เคลียร์ปมค่าก่อสร้างรถไฟสีแดงเพิ่มหมื่นล้านไม่คืบ “ศักดิ์สยาม” ยืนกรานผิดกฎหมาย ไม่มีระเบียบรองรับ ไม่จ่าย แย้มส่อลากยาว หนทางสุดท้ายผู้รับเหมาอาจต้องฟ้องเพื่อพึ่งคำสั่งศาลเรียกร้องให้ รฟท.จ่ายค่างาน VO
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันเพิ่มขึ้น 10,345 ล้านบาทว่า ขณะนี้คณะทำงานฯ ที่มี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ยังไม่ได้รายงานข้อสรุปใดๆ เข้ามา ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องพิจารณาเรื่องอำนาจว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งกรณีสั่งทำงานเพิ่มอยู่ระหว่างหารืออัยการสูงสุด
ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรณีค่างานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการเปิดเดินรถและการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในเดือน มี.ค. 2564 และกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564
ส่วนกรณีที่ รฟท.ได้เสนอขอเพิ่มงบส่วนของค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนำเข้า ของสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกลและขบวนรถ ที่มีกิจการร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ, ฮิตาชิ, สุมิโตโม) เป็นผู้รับจ้าง ประมาณ 1,907 ล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยามเห็นว่าค่าภาษีไม่น่ามีประเด็นเพราะมีที่มาของตัวเลข ดังนั้น หากอธิบายได้ก็สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติได้ แต่จะต้องไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับงานเพิ่มเติม (Variation Order : VO) ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กรณีรถไฟชานเมืองสายสีแดงมีค่างานเพิ่มนั้น ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อย่างไม่เป็นทางการว่า ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จะให้เงินกู้เพิ่ม โดยต้องมีที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนายศักดิ์สยามเห็นว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือการที่ได้ทำงานไปก่อนแล้ว ดังนั้นต้องคำนึงว่ามีระเบียบพัสดุ หรือกฎหมายใดรองรับให้สามารถดำเนินการได้บ้าง รวมถึงกรณีจะใช้เงินกู้ไจก้ามีขั้นตอนเงื่อนไขการดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องได้อนุมัติเงินกู้ก่อนจึงไปดำเนินโครงการได้ หรือสามารถดำเนินโครงการไปก่อน แล้วเสนอขออนุมัติเงินกู้ภายหลังได้ ตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย สำหรับหลักการในการทำโครงการ คือ สามารถสำรวจ ออกแบบ และประมาณการวงเงินก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติงบหรือเงินกู้แล้วจึงไปดำเนินโครงการ ส่วนจะเป็นโครงการใหม่ หรือเป็นงาน VO ก็อยู่ที่วิธีการ แต่หากทำงานไปก่อนแล้วค่อยมาขอเงินเพิ่มภายหลัง แบบนี้ยังไม่เห็นระเบียบที่รองรับ
@สุดท้ายรับเหมาอาจต้องฟ้องศาลให้สั่งจ่ายค่างาน VO
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่สุดแล้วหากไม่มีระเบียบหรือกฎหมายรองรับกรณีทำงานไปก่อนแล้วขอเงินเพิ่มภายหลังได้ รฟท.ไม่สามารถจ่ายเงินได้ ทางผู้รับจ้างเองยังมีช่องทางที่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าก่อสร้างงาน VO ได้ และหากศาลมีคำพิพากษาออกมาอย่างไรทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้ รฟท.จ่ายค่างาน VO ให้ผู้รับจ้าง รฟท.ถึงจะจ่ายได้ตามคำสั่งศาล โดยค่า VO 10,345 ล้านบาท เป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากที่ออกแบบประมาณ 6,220 ล้านบาท
ส่วนสัญญา 3 ที่เป็นงานระบบนั้น พบว่ามีค่างาน VO ประมาณ 21 รายการ ซึ่งเป็นงานที่มีความจำเป็นของระบบรถไฟฟ้าที่มีผลต่อการเปิดเดินรถรวมถึงระบบควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟ (ATP) ที่จะติดให้กับหัวรถจักรของ รฟท.และปรับประแจการเดินรถ เป็นต้น
ปัจจุบันรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกรอบวงเงินที่จาก 93,950 ล้านบาท โดย รฟท.ขอปรับกรอบเพิ่มอีก 10,345 ล้านบาท จะทำให้วงเงินรวมเป็น 104,295 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ขอเพิ่ม 5,566 ล้านบาท (รวมเป็น 39,684 ล้านบาท) สัญญาที่ 2 ขอเพิ่ม 266 ล้านบาท (เพิ่มเป็น 24,842 ล้านบาท) สัญญาที่ 3 ขอเพิ่ม 3,118 ล้านบาท (รวมเป็น 35,991 ล้านบาท) และค่าที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างและที่ปรึกษาบริหารโครงการเพิ่มขึ้น 261 ล้านบาท (รวมเป็น 2,539 ล้านบาท)