณะเดียวกัน ผู้นำธุรกิจกว่า 170 คน ทำจดหมายเรียกร้องคองเกรสรับรองไบเดนในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมประณามสมาชิกรีพับลิกันบางคนที่เตรียมขัดขวางกระบวนการดังกล่าว
การเลือกตั้งรอบตัดสินในจอร์เจียวันอังคาร (5 ม.ค.) เป็นการต่อสู้กันระหว่างวุฒิสมาชิก 2 คนของรีพับลิกัน เคลลี โลฟเฟลอร์ และ เดวิด เปอร์ดิว กับ 2 ผู้ท้าชิงจากเดโมแครต ราฟาเอล วอ์ร์น็อก และ จอน ออสซอฟฟ์ ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ทั้ง 2 คู่ต่างได้คะแนนสูสีกันจนอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายของรัฐจอร์เจียกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งกันใหม่เป็นรอบตัดสิน
ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องการให้เดโมแครตชนะเพื่อครองเสียงข้างมากทั้งสภาสูงและสภาล่าง ทันทีที่ตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ที่จะถึง ส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะอำลาทำเนียบขาว ต้องการให้รีพับลิกันชนะเพื่อควบคุมวุฒิสภาต่ออีกสมัย และขัดขวางร่างกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของไบเดน
จอร์เจียสร้างเซอร์ไพรส์ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้มอบชัยชนะให้ไบเดน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐนี้สนับสนุนผู้สมัครจากเดโมแครตในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ และยังทำให้เดโมแครตมีความหวังในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรอบตัดสินครั้งนี้ แม้ว่าจอร์เจียไม่เคยเลือกวุฒิสมาชิกเดโมแครตมานานถึง 20 ปีก็ตาม
หากผู้สมัครทั้ง 2 คนของเดโมแครตชนะ จะทำให้มีที่นั่งในสภาสูง 50 ที่นั่งเท่ากับรีพับลิกัน แต่ด้วยกฎที่ว่าที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ในฐานะประธานของวุฒิสภาโดยตำแหน่ง สามารถลงคะแนนตัดสินได้ ในกรณีที่ผลโหวตเสมอกัน เท่ากับว่า ไบเดนสามารถผลักดันร่างกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเดโมแครตคุมสภาล่างอยู่แล้ว
ทรัมป์ที่แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งในเรื่องคะแนนคณะผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และคะแนนเสียงโดยตรงจากประชาชนผู้ออกเสียง แต่ยังคงดึงดันไม่ยอมรับความปราชัย ประกาศระหว่างการปราศรัยในเมืองดาลตันของจอร์เจียเมื่อวันจันทร์ (4) ว่า “พวกเขาไม่มีทางได้ครองทำเนียบขาว เราจะสู้สุดชีวิต” ท่ามกลางเสียงเชียร์จากกลุ่มผู้สนับสนุนที่ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่างทางสังคม
อดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้ยังคงย้ำยืนยันโดยไม่มีหลักฐานตามเคยว่า มีการโกงเลือกตั้งมโหฬารเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน
ทรัมป์ยังกดดันรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ โดยกล่าวว่า ตนหวังว่า เพนซ์จะทำสำเร็จ พร้อมยกย่องเพนซ์ว่าเป็นคนดีมาก
ทั้งนี้ ตามกระบวนการ ในวันพุธ (6) เพนซ์จะรับหน้าที่ประธานการประชุมของรัฐสภาเพื่อตรวจสอบและลงมติรับรองผลการเลือกตั้งของคณะผู้เลือกตั้ง รวมทั้งประกาศชื่อว่าที่ประธานาธิบดี และว่าที่รองประธานาธิบดี โดยที่ไบเดนนั้นได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง ส่วนทรัมป์ได้แค่ 232 เสียง และไบเดนยังโกยคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่าทรัมป์กว่า 7 ล้านคะแนน
อย่างไรก็ดี มีสมาชิกรีพับลิกันในสภาล่างกว่า 100 คน และราว 12 คนในสภาสูง วางแผนยื่นคัดค้านการรับรองผลการเลือกตั้งในวันพุธ แม้เป็นที่คาดกันว่า ความพยายามนี้ถึงอย่างไรก็จะล้มเหลว
การปราศรัยของทรัมป์ที่จอร์เจียนี้ ยังมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังสื่อเผยแพร่เทปเสียงที่เขาข่มขู่ให้ แบรด ราฟเฟนส์เปอร์เกอร์ เลขาธิการรัฐจอร์เจีย หาคะแนนโหวตมาให้พอพลิกผลการเลือกตั้งในรัฐนี้
อย่างไรก็ดี ไบเดนซึ่งในวันจันทร์ (4) ก็ออกไปหาเสียงช่วยฝ่ายเดโมแครตที่จอร์เจียเช่นเดียวกัน ไม่ได้พาดพิงถึงเรื่องนี้โดยตรง แต่โจมตีทรัมป์ว่า ทำไมถึงยังหวงตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้อยากทำงาน พร้อมวิจารณ์การรับมือวิกฤตโรคระบาดของคณะบริหารที่กำลังจะพ้นตำแหน่งว่า ทรัมป์เสียเวลามากมายไปกับการโอดครวญแทนที่จะลงมือแก้ปัญหา โดยขณะนี้อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 350,000 คน และไวรัสโคโรนายังระบาดอย่างรวดเร็วในรัฐส่วนใหญ่
วันเดียวกันนั้น ผู้นำธุรกิจกว่า 170 คน จากอุตสาหกรรมการเงินจนถึงกีฬา เทคโนโลยี สื่อ ฯลฯ ของอเมริกา ร่วมลงชื่อในจดหมายที่เผยแพร่โดยพาร์เนอร์ชิป ฟอร์ นิวยอร์ก ซิตี เรียกร้องให้ที่ประชุมคองเกรสวันพุธ (6) รับรองไบเดนในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ พร้อมประณามความพยายามขัดขวางกระบวนการรับรองนี้
นักธุรกิจที่ลงชื่อในจดหมายนี้ มีอาทิ โจนาธาน เกรย์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการแบล็กสโตน, แบรด สมิธ ประธานไมโครซอฟท์, อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานบริหารไฟเซอร์, ประธานบริหารโกลด์แมน แซคส์ และ อเมริกัน เอ็กซ์เพรส เป็นต้น
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)