ผู้พิพากษาศาลกลางสหรัฐฯ รายหนึ่งเมื่อวันศุกร์ (1 ม.ค.) ตีตกคำฟ้องของสมาชิกสภาคองเกรสของรีพับลิกัน ที่ต้องการเปิดทางให้รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ปฏิเสธผลโหวตของคณะเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกไบเดน ไปเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ครั้งที่สภาคองเกรสมีกำหนดเปิดประชุมกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม เพื่อรับรองชัยชนะของตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเหนือประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์
คดีล่าสุดของความพยายามต่างๆนานาของพันธมิตรรีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่หวังล้มผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ถูกปฏิเสธโดยผู้พิพากษา เจเรมี เคอร์โนเดิล ซึ่งทรัมป์แต่งตั้งเข้ามาเอง โดยผู้พิพากษารายนี้ตัดสินว่า หลุยส์ โกห์เมิร์ต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากเทกซัส และกลุ่มคณะผู้เลือกตั้งรีพับลิกันจากแอริโซนา ไม่ได้แสดงได้เห็นว่าพวกเขาได้รับผลกระทบโดยส่วนตัวใดๆ ตามคำกล่าวอ้างของเพนซ์ว่ามีการทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นมันจึงปราศจากสถานะทางกฎหมายที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาคดี
ข้อบังคับสถานะทางกฎหมาย “ช่วยกำหนดจำกัดบทบาทของศาลกลางในระบบรัฐธรรมนูญของเรา และปัญหาของผู้ร้องทุกข์คือมันปราศจากสถานะทางกฎหมาย” ผู้พิพากษาเคอร์โนเดิล เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
โฆษกของทรัมป์โยนให้สำนักงานของเพนซ์เป็นผู้ตอบคำถามในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม โฆษกของรองประธานาธิบดียังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ส่วนทางโฆษกหญิงของ โกห์เมิร์ต ก็ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน
ทรัมป์ ปฏิเสธยอมรับความพ่ายแพ้ต่อ ไบเดน และกล่าวอ้างมาตลอดว่าศึกเลือกตั้งแปดเปื้อนด้วยการโกงอย่างมโหฬาร ทว่าที่ผ่านมา เขาและพันธมิตรพ่ายแพ้ในชั้นศาลแล้วหลายสิบคดี ในความพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง
ไบเดน เอาชนะ ทรัมป์ ในคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 306 ต่อ 232 เสียง และมีกำหนดสาบานตนเเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
ภายใต้ระบบคณะผู้เลือกตั้ง มีการจัดสรรคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้ตามรัฐต่างๆและวอชิงตัน ดี.ซี. บนพื้นฐานของจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสในแต่ละรัฐ
คำฟ้องของ โกห์เมิร์ต อ้างว่ามันเป็นดุลยพินิจของเพนซ์ ที่จะตัดสินใจว่าควรนับคะแนนโหวตใดบ้าง นอกจากนี้แล้วพวกเขายังขอให้ศาลละเว้น เพนซ์ จากการปฏิบัติตามกฎหมายนับคะแนนเลือกตั้งปี 1887 (Electoral Count Act of 1887) ซึ่งกำหนดกรอบแนวทางการคัดค้านผลเลือกตั้งในสภาคองเกรส
สมาชิกรีพับลิกันบางส่วนบอกว่าพวกเขามีแผนคัดค้านการนับคะแนนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีในสภาคองเกรสสัปดาห์หน้า ขณะที่รอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าความพยายามดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการอภิปรายยืดเยื้อในสภาคองเกรสก็จริง แต่แทบไม่มีโอกาสล้มผลเลือกตั้งแม้แต่น้อย
(ที่มา : รอยเตอร์)