“สุพัฒนพงษ์” ย้ำโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อ ศก.ฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ คัดเลือกโดยประมูลแข่งขันเฉพาะตัวโรงไฟฟ้า ไม่เกี่ยวกับราคารับซื้อ จี้ดูแลไม่ให้ทิ้งโครงการซ้ำรอย SPP Hybrid Firm ขณะ 2-4 สมาคมฯ เครือข่ายพลังงานชุมชนเร่งหารือเตรียมทำหนังสือถึงนายกฯในฐานะประธาน กพช.ค้านใช้วิธีคัดเลือกแบบแข่งขันหวั่นบริษัทมหาชนกินรวบได้เปรียบ ปั่นหุ้น ประโยชน์ไม่ตกถึง ศก.ฐานราก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า กระทรวงพลังงานกำหนดที่จะเปิดรับข้อเสนอซื้อไฟฟ้าจำนวน 150 เมกะวัตต์เป็นโครงการนำร่องก่อนโดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ใช้รูปแบบคัดเลือกด้วยการเปิดประมูลแข่งขัน (Bidding) เฉพาะส่วนของต้นทุนโรงไฟฟ้าแต่ไม่ได้เปิดให้แข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้าแต่อย่างใด เพื่อป้องกันการกดราคารับซื้อพืชพลังงานในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงกับเกษตรกร คาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ช่วงต้นปี 2564
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข้อกังวลว่าแนวทางดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาการทิ้งโครงการซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการ SPP Hybrid Firm นั้น เรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ทางคณะทำงานพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดูแลประเด็นดังกล่าวที่จะต้องมีเงื่อนไขการกำหนดเงินชดเชยเคืนให้กับภาคเกษตรกร หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้ศึกษาเสร็จก่อน โดยได้เน้นย้ำให้เข้มงวดในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
“ผมถึงได้ย้ำว่าโครงการนี้เป็นการนำร่อง ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไร เพื่อที่จะได้ศึกษาในรายละเอียดว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรให้ชัดเจน ถ้าสำเร็จเราก็จะเดินหน้าได้ทันที ในส่วนที่เหลือเพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชนวงกว้าง ถ้ามีอุปสรรคแล้วแก้ไขได้ก็จะทำการแก้ไข แต่หากทำแล้วมีผลเสียมากกว่าก็จะได้ให้เห็นภาพกันไปเลยไม่ต้องมาถกเถียงกัน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
แหล่งข่าวจากสมาคมเครือข่ายพลังงานชุมชน กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มสมาชิกประมาณ 2-4 สมาคมฯ ที่เกี่ยวข้องอยู่ ระหว่างการหารือเพื่อที่จะทำหนังสือยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ โดยจะสรุปรายชื่อสมาคมที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในเร็วๆ นี้เพื่อไปยื่นหนังสือในวันที่ 14 ธันวาคม
“แม้ว่ารัฐจะคัดเลือกโดยใช้วิธีประมูลแข่งขัน (Bidding)โดยระบุว่าเป็นการแข่งขันเฉพาะโรงไฟฟ้าแต่ ราคารับซื้อจะมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงมันแยกกันไม่ออกหรอกเป็นเพียงการใช้วลีที่บ่ายเบี่ยงไปเท่านั้น ซึ่งเห็นว่าควรจะใช้วิธีที่ไม่เปิดให้มีการแข่งขันด้านราคาส่วนจะเป็นวิธีใดก็ได้ เช่น จับฉลาก” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐยังยืนยันในการแข่งขันด้านราคา (Bidding) ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง และธุรกิจในภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีความเข้มแข็งทางการเงินมากกว่าได้ และตัวอย่างการแข่งขันด้านราคาในโครงการ SPP Hybrid Firm เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มีการเสนอราคาที่ต่ำเกินจริงซึ่งพบว่ามีผู้ชนะประมูล 17 โครงการแต่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพียง 3 รายเท่านั้น ดังนั้น หากใช้วิธีประมูลแข่งขันอาจกระทบต่อวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการโดยตรง นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีราคาต่ำสุดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโครงการะระยะยาว
“SPP Hybrid Firm เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดเวลาประมูลจึงกล้าที่จะหั่นราคาต่ำเพราะบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แค่จะยื่นและประมูลได้ก็สามารถทำกำไรจากหุ้นได้แล้วและต่อมาก็ไม่ต้องทำโครงการด้วยการให้เกิดการคัดค้านขึ้นเพียงเท่านี้ก็จบได้” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ฝ่ายราชการเองไม่ต้องการให้มีการคัดเลือกวิธีที่ไม่ใช่เปิดประมูลเนื่องจากอาจเกิดปัญหาการล็อบบี้ได้เช่นกันและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องฝ่ายปฏิบัติงานกลายเป็นปัญหาอีก ดังนั้นวิธีประมูลจึงเป็นทางเลือกที่ดีสุดในความโปร่งใส สำหรับฝ่ายปฏิบัติงาน ส่วนเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่เอกชนกังวลก็กำลังพิจารณาที่จะกำหนดเกณฑ์ในการกำหนดบทลงโทษกรณีมีการทิ้งโครงการหรือไม่อย่างไร