xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โควิด-19 รอบใหม่กำลังมา เงินกู้1.1ล้านล้านเหลือกี่บาทแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์-สุดสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2563 เป็นครั้งแรกของปีงบประมาณ

ที่น่าสนใจในวันนั้นมีการสรุปการเบิกจ่ายงบประมาณ"โครงการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)รอบที่1 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย.63 (จากรายงานเงินเคลื่อนไหวเงินฝากคลัง กรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 7 ธ.ค. 63)

1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

สบน. ระบุว่ามีการกู้แล้ว 348,761 ล้านบาท หรือ 35%

โดย ครม.อนุมัติโครงการแล้ว 488,430.88 ล้านบาท ใน 3 แผนงาน

แผนงานที่ 1 ด้านสาธารณสุข วงเงินอนุมัติ 2,555.49 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 518.92 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 20.3ประกอบด้วย รองรับค่าใช้จ่าย/เยียวยา/ชดเชยบุคลากรทางการแพทย์ วงเงินอนุมัติ 1,575.46 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 518.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.91
จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข วงเงินอนุมัติ 2.94 ล้านบาท ยังไม่มีการเบิกจ่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน วงเงินอนุมัติ 977.09 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 5.1 แสนบาท

แผนงานที่ 2 เงินเยียวยา/ช่วยเหลือประชาชน/เกษตรกร วงเงินอนุมัติ 365,657.73 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 309,787.19 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 84.72 แยกเป็น

เงินช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้แก่ประชาชน รวมวงเงินอนุมัติ 215,657.73 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 196,484.61 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.11 แบ่งเป็น ช่วยเหลือประชาชน 16 ล้านคน ตามวงเงินอนุมัติ 170,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 15.269 ล้านคน วงเงินเบิกจ่าย 159,583.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 93.87

ช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบาง 6.782 ล้านคน ตามวงเงินอนุมัติ 20,345.64 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไปแล้ว 6.663 ล้านคน วงเงินเบิกจ่าย 19,990.81 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 98.26

ช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ "บัตรคนจน" 1.164 ล้านคน ตามวงเงินอนุมัติ 3,492.67 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือ"บัตรคนจน"ไปแล้ว 1.026 ล้านคน วงเงินเบิกจ่าย 3,080.27 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 88.19

ช่วยเหลือ กลุ่มลูกจ้าง 59,776 คน ตามวงเงินอนุมัติ 896.64 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างไปแล้ว 13,930 คน วงเงินเบิกจ่าย 208.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 23.30

ช่วยเหลือ เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ "บัตรคนจน" 13.95 ล้านคน ตามวงเงินอนุมัติ 20,992.78 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรคนจนไปแล้ว 13.512 ล้านคน วงเงินเบิกจ่าย 13,620.65 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 65.10

ช่วยเหลือ กลุ่มเกษตรกร 10 ล้านคน ตามวงเงินอนุมัติ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรไปแล้ว 7.566 ล้านคน วงเงินเบิกจ่าย 113,302.58 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 75.54

ขณะที่ผลการเยียวยา สามารถเยีวยาแล้ว 30.538 ล้านคน คิดเป็น 89.80% ของเป้าหมาย 34.006 ล้านคน

แผนงานที่ 3 พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ/ชุมชน/ครัวเรือน/โครงสร้างพื้นฐาน วงเงินอนุมัติ 120,217.66 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 21,472.96 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 17.86 แยกเป็น แผนพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามวงเงินอนุมัติ 27,783.55 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 55.31 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 0.19

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ตามวงเงินอนุมัติ 15,679.58 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 11.34 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 0.07 แผนส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ตามวงเงินอนุมัติ 76,754.53 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 21,406.31 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 27.89 ขณะที่แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่มีการอนุมัติ หรือเบิกจ่าย

สำหรับ "แผน/ผลการใช้จ่ายเงินกู้โควิด ปี 2564" พบว่า มีแผนปี 64 ใน 168 โครงการ วงเงินรวม 125,346.37 ล้านบาทมีการเบิกจ่ายแล้ว 16 โครงการ วงเงิน 33,714.68 ล้านบาท (ต.ค.-พ.ย.2564) หรือ 27% ของแผนปี 2564

โดยแยกเป็น แผนงานที่ 1 วงเงิน 518.92 ล้านบาท(0.4%) แผนงานที่ 2 วงเงิน 13,646.11 ล้านบาท (11%) และแผนงานที่ 3 วงเงิน 19,549.65 ล้านบาท (16%)

นอกจากนี้ ยังพบว่า หน่วยงานมีแผนการใช้จ่ายเงินกู้ในปี 2565 จำนวน 3,001.71 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำแผนรายเดือน จำนวน 13,571.18 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือของโครงการที่เบิกแล้วเสร็จ-ไม่ประสงค์ใช้ จำนวน 47,267.38 ล้านบาท

สำหรับ "สถานะของโครงการ" ทั้ง 3 แผนนงาน เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เกินกว่า 3 เดือน แต่ยังไม่มีผลเบิกจ่าย ประกอบด้วย โครงการในกรอบวงเงิน 50 ล้านบาท

แผนงานที่ 1 "ด้านสาธารณสุข" แผนงานย่อย 1.5 แผนงานหรือโครงการเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน "โครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในการป้องกันและการตรวจโรคติดเชื้อ COVID-19"เพื่อการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย A14 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) พบว่า โครงการได้รับจัดสรรเงินกู้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 63 อยู่ระหว่างจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ วพ. บันทึกการสร้างใบ PO ผิดพลาดและอยู่ระหว่างแก้ไข ทำให้ไม่มีผลเบิกจ่าย

โครงการใน "แผนงานย่อย 3.2" แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น "โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในกรอบวงเงิน 9,805.71 ล้านบาท เบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 283.24 ล้านบาท

สถานะล่าสุดพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจาก "เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ" ที่รับเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ ไม่รับพื้นที่เช่า ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะเช่าพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และพื้นที่ของเกษตรกรไม่เหมาะสมที่จะขุดเจาะ พบว่า โครงการมีเงื่อนไข "จำกัดจำนวนคนที่จะจ้างงานในแต่ละตำบล" จึงทำให้มีเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 21,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 ของเป้าหมาย แต่มีการจ้างงานได้เพียง 9,000 ราย

ล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างเสนอขอปรับเกณฑ์ลดจำนวนและขนาดพื้นที่ดำเนินการ ต่อสภาพัฒน์ ก่อนเสนอขออนุมัติต่อ ครม. ตามลำดับ

"โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”ของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย กรอบวงเงิน 4,787.92 ล้านบาทเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 2,354.60 ล้านบาท

พบว่า ผลการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากพช. ได้รับจัดสรรเงินกู้เมื่อ 23 ก.ย. 63 เบิกจ่ายเงินงวดที่ 1 จำนวน 619.63 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมและการสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชน และ พช.จัดสรรงบประมาณให้หน่วยดำเนินการทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 63 พช. อยู่ระหว่างเสนอขอปรับแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินต่อ สภาพัฒน์ ก่อนเสนอขออนุมัติต่อ ครม. ตามลำดับ โดยจะขอขยายระยะเวลาดำเนินงานจากสิ้น ก.ย. 64 เป็นสิ้น พ.ย. 64

โครงการใน "แผนงานย่อย 3.3" แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน เช่น "โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง" ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กรอบวงเงิน 1,080.59 ล้านบาท เบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 126.47 ล้านบาท

พบว่า ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย เริ่มจ้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (อสม.บริบาลท้องถิ่น)ในเดือน พ.ย. 63 จำนวน 12,205 ราย จากเป้าหมาย 15,548 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการ "ลาออก" เพื่อประกอบอาชีพอื่น ป่วย อัตราค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน

"โครงการพัฒนาตำบลบูรณาการ" ของกรมการปกครอง (ปค.) กระทรวงมหาดไทย กรอบวงเงิน 2,701.88 ล้านบาท เบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 138.06 ล้านบาท สถานะของโครงการ ปค.ได้รวบรวมเอกสารสำหรับเบิกจ่ายเงิน "ล่าช้า" เนื่องจากต้องรวบรวมผลการปฏิบัติงานรายบุคคลทั่วประเทศ ขณะที่ ปค.ได้จ้างผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ได้ตามแผนที่วางไว้ จำนวน 14,510ราย 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 ราย โดยมีระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้น 12 เดือน

"โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน" ของ กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงิน 19,462.00 ล้านบาทเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 3,269.05 ล้านบาท

กกจ. แจ้งว่า ณ 18 ธ.ค.63 มีการจ้างงานแล้ว 6,837ราย จากเป้าหมาย 260,000 ราย ขณะที่ "ผู้จบการศึกษาใหม่" เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากเคยอยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้ขาดคุณสมบัติการจ้างงาน โดย "นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้จบการศึกษาใหม่" ไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการ นอกจากนี้ "นายจ้าง/สถานประกอบการ" ไม่นำเข้าข้อมูลลูกจ้างเข้าระบบ ทำให้การตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงิน ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับเงินล่าช้า

"โครงการคนละครึ่ง" ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง (เฟสแรก) กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท โครงการนี้ เปิดให้ผู้ลงทะเบียน เริ่มใช้สิทธิ์ได้ วันที่ 23 ต.ค.63 ประกอบกับช่วงเริ่มโครงการ ผู้ประกอบการยังเข้าร่วมโครงการจำนวนไม่มาก ส่งผลให้มีผลเบิกจ่ายสะสมถึงสิ้น พ.ย. 63 ร้อยละ 70

แต่ "ปัจจุบันโครงการได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี" สศค.จึงได้เสนอ "โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 วงเงิน 22,500 ล้านบาทโดยมีกลุ่มเป้าหมายรวม 15 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ลงทะเบียนเดิม 10 ล้านคน และผู้ลงทะเบียนใหม่ 5 ล้านคน จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31มี.ค. 64

ล่าสุด ครม. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ถือเป็นโครงการเดียว ใน"โครงการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น