xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ลั่นผิด กม.ไม่จ่าย ปมงบสายสีแดงเพิ่มหมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เคลียร์ปมค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงโป่งหมื่นล้าน ไม่คืบ “ศักดิ์สยาม” ยันผิดกฎหมาย ไม่มีระเบียบรองรับ ไม่จ่าย แย้มส่อลากยาวหนทางสุดท้าย ผู้รับเหมาอาจต้องฟ้อง เพื่อพึ่งคำสั่งศาล เรียกร้องให้ รฟท. จ่ายค่างาน VO

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วง บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้น 10,345 ล้านบาทว่า ขณะนี้คณะทำงานฯ ที่มี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ยังไม่ได้รายงานข้อสรุปใดๆ เข้ามา ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องพิจารณาเรื่องอำนาจว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ตามระเบียบและ กม. ซึ่งกรณีสั่งทำงานเพิ่ม อยู่ระหว่างหารืออัยการสูงสุด

ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรณีค่างานที่เพิ่มขึ้น จะไม่กระทบต่อการเปิดเดินรถ และการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือน มี.ค. 64 และกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 64

ส่วนกรณี รฟท.ได้เสนอขอเพิ่มงบส่วน ของค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้า ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนำเข้า ของสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล และขบวนรถ ที่มีกิจการร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ, ฮิตาชิ, สุมิโตโม) เป็นผู้รับจ้าง ประมาณ1,907 ล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยาม เห็นว่า ค่าภาษีไม่น่ามีประเด็น เพราะมีที่มาของตัวเลข ดังนั้น หากอธิบายได้ก็สามารถนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติได้ แต่จะต้องไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับงานเพิ่มเติม (Variation Order: VO) ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีค่างานเพิ่มนั้น ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้แจ้งต่อ นายศักดิ์สยาม อย่างไม่เป็นทางการ ว่า ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จะให้เงินกู้เพิ่ม โดยต้องมีที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง นายศักดิ์สยาม เห็นว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ การที่ได้ทำงานไปก่อนแล้ว ดังนั้น ต้องคำนึงว่ามีระเบียบพัสดุ หรือ กม.ใดรองรับให้สามารถดำเนินการได้บ้าง รวมถึงกรณีจะใช้เงินกู้ไจก้า มีขั้นตอนเงื่อนไขการดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องได้อนุมัติเงินกู้ก่อน จึงไปดำเนินโครงการได้ หรือสามารถดำเนินโครงการไปก่อน แล้วเสนอขออนุมัติเงินกู้ภายหลังได้ ตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับหลักการในการทำโครงการ คือ สามารถสำรวจออกแบบ และประมาณการวงเงินก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติงบ หรือเงินกู้แล้วจึงไปดำเนินโครงการ ส่วนจะเป็นโครงการใหม่ หรือเป็นงาน VO ก็อยู่ที่วิธีการ แต่หากทำงานไปก่อน แล้วค่อยมาขอเงินเพิ่มภายหลัง แบบนี้ ยังไม่เห็นมีระเบียบรองรับ

ผู้รับเหมาอาจฟ้องศาลให้สั่งจ่ายค่างาน VO

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่สุดแล้วหากไม่มีระเบียบ หรือ กม.รองรับ กรณีทำงานไปก่อนแล้วขอเงินเพิ่มภายหลังได้ รฟท.ไม่สามารถจ่ายเงินได้ ทางผู้รับจ้างเอง ยังมีช่องทางที่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าก่อสร้าง งาน VO ได้ และหากศาลมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องปฏฎิบัติตาม ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้ รฟท.จ่ายค่างาน VO ให้ผู้รับจ้าง รฟท. ถึงจะจ่ายได้ตามคำสั่งศาล

โดยค่า VO 10,345 ล้านบาท เป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,000 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากที่ออกแบบ 6,220 ล้านบาท

ส่วนสัญญา 3 ที่เป็นงานระบบนั้น พบว่า มีค่างาน VO 21 รายการ ซึ่งเป็นงานที่มีความจำเป็นของระบบรถไฟฟ้าที่มีผลต่อการเปิดเดินรถรวมถึงระบบควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติ ของรถไฟ (ATP) ที่จะติดให้กับหัวรถจักรของ รฟท. และปรับประแจการเดินรถ เป็นต้น

ปัจจุบันรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกรอบวงเงินที่จาก 93,950 ล้านบาท โดย รฟท.ขอปรับกรอบเพิ่มอีก 10,345 ล้านบาท จะทำให้วงเงินรวมเป็น 104,295 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ขอเพิ่ม 5,566 ล้านบาท (รวมเป็น 39,684 ล้านบาท) สัญญาที่ 2 ขอเพิ่ม 266 ล้านบาท (เพิ่มเป็น 24,842 ล้านบาท) สัญญาที่ 3 ขอเพิ่ม 3,118 ล้านบาท (รวมเป็น 35,991 ล้านบาท) และค่าที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างและที่ปรึกษาบริหารโครงการ เพิ่มขึ้น 261 ล้านบาท (รวมเป็น 2,539 ล้านบาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น