ความผิด ไม่ว่าจะเกิดจากการพูดหรือจากการกระทำ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความคิด ความเห็นที่ผิดทั้งสิ้น
ความผิด ไม่ว่าจะเกิดจากการพูด หรือกระทำเกิดจากการล่วงละเมิดกติกาทางสังคมที่มนุษย์กำหนดขึ้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคมนั้นๆ เป็นไปโดยความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสงบสุข
กติกาทางสังคมที่ว่านี้ได้แก่ จารีตประเพณี วัฒนธรรม คำสอนของศาสนา ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย
กติกาทางสังคมหนึ่ง อาจมีความแตกต่างจากสังคมหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ลักษณะการลงโทษผู้ล่วงละเมิดกติกา มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ลักษณะดังต่อไปนี้
1. โทษทางสังคม อันได้แก่ การประณาม ตำหนิติเตียน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นไม่คบค้าสมาคมด้วย และโทษทางสังคม จะกระทำต่อผู้ล่วงละเมิดจารีตประเพณี วัฒนธรรม รวมไปถึงความถือศรัทธาในลัทธิต่างๆ
2. โทษทางใจ ซึ่งเป็นโทษที่กระทำต่อผู้ล่วงละเมิดคำสอนของศาสนาในส่วนที่เป็นข้อห้ามหรือศีล โดยที่ผู้กระทำผิดรู้สึกเป็นบาป และเป็นทุกข์ เนื่องจากกังวลต่อผลที่เกิดขึ้นตามมาในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่ตายจากโลกนี้ไป
3. โทษทางกฎหมาย ซึ่งเป็นโทษที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรม หนักเบาขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำความผิด
ในจำนวนโทษ 3 ประการนี้ โทษทางใจมีความสำคัญ ละเอียดอ่อน มีผลทำให้ผู้คนในสังคมอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข แน่นอนถ้าทุกคนเกรงกลัวโทษทางใจ โดยการละอายต่อบาป และเกรงต่อบาป ไม่กลัวกระทำผิดโดยไม่ต้องมีคนมาฟ้องร้อง หรือปรักปรำแต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าทุกคนกลัวบาป ซึ่งเป็นโทษทางใจ การกระทำความผิดทางกาย และทางวาจาซึ่งมีโทษทางสังคม และทางกฎหมายก็จะไม่เกิดขึ้น
แต่วันนี้ และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไม่กลัวโทษทางใจ จึงได้กระทำผิด ทั้งในส่วนที่โทษทางสังคม และโทษทางกฎหมาย จะเห็นได้ชัดเจนในการชุมนุมในประเทศไทย ซึ่งผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำของกลุ่มราษฎรที่ปราศรัยโจมตีสถาบันเบื้องสูง ด้วยคำหยาบคาย และไร้จริยธรรม ที่คนไทยจะพึงมีและพึงเป็น ได้ล่วงละเมิดกฎหมายมาตรา 112 ชัดเจน และเป็นรูปธรรมชนิดที่คนไทยผู้จงรักภักดีฟังแล้วรับไม่ได้ และที่ร้ายกว่านี้ ยังได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้พวกตนให้ร้ายสถาบันได้ตามอำเภอใจอีกด้วย
เกี่ยวกับพฤติกรรมม็อบกลุ่มนี้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนรักสถาบันฯ ออกมาปกป้องจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน
ถ้าคนกลุ่มที่ว่านี้ไม่เลิกราในการชุมนุม และยังคงโจมตีสถาบันเบื้องสูงต่อไป คงจะไม่มีใครรับรองได้ว่า จะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น และเกิดความรุนแรงแล้วจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบที่นักการเมืองอาชีพไม่ต้องการให้เป็นหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดผิด เห็นผิดของคนกลุ่มเดียว คงจะไม่ทำให้เกิดความรุนแรงจนกลายเป็นเหตุอ้างในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบที่ไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ถ้าทุกคนมีความอดทน และแก้ปัญหาที่เหตุ นั่นคือ การเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิ โดยการทำให้เกิดเหตุปัจจัย 2 ประการคือ
1. ปรโตโฆสะ ฟังความคิดเห็นของคนอื่น โดยเฉพาะความคิดเห็นที่รอบคอบ ชอบธรรม และยึดประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง
2. โยนิโสมนสิการ นำความคิดเห็นของคนอื่นมาพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม แยกความชั่ว และความดีออกจากกันแล้วทิ้งส่วนที่ชั่วไป เก็บสิ่งที่ดีไว้
นอกจากเปลี่ยนความคิดเห็นของคนเห็นผิดแล้ว พร้อมกันนี้จะต้องแก้ไขต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองให้หมดไป โดยการเปลี่ยนรัฐบาลที่ประชาชนยอมรับ และแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่