ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ได้มอบของขวัญวันขอบคุณพระเจ้าแก่พี่น้องชาวอเมริกัน โดยการประกาศเปิดตัวว่าที่รมต.ด้านความมั่นคงในรัฐบาลของเขา อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และเป็นการเผยโฉมผู้จะมาร่วมตัดสินชะตากรรมของสหรัฐฯ และอาจรวมถึงชะตากรรมของทั้งโลกด้วยซ้ำ ในตำแหน่งผู้กำกับนโยบายและบริหารกระทรวงทบวงกรมยักษ์ของประเทศที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก และมีแสนยานุภาพเกรียงไกรที่สุดของโลกขณะนี้
มีทั้งสิ้น 6 คน ตั้งแต่ รมต.ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่งที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี (ตามหลังต่อจากรองประธานาธิบดี) และจะเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในการเจรจากับผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งเขาจะต้องมีแนวคิดใกล้เคียงกับตัวประธานาธิบดีที่สุด
ไบเดน ได้เลือกอดีตนักการทูตมืออาชีพ ที่เคยดำรงตำแหน่งรมช.ต่างประเทศสมัย ปธน.โอบามา และเคยเป็นรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงด้วย โดยเฉพาะเคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของไบเดน ขณะที่ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี 8 ปีในสมัยของปธน.โอบามา และไบเดนเป็นประธานและกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ
ว่าที่ รมต.ต่างประเทศคนนี้คือ นายแอนโทนี บลิงเคน เป็นทายาทของอดีตทูตสหรัฐฯ และใกล้ชิดกับไบเดนในการร่วมงานด้านต่างประเทศถึง 20 ปี ซึ่งได้รู้ถึงจิตใจและคุณค่าเดียวกันกับไบเดนเป็นอย่างยิ่ง และจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของบลิงเคนในต่างประเทศ สามารถทำให้ผู้นำประเทศต่างๆ มั่นใจได้ว่ากำลังพูดจากับปธน.ไบเดนโดยตรง เพราะความใกล้ชิดระหว่างไบเดน และบลิงเคนนี้เอง ต่างจากกรณีปธน.ทรัมป์กับรมต.ต่างประเทศที่ทรัมป์ไม่คุ้นเคย จนนำมาสู่การปลดรมต.ต่างประเทศคนแรก (ที่มาจากบริษัทน้ำมันยักษ์) ของเขา
นโยบายสำคัญที่ทั้งบลิงเคน และไบเดนเห็นร่วมกันมาตลอดก็คือ อเมริกาจะทำงานร่วมกับพันธมิตร จึงจะประสบผลสำเร็จ ต่างกับทรัมป์ที่หันหลังตัดญาติขาดเพื่อนกับเหล่าพันธมิตรในอดีต และเลือกที่จะท้าตีท้าต่อยเปลี่ยนคู่แข่งคู่ค้ามาเป็นศัตรูที่จะเผชิญหน้าอย่างเอาเป็นเอาตาย
คนที่สองคือ ทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งไบเดนได้เลือกนักการทูตอาวุโสเป็นสตรีผิวดำที่เคยดำรงตำแหน่งผอ.ฝ่ายกิจการแอฟริกาในกระทรวง และถูกกดดันให้ลาออก เมื่อทรัมป์เลือกคนนอกวงการอย่างเจ้าพ่อบริษัทน้ำมันเอ็กซอนโมบิล-นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน-มาบริหารกระทรวงการต่างประเทศ และนักการทูตมืออาชีพที่กระทรวงต่างทยอยตบเท้าลาออก หรือไม่ก็ถูกกดดันให้ลาออกจนเหลือข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศโหรงเหรง...มีแต่โต๊ะเก้าอี้เปล่าๆ เต็มไปหมด
นักการทูตอาชีพสตรีผิวดำนี้คือ นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ซึ่งได้กล่าวในช่วงเปิดตัวอย่างน่าสนใจว่า “อเมริกากำลังกลับมาแล้ว, พหุภาคีกำลังกลับมาแล้ว และการทูต (มืออาชีพ) กำลังกลับมา”
เธอจะเป็นหน้าเป็นตาของสหรัฐฯ ในองค์การสหประชาชาติ โดยมีสถานภาพเทียบเท่ารมต.ว่าการ
เธอเป็นชาวใต้สุดๆ คือ มาจากรัฐลุยเซียนา จากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้เรียนจบแม้แต่มัธยมปลาย แต่ด้วยความพากเพียรจนทำให้เธอจบมหาวิทยาลัยที่ลุยเซียนา และมีประวัติการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศอย่างน่าประทับใจยาวนานถึง 35 ปี ตลอดจนเป็นนักการทูตที่ได้รับเสียงชื่นชมในด้านสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างประเทศ
ยังมีผู้บริหารด้านความมั่นคงที่มีเชื้อสายละตินอเมริกาอีก 1 คนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรมต.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ คือ นายอเลฮันโดร มายอร์กาส ซึ่งพ่อแม่อพยพหนีคอมมิวนิสต์คิวบามาสร้างชีวิตใหม่ในดินแดนเสรีของสหรัฐฯ ซึ่งเขาก็เคยรับราชการในด้านความมั่นคงมานานถึง 20 ปี
สำหรับผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ จะได้แก่สุภาพสตรีนักฟิสิกส์ ชื่อนางแอฟริล เฮนส์ ซึ่งจะเป็นสตรีคนแรกในตำแหน่งนี้ และเธอได้ร่วมงานกับไบเดนมาเป็นเวลานานเช่นกัน...เธอได้กล่าวบนเวทีเปิดตัวว่า “ท่านว่าที่ปธน.ไบเดนค่ะ ท่านรู้จักดิฉันดีว่า ดิฉันไม่เคยหวาดหวั่นที่จะพูดแต่ความจริงกับผู้ทรงอำนาจ ซึ่งท่านก็คงไม่อยากให้ดิฉันทำอย่างอื่นนอกจากเสนอแต่ความจริงเท่านั้น”
ด้านตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงก็คงจะเป็นของนายเจค ซัลลิแวน ซึ่งได้เคยร่วมงานกับ ส.ว.โจ ไบเดน ด้านความมั่นคงมาเป็นเวลานานเช่นกัน
สำคัญอดีตรมต.ต่างประเทศจอห์น แคร์รี จะมานั่งในตำแหน่งที่จะตั้งขึ้นใหม่คือ ตำแหน่งทูตพิเศษของปธน.ด้านโลกร้อน ซึ่งจะเทียบเท่ารมต.ว่าการเช่นกัน โดยไบเดนได้ประกาศนโยบายนำสหรัฐฯ กลับสู่ภาคีสนธิสัญญาโลกร้อนที่ปารีส ซึ่งเขามองว่า ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ (เช่น กรณีไฟไหม้ป่ารุนแรงมากขึ้นทุกปีที่แคลิฟอร์เนีย) และทั่วโลก รวมทั้งการสร้างงานด้านพลังงานหมุนเวียนใหม่มาแทนพลังงานฟอสซิล
นี่แค่น้ำจิ้มบางส่วนของ ครม.ไบเดน ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของเหล่ามืออาชีพที่มีพื้นเพด้านเชื้อชาติที่แตกต่างกัน เป็นการสะท้อนภาพของสังคมแห่งความหลากหลายทางเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของประชากรอเมริกันนั่นเอง