xs
xsm
sm
md
lg

กระแสโลกมุ่ง “ยั่งยืน” ระวังความเสี่ยง ESG /ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทุกวันนี้ องค์กรชั้นนำและกิจการที่ก้าวหน้าในวงการต่างๆ มักอ้างอิงแนวการดำเนินงานที่มุ่งหมายสู่ “ความยั่งยืน” (Sustainability) เพราะตระหนักในความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เรียกว่า สภาวะ VUCA

มีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่เป็นกระแสโลกและการสร้างเครื่องมือหรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจและสังคมหลายสถาบันยืนยันได้ถึง “เอาจริง” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผมขอสรุปตัวอย่างปรากฏการณ์สำคัญในรอบปี 2563 ที่เกี่ยวข้องกับ “ความยั่งยืน” มาให้พิจารณากันครับ

ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติ โดยผู้นำ 193 ประเทศ ได้ร่วมกันสนับสนุน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ประมวลปัญหาของโลก 19 หัวข้อ ซึ่งมุ่งหวังจะเร่งทำให้สำเร็จภายในปี 2030 เรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” (Decade of Action)

กลยุทธ์การขับเคลื่อนเรื่องนี้ของกลไกประเทศต่างๆ เกิดเป็น UN Global Compact อย่างที่เมืองไทยก็เริ่มด้วยภาคเอกชนชั้นนำรวมตัวเป็นสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) มี ศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นนายกสมาคมมีโครงการอบรม สัมมนาร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลกเชื่อมโยงภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อสร้างเสริมแนวคิดและวิธีการพัฒนาระบบบริหารสู่ความยั่งยืน

ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้ 54 ธุรกิจชั้นนำในนามเครือข่าย GCNT ได้ประกาศจะลงทุนในโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ มีจำนวน 1,088 โครงการ รวมเป็นเงินลงทุน 1,383,880 ล้านบาท

อีกทั้งยืนยันว่าจะนำหลักการและเป้าหมาย SDGs ไปกำหนดเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร


ขณะเดียวกัน ในวงการตลาดทุนระดับโลก ก็ให้ความสำคัญกับประเด็น “ความยั่งยืน” และนักลงทุนต้องการข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น มากกว่าการดูตัวเลขผลประกอบการทางการเงิน

แต่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพจะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงินด้วย นั่นคือ ข้อมูลการดำเนินงานที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ความยั่งยืนที่เรียกว่า ESGs ได้แก่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดลัอม (Environmental) รับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย (Social) และดำเนินงานอย่างมีบรรษัทภิบาล (Governance)

ในระดับโลกมีการประเมินแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำ เพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนหลายสถาบัน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI)

ปีนี้มี 3,467 บริษัท ที่ได้รับเชิญให้ส่งข้อมูลเข้าร่วมประเมิน และมี 1,386 บริษัทที่พร้อมกรอกข้อมูลในแบบประเมินเสร็จสมบูรณ์ มีบริษัทจากเอชียแปซิฟิกเข้าร่วมประเมินมากถึง 364 บริษัท

ผลปรากฏว่า มี 8 บริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยติดกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจ บ้านปู ไทยออยล์ ปตท. ทรู PTTCG SCG และ BTS

ทั้งนี้ บจ.จากประเทศไทยถูกจัดเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ปีนี้ได้รับเลือกเป็นสมาชิก DJSI 22 บริษัท

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของบริษัทจดทะเบียน (Thailand Sustainability Investment (THSI)) ใช้เกณฑ์ในการคำนวณดัชนี SET THIS เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน “หุ้นยั่งยืน” ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี

การประเมินข้อมูลจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนนั้น เป็นการคัดเลือกจากบจ.ที่สมัครใจส่งข้อมูลตอบแบบประเมินความยั่งยืน และเป็นประเด็นคำถามในแนวเดียวกับ DJSI
บริษัทที่ผ่านเข้าเกณฑ์ THIS ได้ จะต้องได้คะแนนการตอบแบบประเมินอย่างน้อย 50% ในแต่ละด้านของ ESG หรือผ่านการคัดเลือกของ DJSI

ข้อคิด...


ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกว่า

“การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีบรรษัทภิบาลเป็นรากฐาน ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง”

แสดงว่าปัจจัย ESG นั้น ตัว (G) คือการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance) หรือการมีธรรมาภิบาลในการบริหารของบจ.จึงสำคัญที่สุด เพราะเมื่อการบริหารมีความซื่อสัตย์ สุจริต ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมย่อมจะทำดีต่อ (E) สิ่งแวดล้อม และ (S) สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสีย

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงสนับสนุนให้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ทำการสำเร็จและวัดผลบรรษัทภิบาล (CGR) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนคุณภาพการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจ ปรากฏว่าผลการสำรวจปี 2563 บจ.ไทย 692 บริษัทได้คะแนนเฉลี่ย 83%

ธุรกิจที่ใฝ่ดี มุ่งความยั่งยืนจึงตื่นตัวที่จะนำประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ไปคำนึงถึงการกำหนดพันธกิจและกลยุทธ์ เพราะถ้าทำบิดเบี้ยวก็มีโอกาสผิดกฎหมายและถูกต่อต้านจากผู้ถูกผลกระทบ แถมนักลงทุนก็ไม่คบด้วย

หวังว่าตั้งแต่เริ่มปีใหม่ ทุกบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดจะได้ปรับตัวให้ทันการณ์ตามที่ ก.ล.ต.ได้ออกกฎระเบียบให้เปิดเผยข้อมูลลงรายละเอียดที่ชัดเจนในการดำเนินกิจการที่มีผลกระทบด้าน ESG ดังนั้น ผลการดำเนินงานทั้งปี 2564 ที่จะใช้ออกในรายงานความยั่งยืนตามกติกาใหม่ One Report น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบและความสามารถในการแข่งขันสู่ความยั่งยืนเป็นข้อมูลซึ่งที่นักลงทุนอยากรู้

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น