xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐไทยอำนวยความสะดวกตั้ง"วัดคาทอลิก" จ่อตัดประเด็น"ปัญหาถือครองที่ดิน"กม.ร.ศ.128

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์- หลายวันก่อน คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบ ร่าง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ก่อนส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ถือเป็นแนวทางการพิจารณาจัดตั้ง "วัดคาทอลิก" ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณ ฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ. 128

ร่างฉบับนี้ให้อำนาจ“คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก”เป็นผู้อนุญาต มีรมว.วัฒนธรรมและกรรมการจากข้าราชการ 6 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 3 คน และอธิบดีกรมการศาสนา มีอำนาจพิจารณาการขอตั้งวัดคาทอลิกที่จะต้องเป็นสถานที่ที่สมควรเป็นที่พำนักของบาทหลวง และเพื่อการประกอบศาสนกิจอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ,ตั้งอยู่ห่างจากวัดคาทอลิกอื่นโดยรอบ ไม่น้อยกว่า 20 กม. มีบาทหลวงพำนักอยู่เป็นประจำอย่างน้อย 2 คน ต้องเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีคริสต์ศาสนิกชนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 200 คน

โดยต้องมีเหตุผลที่จะสนับสนุนได้ว่า เมื่อตั้งวัดคาทอลิกแล้วจะได้รับการทำนุบำรุง ส่งเสริมและอุปถัมภ์จากประชาชนในพื้นที่ โดยอาจดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณที่ตั้งวัดคาทอลิก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ข้อกำหนดอื่นๆ เช่น แผนที่แสดงเขตที่ตั้งและสถานที่ใกล้เคียงโดยรอบ เส้นทางคมนาคมโดยสังเขป หนังสือรับรองให้จัดตั้งวัดคาทอลิก จากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ตามขั้นตอนการยื่นขอจัดตั้ง ให้ "มิซซัง" ยื่นคำขอจัดตั้ง ณ กรมการศาสนา ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ก่อนเสนอคณะกรรมการชุดนี้ รมว.วัฒธรรม และคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อประกาศการจัดตั้งวัดคาทอลิกในราชกิจจานุเบกษา

โดยกรมศาสนาต้องรวบรวมข้อมูลวัดคาทอลิกเพื่อจัดทำเป็นทะเบียน และรวบรวมข้อมูลจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ส่วนวัดที่ได้จัดตั้งอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฉบับนี้ใช้บังคับ หากมิซซังร้องขอให้รับรองวัดคาทอลิก ให้เสนอ กรมศาสนา ตามลำดับ

ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นคณะกรรมการอาจเสนอต่อครม. เพื่อพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์หรือเอกสารบางประเภทได้ตามเหตุผลและความจำเป็นข้างต้นเป็นสรุปร่างระเบียบ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องพิจารณาก่อนรายงาน ครม.อีกครั้ง

ทีนี้มาดูว่า เหตุผล?? ทำไมต้องนำเสนอครม. ร่างระเบียบใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อ ก.พ.61 พระคารดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบหารือเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมายของพระศาสนจักรคริสต์คาทอลิกในประเทศไทย ร.ศ. 128

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รอนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ตามกฎหมายดังกล่าว

ต่อมา คณะทำงานฯ ได้หารือกับสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิก เพื่อยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ได้มีความเห็นจาก "กรมที่ดิน และกรมการศาสนา" จำเป็นต้องยกร่างระเบียบใหม่ โดยเฉพาะประเด็น "การได้มาของที่ดิน" ให้ตัดประเด็นที่เกี่ยวกับการได้มาของที่ดินของวัดคาทอลิก

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในปี 2562 เป็นปีแห่งการสถาปนามิซซังสยาม ครบรอบ 350 ปี ที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับนครรัฐวาติกัน ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเมื่อปี พ.ศ. 2205 คณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา อีกทั้ง ประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และจะครบรอบ 50 ปีในปี พ.ศ. 2562

สำหรับ "การตัดประเด็นที่เกี่ยวกับการได้มาของที่ดินของวัดคาทอลิก" ตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับนี้

สถานภาพทางกฎหมายเดิม เริ่มจาก "พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณ ฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ. 128" ระบุไว้ว่า

“ข้อ 1 คณะโรมันคาทอลิก ในกรุงสยามนี้ ไม่เลือกว่ามิซซังและบาทหลวงจะเป็นคนชาติ ภาษาใด ๆ ได้รับอนุญาตตามกฎหมายฝ่ายสยาม ให้เป็นบริษัทอันหนึ่งเฉพาะวิการิโอ อาปอสตอลิโกแห่งหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจถือที่ดินสำหรับประโยชน์มิซซัง ตามข้อความที่กำหนดไวในพระราชบัญญัตินี้”

“ข้อ 3 ในภายหน้าห้ามไม่ให้บาทหลวงโรมันคาทอลิก ผู้ซึ่งยังอยู่ในมิซซัง ถือที่ดินในชื่อของตนเองได้"

“ข้อ 6 ที่ดินของมิซซัง นั้นให้แบ่งเป็นสองอย่างตามที่ใช้การในที่ดินนั้นๆ อย่างที่ 1 นั้น คือที่ดินที่ใช้เป็นวัดโรงเรือน ตึกราม วัดบาทหลวง อย่างที่ 2 นั้น คือที่ดินเพื่อทำประโยซนโห้แก่มิซซัง"

"ข้อ 10 มิซซังจะหาที่ดินแห่งใดๆ เพื่อใช้ในการตั้งสถานวัดบาทหลวง หรือสถานพัก สอนศาสนาขึ้นใหม่มีขนาดที่ดินตามที่ต้องการใช้เฉพาะเพื่อประโยชน์ที่กล่าวนี้ ก็ทำได้ตามปรารถนา

แต่ว่าเมื่อมิซซังประสงค์จะตั้งวัดบาทหลวงขึ้นใหม่ในเมือง ซึ่งยังไม่ได้มีอำนาจ ที่จะถือที่ดินสำหรับทำประโยชน์ให้แก่มิซซังนั้นแล้ว ก่อนที่จะตั้งสถานวัดบาทหลวงขึ้นนั้น ให้ทำเรื่องราวฉบับ 1 ร้องขอต่อรัฐบาล ชี้แจงข้อความตามประสงค์ที่จะตั้งสถานนั้น

การที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานวัดบาทหลวงเช่นนี้ อย่าให้งดไว้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ที่จะงดและให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงในท้องที่นั้นตอบคำร้องของมิซซังเป็นเด็ดขาดภายในกำหนดสี่เดือน”

“ข้อ 13 จำนวนที่ดินซึ่งมิซซังจะมีได้ ในจำพวกที่ดินสำหรับทำประโยชน์ให้มิซซังนี้ ให้มีกำหนด "ไม่เกินกว่าเมืองละสามพันไร่" ไม่ว่าสถานวัดบาทหลวงที่ตั้งอยู่ในเมืองนั้นมีอยู่กี่แห่ง และที่ดินอย่างนี้ ไม่ให้คิดจำนวนเนื้อที่ซึ่งตั้งสถานวัดบาทหลวง หรือสถานพักสอนศาสนานั้นเข้ามารวมด้วย”

อีกฉบับ เป็นประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะฐานของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยาม แก่วิกาลิอาโตอาปอสตอสิโก แห่งหนองแสง

“มาตรา 2 จำนวนที่ดินซึ่งมิซซังจะครอบครองหรือถือเอาสำหรับทำประโยชน์นั้นให้ มีกำหนดไม่เกิน 1,000 ไร่ ต่อหนึ่งจังหวัด ตามที่มีอยู่ ณ บัดนี้ ไม่ว่าสถานวัดบาดหลวงซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ จะมีอยู่กี่แห่ง และไม่ให้คิดจำนวนเนื้อที่ ซึ่งตั้งสถานวัดบาทหลวง หรือสถานพักสอนศาสนานั้นเข้ามารวมด้วย”

ขณะที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 84 กำหนดให้ “การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก มูลนิธิ เกี่ยวกับคริสตจักร หรือมัสยิดอิสลาม ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ ในกรณีที่เป็นการสมควรรัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มา ซึ่งที่ดินเกินจำนวนที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกก็ได้

บทบัญญัติใน มาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนการได้มาซึ่งที่ดินที่มีอยู่แล้ว ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และการได้มาซึ่งที่ดินของมัสยิดอิสลาม โดยทางบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในจังหวัดที่มี ตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม”

ขณะเดียวกัน มีการรายงานข้อมูลเพิ่มเติม ให้ ครม.รับทราบว่า การจัดตั้งวัดคาทอลิก แต่เดิมมีปัญหาอุปสรรค ที่ต้องมีระเบียบใหมคือ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงและกรมในการกำกับดูแลกิจการด้านศาสนาแตกต่างไปจากอดีต ทำให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอจัดตั้งวัดยังไม่มีความไม่ชัดเจน ระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธการและเงื่อนไข ในการขออนุญาตจัดตั้ง วัดและการรับรองวัดให้มีสถานะเป็นวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกตามพระราชบัญญัติยังไม่มีความชัดเจน

ทำให้ ปัจจุบันมิชซังไม่สามารถขออนุญาตจัดตั้งวัดขึ้นใหมได้ตามพ.ร.บ. รวมทั้งไม่สามารถขอให้หน่วยงานรัฐพิจารณารับรองวัดที่เกิดขึ้นใหม่แล้วตามข้างต้น ให้มีสถานะเป็นวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก ตามพ.ร.บ. และยังมีผลกระทบต่อการขออนุญาตได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งของวัดต่อกรมที่ดิน ของมิซซังด้วย

สุดท้าย ของข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมามิซซังได้เคยขออนุญาตตั้งวัดต่อกรมที่ดิน แต่ รมว.มหาดไทย "ไม่พิจารณาอนุญาตตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน" ด้วยเหตุผลในการพิจารณา หลายๆด้าน ทั้งข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนการครอบครองที่ดินของมิซซัง และนโยบายของรัฐในขณะนั้น


ในปัจจุบัน "วัดคาทอลิก" ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณ ฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ.128 มีจำนวน 52 แห่ง โดยวัดตั้งอยู่บนที่ดินในจังหวัดที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งวัดได้ จำนวน 26 จังหวัด

ขณะที่ มิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพ ถือครอง 45,599 ไร่ และมิซซังโรมันคาทอลิกแห่งหนองแสง ถือครอง 1,697 ไร่

โดยมี วัดใหม่ที่เพิ่มขึ้น อีก 440 แห่ง ตั้งอยู่บนที่ดินในจังหวัดที่ พ.ร.บ. ยังไม่อนุญาตให้ตั้งวัดและถือที่ดินเพื่อทำประโยชน์แก่มิซซังอีก 48 จังหวัด เหลืออีก 3 จังหวัด ที่ยังไม่มีวัดตั้งอยู่ แต่ต่อไปมิซซังอาจขออนุญาตจัดตั้งวัดขึ้นในจังหวัดนั้นได้

ทั้งนี้ หากวัดที่จัดตั้งขึ้นแล้ว 440 แห่ง ได้รับการรับรอง หรือกรณีมีการอนุญาตให้จัดตั้งวัดขึ้นใหม่ ย่อมมีผลต่อสิทธิในการถือที่ดินอันเป็นที่ตั้งวัด และที่ดินเพื่อทำประโยชน์แก่มิซซังตามพ.ร.บ. ดังต่อไปนี้

ที่ดินของวัดที่จัดตั้งขึ้นแล้ว และที่ดินของวัด ที่ขอจัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าว ไม่ว่าบุคคลใดจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น จะต้องเปลี่ยนเป็นชื่อของมิซซังตามที่กำหนดในพ.ร.บ. โดยถือได้แห่งละไม่เกิน 50 ไร่ ตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 84 ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อกรมที่ดินในการปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐ

ต่อไปในภายหน้า "มิซซัง" ย่อมมีสิทธิถือที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แก่มิซซังใน 48 จังหวัดนั้นได้ เพิ่มขึ้นอีกจำนวนจังหวัดละไม่เกิน 3,000 ไร่ หรือไม่เกิน 1,000 ไร่ แล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดในพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตของ"สำนักข่าวกรองแห่งชาติ" ระบุถึงผลกระทบ ต่อร่างฉบับนี้

กรณี "มิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพ และมิซซังโรมันคาทอลิกแห่งหนองแสง" ซึ่งอาจมีสถานะเป็นองค์กรของต่างประเทศ หรือมีลักษณะเป็นกิจการของต่างประเทศ มีสิทธิถือที่ดินสำหรับจัดตั้งวัดในจังหวัดที่พ.ร.บ.ยังไม่อนุญาต เพิ่มขึ้นอีกแห่งละไม่เกิน 50 ไร่

และมีสิทธิถือที่ดินเพื่อทำประโยชน์แก่มัซซังในจังหวัดที่พ.ร.บ.ยังไม่อนุญาต เพิ่มขึ้นอีกจำนวนจังหวัดละไม่เกิน 3,000 ไร่ หรือไม่เกิน 1,000 ไร่ แล้วแต่กรณี รวม 48 จังหวัด

จะมีผลกระทบต่อแนวนโยบายของรัฐ ที่ยังคงไว้ในการพิจารณาไม่อนุญาตให้ "มิซซังถือที่ดิน" จัดตั้งวัดและที่ดินเพื่อทำประโยชน์แก่มิซซัง เช่น หลักการไม่ให้มิซซังขยายตัวไปจังหวัดอื่น หรือการสงวนที่ดิน กสิกรรมไว้ให้คนไทยตามที่รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงไวักับรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ร่างระเบียบดังกล่าวนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการไปแล้ว!


กำลังโหลดความคิดเห็น