xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำบิดดิ้งโปร่งใส "สุพัฒนพงษ์"ดัน รฟฟ.ชุมชน รายเล็กห่วงเอื้อทุนใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"สุพัฒนพงษ์" ย้ำโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำร่อง 150 เมกะวัตต์ คัดเลือกโดยประมูลแข่งขัน (Bidding) เฉพาะตัวโรงไฟฟ้า ไม่เกี่ยวกับราคารับซื้อ จี้ดูแลไม่ให้ทิ้งโครงการซ้ำรอย SPP Hybrid Firm

วานนี้ (10 ธ.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า กระทรวงพลังงานกำหนดที่จะเปิดรับข้อเสนอซื้อไฟฟ้าจำนวน 150 เมกะวัตต์ เป็นการนำร่องก่อน โดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ใช้รูปแบบคัดเลือกด้วยการเปิดประมูลแข่งขัน (Bidding) เฉพาะส่วนของต้นทุนโรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้เปิดให้แข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า เพื่อป้องกันการกดราคารับซื้อพืชพลังงาน ในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงกับเกษตรกร คาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ช่วงต้นปี 64 อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข้อกังวลว่าแนวทางดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาการทิ้งโครงการ ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการ SPP Hybrid Firm นั้น ได้มอบหมายให้ทางคณะทำงานพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดูแลประเด็นดังกล่าวที่จะต้องมีเงื่อนไขการกำหนดเงินชดเชยคืนให้กับภาคเกษตรกร หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ก็ต้องให้ศึกษาเสร็จก่อน โดยได้เน้นย้ำให้เข้มงวดในเรื่องนี้ให้มาก

“ผมถึงได้ย้ำว่าโครงการนี้เป็นการนำร่อง ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไร เพื่อที่จะได้ศึกษาในรายละเอียดว่ามีปัญหา และอุปสรรคอะไรให้ชัดเจนถ้าสำเร็จ เราก็จะเดินหน้าได้ทันทีในส่วนที่เหลือเพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชนวงกว้าง ถ้ามีอุปสรรคแล้วแก้ไขได้ ก็จะทำการแก้ไข แต่หากทำแล้วมีผลเสียมากกว่า ก็จะได้ให้เห็นภาพกันไปเลย ไม่ต้องมาถกเถียงกัน" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้าน แหล่งข่าวจากสมาคมเครือข่ายพลังงานชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มสมาชิกประมาณ 2-4 สมาคมฯ ที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการหารือเพื่อที่จะทำหนังสือยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำร่อง 150 เมกะวัตต์ โดยจะสรุปรายชื่อสมาคมฯ ที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในเร็วๆ นี้ เพื่อไปยื่นหนังสือในวันที่ 14 ธ.ค.

"แม้ว่ารัฐจะคัดเลือกโดยใช้วิธีประมูลแข่งขัน (Bidding)โ ดยระบุว่า เป็นการแข่งขันเฉพาะโรงไฟฟ้า แต่ราคารับซื้อจะมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงมันแยกกันไม่ออกหรอก เป็นเพียงการใช้วลีที่บ่ายเบี่ยงไปเท่านั้น ซึ่งเห็นว่าควรจะใช้วิธีที่ไม่เปิดให้มีการแข่งขันด้านราคาส่วนจะเป็นวิธีใดก็ได้ เช่น การจับฉลาก เป็นต้น" แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า หากรัฐยังยืนยันในการแข่งขันด้านราคา (Bidding) ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง และธุรกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ จะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ หรือบริษัทมหาชน ที่มีความเข้มแข็งทางการเงินมากกว่าได้ ตัวอย่างการแข่งขันด้านราคา ในโครงการ SPP Hybrid Firm เมื่อเดือน ส.ค.60 มีการเสนอราคาที่ต่ำเกินจริง ซึ่งพบว่ามีผู้ชนะประมูล 17 โครงการ แต่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA ) เพียง 3 รายเท่านั้น ดังนั้น หากใช้วิธีประมูลแข่งขันอาจกระทบต่อวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการโดยตรง นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่มีราคาต่ำสุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโครงการในระยะยาว

"SPP Hybrid Firm เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เหตุใดเวลาประมูล จึงกล้าที่จะหั่นราคาต่ำ เพราะบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แค่จะยื่น และประมูลได้ ก็สามารถทำกำไรจากหุ้นได้แล้ว และต่อมาก็ไม่ต้องทำโครงการ ด้วยการทำให้เกิดการคัดค้านขึ้นเพียงเท่านี้ ก็จบได้" แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ฝ่ายราชการเองไม่ต้องการให้มีการคัดเลือกวิธีที่ไม่ใช่เปิดประมูล เนื่องจากอาจเกิดปัญหาการล็อบบี้ได้เช่นกัน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องฝ่ายปฏิบัติงาน กลายเป็นปัญหาอีก ดังนั้นวิธีประมูล จึงเป็นทางเลือกที่ดีสุดในความโปร่งใส สำหรับฝ่ายปฏิบัติงาน ส่วนเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่เอกชนกังวล ก็กำลังพิจารณาที่จะกำหนดเกณฑ์ในการกำหนดบทลงโทษกรณีมีการทิ้งโครงการหรือไม่อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น