xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไข 2 ปริศนาทิ้ง “รพ.บำรุงราษฎร์” ทำไม “หมอเสริฐ”เปลี่ยนใจขายเกลี้ยง และทำไมถึงต้องเป็น “สาธิต วิทยากร”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ | สาธิต วิทยากร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในแวดวงธุรกิจ “โรงพยาบาลเอกชน” นั้น หนึ่งในกลุ่มธุรกิจระดับ  “บิ๊กเบิ้ม” คงหนีไม่พ้น  บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)  ของกลุ่ม  “หมอเสริฐ” ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “หมอเสริฐ” สร้างความฮือฮาปนฉงนสงสัยไปทั้งวงการเมื่อตัดสินใจขายหุ้น  “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์(BH)” ที่ถืออยู่ทั้งหมดที่ 22.71% ให้กับ  “สาธิต วิทยากร”  ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ด้วยมูลค่าสูงถึง 18,613 ล้านบาททั้งหมด แม้จะทยอยตัดขายครึ่งหนึ่งก่อน 90.50 ล้านหุ้น ที่ราคา 103 บาทต่อหุ้น

แน่นอน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก- ทำไม “หมอเสริฐ” ถึงตัดสินใจขายหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

และประการที่สอง- ทำไมถึงขายให้กับ “สาธิต วิทยากร”

หากยังจำกันได้ ความสนใจของ “หมอเสริฐ” ที่มีต่อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 หรือ 9 ปีที่แล้ว ในเวลานั้น BDMS เข้ามาซื้อหุ้น BH จากกลุ่มเทมาเส็ก สัดส่วน 11.1% ที่ราคา 29 -30 บาท หลังจากนั้นก็ทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งที่ 24.99%

จากนั้นเมื่อปี 2560 BDMS ได้ตัดขายหุ้น BH ออกไปแล้วรอบหนึ่ง จำนวน 25.18 ล้านหุ้น หรือ 3.45% ที่ราคา 179 บาท ได้เงินไปราว 4,500 ล้านบาท

ต่อมาในช่วงต้นปี 2563 นี้ BDMS ของ “หมอเสริฐ” ก็ประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) จากผู้ถือหุ้นเดิม ด้วยเงิน 8.56 หมื่นล้าน -1.02 แสนล้านบาท

ในครั้งนั้น BDMS ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563 อนุมัติให้การเข้าทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขในหลักทรัพย์ทั้งหมดของ BH เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์ โดยจะทำคำเสนอซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 125 บาท คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมราว85,612,731,500 – 102,735,277,800 บาท

สำหรับคำขอเสนอซื้อหุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญจํานวน 546,328,351 หุ้น คิดเป็น 74.83% หุ้นบุริมสิทธิ์จํานวน 1,210,865 หุ้น คิดเป็น 0.17% หุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมด ประกอบด้วยชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2 ซึ่ง สามารถแปลงสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญของ BH ได้จํานวน 137,362,636 หุ้น

ณ ขณะนั้น BDMS ถือหุ้นสามัญ BH อยู่จํานวน 182,513,600 หุ้น คิดเป็น 24.99% ตามด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 14.65% , UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED – Client Account 8.44% , บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 8.33% , บริษัท วัฒนโสภณพนิช จำกัด 3.59% , สำนักงานประกันสังคม 3.36% , SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 1.92% , GIC PRIVATE LIMITED 1.74% ฯลฯ

ทว่า การเข้าซื้อ BH ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อ จาก “ผู้ถือหุ้นเดิม” คือ “กลุ่มโสภณพานิช” ที่ตั้งโต๊ะสู้ไม่ยอมขาย โดยทางผู้บริหารของ BH ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงตอบโต้ทันทีว่า ไม่คาดคิดและไม่เคยทราบเรื่องการทำคำเสนอฯ ดังกล่าว
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง “โสภณพนิช” ก็ งัดไม้แรกออกมาตอบโต้ โดยได้ส่งธนาคารกรุงเทพ เข้าซื้อหุ้น BH โดยเป็นการแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นทุนมีราคาแปลงสภาพ 3.5 บาทต่อหุ้น ได้หุ้น 65.74 ล้านหุ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพถือหุ้น BH อยู่ที่ 8.27% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้น BH ของ ตระกูลโสภณพนิชเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้ BDMS ถือสัดส่วนถือหุ้นลดลงมาที่ 22.9%

“เราคิดว่าเราคุมเกมอยู่ ปัจจุบันกลุ่มเรามีหุ้น 42-43% โดยตระกูลโสภณพนิชถืออยู่ประมาณ 35% และ 8% ที่เป็นเพื่อนสนิทใกล้ชิดที่เขาจะมาออกเสียงให้เราได้ ส่วนของหมอปราเสริฐถืออยู่ 22.9% นอกนั้นเป็นผู้ถือหุ้นอื่นและเป็นกองทุนซึ่งเราไปควบคุมเขาไม่ได้ แต่ก็มีการเข้าไปเจรจากับผู้ถือหุ้นต่างชาติเอาไว้แล้วบางส่วน ซึ่งราคาที่เสนอมา เราไม่สนใจที่จะขาย เราคิดว่าราคาถูกเกินไป” ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุ

หลังจากนั้นไม่นานนัก แผนการซื้อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็มีอันต้องพับฐานลงไป เพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยทั้งจาก “ผู้ถือหุ้นเดิม” ที่ไม่ยอมขาย และ “ราคาหุ้น” ที่ลดตัวต่ำลง โดยนพ.ปราเสริฐ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เปิดเผยด้วยตัวเองในตอนนั้นว่า ได้ยกเลิกการเข้าเทกโอเวอร์ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เนื่องจากประเมินแล้วแนวโน้มตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจไม่ขยายตัว ราคาหุ้นของ BH มีการปรับตัวลดต่ำลงไปมาก

“ตอนนี้เราเลิกคิดแล้ว เพราะหุ้นไม่ขยายตัว ราคาต่ำลงมาก ซึ่งต่างชาติจะซื้อได้ ทั้งจีน สิงคโปร์ แต่เราซื้อไม่ได้ ส่วนหุ้นการบินไทยเราไม่สนใจ เพราะการบินไทยยื่นศาลทำแผนฟื้นฟูแล้ว ตอนนี้มาลงทุนสนามบินอู่ตะเภาสนุกกว่า” นพ.ปราเสริฐกล่าว
ถอดรหัสจากคำพูดของ “หมอเสริฐ” ในขณะนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ถูกที่ควรสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยหมอเสริฐมีเครือข่ายธุรกิจอันกว้างขวางและหยั่งลึกลงไปในหลายกิจการ ที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น “สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี” รวมทั้งการแตกแขนงธุรกิจไปใน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ที่บมจ.การบินกรุงเทพ (BA)ของ “หมอเสริฐ” ถือหุ้น 45% ซึ่งเป็นธุรกิจที่เขาหมายมั่นปั้นมือถึงขนาดใช้คำว่า  “สนุกกว่า” 

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่ก็ต้องบอกว่าปัจจุบัน BDMS มี “โรงพยาบาล” อยู่ในเครือมากมาย โดยจัดแบ่งออกเป็น6 กลุ่มโรงพยาบาลหลัก ประกอบด้วย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลบีเอนเอช กลุ่มโรงพยาบาลเปาโลและกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา BDMS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้เข้าทําสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญบริษัท โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BH ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมดจํานวน 180,715,806 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22.71 ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมดของ BH ให้กับผู้ซื้อ ในราคาหุ้นละ 103 บาทคิดเป็นเงินประมาณ 18,613.7 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 บริษัทได้รับการยืนยันจากผู้ซื้อเกี่ยวกับความแน่นอนของแหล่ง เงินทุน บริษัทจึงคาดว่าจะสามารถดําเนินการขายเงินลงทุนในหุ้นสามัญ BH บางส่วนผ่านกระดานซื้อขาย หลักทรัพย์รายใหญ่ (Trade Report – Big Lot) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเบื้องต้นจํานวน 90,500,000 หุ้น ที่ราคา 103 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,321.5 ล้านบาท ได้ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการถือหุ้นสามัญ BH ของบริษัทดังนี้

• สัดส่วนการถือหุ้นก่อนการทํารายการ ร้อยละ 22.71 ของหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมดของBH

• สัดส่วนการถือหุ้นหลังการทํารายการ ร้อยละ 11.34 ของทุนที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมดของ BH

สําหรับเงินลงทุนในหุ้นสามัญ BH ส่วนที่เหลืออีกจํานวน 90,215,806 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 11.34 ของหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วของ BH บริษัทคาดว่าการซื้อขายดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธันวาคม 2563 โดยการทํารายการดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนขึ้นกับความสําเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมของผู้ซื้อ

 เรียกว่า ขาย “เกลี้ยงพอร์ต” กันเลยทีเดียว 

 และเมื่อประมวลสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง บทสรุปของเรื่องนี้จึงมีเพียงเหตุผลเดียวคือ “เมื่อซื้อไม่ได้ก็ขายดีกว่า” 

ทีนี้ ก็มาถึงประเด็นของ “ผู้ซื้อ” ว่าเป็นใครมาจากไหน

แน่นอนว่า ใครที่รับรู้ถึงสายสัมพันธ์อันเก่าแก่และสืบประวัติย้อนหลังไปสักนิดก็คงจะต้องร้อง “อ๋อ” ด้วยเพราะ  “สาธิต วิทยากร”  มิใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “ลูกชาย” ของ  “น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร” อดีตผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพนั่นเอง หรือจะใช้ว่าเป็น  “คนกันเอง” ก็คงจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

หมอพงษ์ศักดิ์ ผู้พ่อ มีชื่อเสียงในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดออกไปในปี 2555 จากนั้นก็วางมือจากธุรกิจโรงพยาบาลไป 2 ปี ก่อนจะหวนคืนสู่ธุรกิจที่รักอีกครั้งโดยมี “สาธิต” บุตรชายคนเล็กเป็นผู้สืบทอดปณิธานในนาม “พริ้นซิเพิล”
ขณะที่ “สาธิต” ผู้ลูกแจ้งเกิดมาจากการเข้าเทกโอเวอร์ บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ METRO  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2556

ว่ากันว่า ช่วงนั้น “สาธิต” หันไปลงทุนด้านอสังหาฯ เพราะเป็นช่วงที่พ่อ และตัวเขาเพิ่งขายหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพออกทั้งหมด
“ช่วงนั้นหันไปลงทุนอสังหาฯ เพราะเป็นช่วงที่คุณพ่อและผมเพิ่งขายหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพออกทั้งหมด เหมือนเราทำ silent period ตั้งใจไว้ว่า 2 ปีจะไม่แตะธุรกิจ health care” สาธิตเคยให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand เอาไว้ พร้อมอธิบายด้วยว่าตอนนั้นซื้อเมโทรสตาร์ฯ เพราะมีสินทรัพย์น่าสนใจ คือ โรงแรมแมริออท สาทร ซื้อมา 1,000 กว่าล้าน มูลค่าโรงแรมนี้ 1.4 พันล้านบาท และเปลี่ยนชื่อจากเมโทรสตาร์ฯ มาเป็น พริ้นซิเพิล แคปิตอล PRINC จึงเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) จากนั้นก็ทำธุรกิจอสังหาฯ อยู่ 2 ปี จากสินทรัพย์เริ่มต้น 1.4 พันล้านบาท ขยายโครงการลงทุนต่างๆ กระทั่งมีมูลค่ารวม 5 พันล้านบาทในปัจจุบัน


หลังทำอสังหาฯ 2 ปี ก็หันมาเริ่มธุรกิจโรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่อปี 2558 และเปลี่ยนชื่อจาก “เมโทรสตาร์” มาเป็น “พริ้นซิเพิล แคปิตอล PRINC” พร้อมทั้งเปลี่ยนหมวดจดทะเบียนจากกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาสู่ธุรกิจการแพทย์ (Health Care Services) พร้อมประกาศแผนรุกธุรกิจบริการสุขภาพเต็มตัว
ทั้งนี้ “สาธิต” ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) เปิดเผยถึงกรณีข่าวพริ้นซิเพิล แคปิตอล เข้าลงทุนซื้อหุ้น BH จำนวน 90.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 103 บาท รวมมูลค่า 9,321.50 ล้านบาท จาก บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และยังสนใจส่วนที่เหลืออีก 11.34 % ของทาง BDMS ที่ถืออยู่ใน BH ด้วยนั้นว่า ตนเองซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ PRINC ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จากกลุ่มหมอเสริฐในนาม  ส่วนตัว ในรูปแบบ  ‘Friendly Deal’ เป็นการซื้อเพื่อลงทุน และเชื่อมั่นในศักยภาพของ BH

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับสถาบันการเงิน กลุ่มปราสาททองโอสถ และกลุ่มโสภณพนิช ในเรื่องขั้นตอนการจัดหาแหล่งเงินทุนมาซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว โดยจะมีการชำระเงินค่าซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 9,300 ล้านบาทเศษ

ส่วนแผนความร่วมมือทางธุรกิจของ PRINC กับทาง BH ยังคงเป็นไปตามแผนก่อนหน้านี้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อหุ้นในนามส่วนตัว ที่ผ่านมาร่วมมือกับ Bumrungrad Health Network ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศรักษาโรคเฉพาะทางในด้านต่างๆ เช่น โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ที่เปิดศูนย์กระดูกสันหลัง Absolute Spine Care และศูนย์ข้อเข่าและข้อสะโพก Joint Surgery Center รองรับการขยายตัวกลุ่มผู้ใช้บริการในพื้นที่สมุทรปราการ (บางนา) และกรุงเทพฝั่งตะวันออก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี

ขณะที่ในส่วน PRINC ยังคงเป้าหมายขยายธุรกิจโรงพยาบาลให้ครบ 20 แห่ง และเปิดคลินิกทั่วประเทศ 100 แห่ง ภายในระยะ 2 ปีข้างหน้า (ปี 2565) เพื่อสร้างเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมระหว่างภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 11 แห่ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี, โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร, โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน, โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ จังหวัดศรีษะเกษ และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 งานนี้ คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า การแข่งขันในสมรภูมินี้ โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ยังคงระบาดหนักจะดำเนินไปในรูปลักษณ์ใด ทั้งในส่วนของ “หมอเสริฐ” กลุ่ม “สาธิต วิทยากร” และกลุ่ม “โสภณพนิช” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 


กำลังโหลดความคิดเห็น