3 กรมใหญ่ มหาดไทย รายงานอุปสรรค สถานะเบิกจ่าย "เงินกู้" สู้โควิด-19 รอบแรก 8.5 พันล้าน จากเงินกู้ 1.1 ล้านล้าน "พช."จ่อปรับแผน "โคก หนอง นา โมเดล" จากเงินกู้ 4 พันล้าน เบิกจ่ายพลาดเอง 2.3 พันล้าน "สถ."ไม่น้อยหน้า "อส.บริบาลคนชรา"งบฯ 1 พันล้าน พลาดเป้า 126 ล้าน เหตุผู้มีสิทธิ์ร่วมโครงการต่ำกว่าเป้า แถมบางส่วน "ขอลาออก" ระหว่างร่วมโครงการ ด้าน "1 ตำบล 2 จนท."งบ 2.7 พันล้าน ของ "ปค." อ้างติดปัญหารวบรวมเอกสารบุคลากร "ล่าช้า" ทำเบิกจ่ายพลาด 138 ล้าน
วันนี้ ( 25 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2563 ที่กระทรวงการคลัง เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสรุปการเบิกจ่ายงบประมาณ "โครงการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบที่ 1 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ในส่วนของกระทรววมหาดไทย วงเงินรวม 8,570.39 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธ.ค.2563
โดยเฉพาะ โครงการใน "แผนงานย่อย 3.2" แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ในกรอบวงเงิน 4,787.92 ล้านบาท พบว่ามีการเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 2,354.60 ล้านบาท
"โครงการนี้ ผลการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจาก พช. ได้รับจัดสรรเงินกู้ เมื่อ 23 ก.ย. 63 เบิกจ่ายเงินงวดที่ 1 จำนวน 619.63 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมและการสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชน และ พช. จัดสรรงบประมาณให้หน่วยดำเนินการทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 63 ปัจจุบัน พช. อยู่ระหว่างเสนอขอปรับแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินต่อ สภาพัฒน์ ก่อนเสนอขออนุมัติต่อ ครม. ตามลำดับ โดยจะขอขยายระยะเวลาดำเนินงานจากสิ้น ก.ย. 64 เป็นสิ้น พ.ย. 64"
ต่อมา โครงการใน "แผนงานย่อย 3.3" แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ประกอบด้วย โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง" ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กรอบวงเงิน 1,080.59 ล้านบาท พบว่า เบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 126.47 ล้านบาท
"ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย เริ่มจ้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (อสม.บริบาลท้องถิ่น)ในเดือน พ.ย. 63 จำนวน 12,205 ราย จากเป้าหมาย 15,548 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการ "ลาออก" เพื่อประกอบอาชีพอื่น อัตราค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน"
สุดท้าย โครงการพัฒนาตำบลบูรณาการ ของกรมการปกครอง (ปค.) กระทรวงมหาดไทย กรอบวงเงิน 2,701.88 ล้านบาท พบว่าเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 138.06 ล้านบาท สำหรับสถานะของโครงการนี้ ปค. ได้รวบรวมเอกสารสำหรับเบิกจ่ายเงิน "ล่าช้า" เนื่องจากต้องรวบรวมผลการปฏิบัติงานรายบุคคลทั่วประเทศ ขณะที่ ปค.ได้จ้างผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ได้ตามแผนที่วางไว้ จำนวน 14,510 ราย 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 ราย โดยมีระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้น 12 เดือน.